15-161 ธิดามาร



พระไตรปิฎก


๕. มารธีตุสูตร
ว่าด้วยธิดามาร
ครั้งนั้น มารผู้มีบาปครั้นกล่าวคาถาอันเป็นที่ตั้งแห่งความเบื่อหน่าย
เหล่านี้ ในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงหลีกจากที่นั้นไปนั่งขัดสมาธิที่พื้นดิน
ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค เป็นผู้นิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ
ใช้ไม้เขี่ยพื้นดินอยู่
[๕๐๕] ครั้งนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา เข้าไปหามาร
ผู้มีบาปถึงที่อยู่แล้ว กล่าวกับมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
ท่านพ่อ ท่านเสียใจด้วยเหตุไร
หรือเศร้าโศกถึงบุรุษคนไหน
พวกดิฉันจักใช้บ่วงคือราคะนำมาถวาย
เหมือนบุคคลคล้องช้างป่านำมา ฉะนั้น
บุรุษนั้นจักตกอยู่ในอำนาจของท่านพ่อ
[๕๐๖] มารกล่าวว่า
บุรุษนั้นเป็นพระอรหันต์
เป็นพระสุคตในโลก ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารได้แล้ว
ใคร ๆ พึงนำมาด้วยราคะไม่ได้ง่าย ๆ
เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก
[๕๐๗] ครั้งนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา เข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับแล้วกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระสมณะ พวก
หม่อมฉันจะขอปรนนิบัติพระยุคลบาทของพระองค์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใส่พระทัยถึงคำของธิดามารนั้น เนื่องจาก
พระองค์ทรงหลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
[๕๐๘] ต่อมา ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ
ที่สมควรแล้วปรึกษากันอย่างนี้ว่า “พวกบุรุษมีความประสงค์ต่าง ๆ กัน ทางที่ดี
พวกเราควรเนรมิตเพศเป็นสาววัยรุ่น คนละหนึ่งร้อย”
ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา จึงเนรมิตเพศเป็น
สาววัยรุ่นคนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วกราบทูลดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอปรนนิบัติพระยุคลบาทของพระองค์”
พระผู้มีพระภาคไม่ทรงใส่พระทัยถึงคำของธิดามารนั้น เนื่องจากพระองค์ทรง
หลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
[๕๐๙] ต่อมา ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ
ที่สมควรแล้วปรึกษากันอย่างนี้ว่า “พวกบุรุษมีความประสงค์ต่าง ๆ กัน ทางที่ดี
พวกเราควรเนรมิตเพศเป็นผู้หญิงที่ยังไม่เคยคลอดบุตรคนละหนึ่งร้อย”
ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา เนรมิตเพศ
เป็นหญิงที่ยังไม่เคยคลอดบุตรคนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
แล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า “ข้าแต่พระสมณะ พวกหม่อมฉันจะขอปรนนิบัติพระยุคลบาท
ของพระองค์”
แม้ถึงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงใส่พระทัยถึงเลย เนื่องจากพระองค์
ทรงหลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
[๕๑๐] ฝ่ายนางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ ที่สมควรแล้ว
ปรึกษากันอย่างนี้ว่า “พวกบุรุษมีความประสงค์ต่าง ๆ กัน ทางที่ดีพวกเราควร
เนรมิตเพศเป็นหญิงคลอดบุตรแล้วคราวเดียวคนละหนึ่งร้อย”
ลำดับนั้น นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงคลอดบุตรแล้วคราวเดียว
คนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรง
หลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
[๕๑๑] ต่อมา นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงที่คลอดบุตรแล้ว ๒ คราว
คนละหนึ่งร้อย เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรง
หลุดพ้น เพราะธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
[๕๑๒] ลำดับนั้น นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงกลางคนคนละหนึ่งร้อย
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรงหลุดพ้น เพราะ
ธรรมเป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
[๕๑๓] ลำดับนั้น นางตัณหา ฯลฯ จึงเนรมิตเพศเป็นหญิงแก่คนละหนึ่งร้อย เข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ เนื่องจากพระองค์ทรงหลุดพ้น เพราะธรรม
เป็นที่สิ้นอุปธิอันยอดเยี่ยมแล้ว
[๕๑๔] ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันจากไป ณ
ที่สมควรแล้วพูดกันว่า “เรื่องนี้จริงดังบิดาของเราได้พูดไว้ว่า
บุรุษนั้นเป็นพระอรหันต์
เป็นพระสุคตในโลก ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารได้แล้ว
ใคร ๆ พึงนำมาด้วยราคะไม่ได้ง่าย ๆ
เพราะฉะนั้น เราจึงเศร้าโศกมาก
อนึ่ง ถ้าพวกเราพึงเล้าโลมสมณะหรือพราหมณ์ใดที่ยังไม่หมดราคะ ด้วยความ
พยายามอย่างนี้ หทัยของสมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงแตก โลหิตอุ่น ๆ พึงพุ่งออก
จากปาก หรือเขาพึงบ้า หรือว่ามีจิตฟุ้งซ่าน เหมือนอย่างต้นอ้อสดถูกลมพัดขาด
เหี่ยวเฉาแห้งไป แม้ฉันใด สมณะหรือพราหมณ์นั้นพึงหงอยเหงา ซูบซีดเหี่ยวแห้งไป
ฉันนั้นเหมือนกัน”
[๕๑๕] ครั้นแล้ว ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับแล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควร นางตัณหาธิดามารยืนอยู่ ณ
ที่สมควรแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ท่านถูกความเศร้าโศกทับถมหรือ
จึงมาซบเซาอยู่ในป่าอย่างนี้
ท่านเสื่อมจากทรัพย์สมบัติหรือ
หรือว่ากำลังปรารถนาอะไรอยู่
ท่านได้ทำความเสียหายร้ายแรงอะไรไว้ในหมู่บ้านหรือ
เพราะเหตุไรท่านจึงไม่เป็นมิตรกับชนทั้งปวงเล่า
หรือว่าท่านเป็นมิตรกับใคร ๆ ไม่ได้ A
[๕๑๖] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เราชนะเสนามารคือรูปที่น่ารัก
และรูปที่น่าพอใจแล้ว เพ่งพินิจอยู่ผู้เดียว ได้รู้ความสุข
เพราะเหตุนั้นเราจึงไม่เป็นมิตรกับชนทั้งปวง
เพราะความเป็นมิตรกับใคร ๆ ไม่สำเร็จประโยชน์แก่เรา
[๕๑๗] ลำดับนั้น นางอรดีธิดามาร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
ภิกษุในศาสนานี้มากไปด้วยวิหารธรรมอย่างไหน
จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ B ได้
บัดนี้ ท่านข้ามโอฆะที่ ๖ C ได้แล้วหรือ
บุคคลเพ่งฌานอย่างไหนมาก
กามสัญญาทั้งหลายจับยึดเขาไม่ได้ จึงห่างเหินไป
[๕๑๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลมีกายอันสงบ มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว
เป็นผู้ไม่มีอะไร ๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง
มีสติ ไม่มีความอาลัย รู้ทั่วธรรม
มีปกติเพ่งพินิจอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้
ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ
ภิกษุในศาสนานี้มากไปด้วยวิหารธรรมอย่างนี้
จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้
บัดนี้ เธอข้ามโอฆะที่ ๖ ได้แล้ว
ภิกษุผู้เพ่งฌานอย่างนี้มาก
กามสัญญาทั้งหลายจับยึดเธอไม่ได้ จึงห่างเหินไป
[๕๑๙] ลำดับนั้น นางราคาธิดามาร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
พระศาสดาผู้นำหมู่สงฆ์
ได้ตัดตัณหาขาดแล้ว และชนผู้มีศรัทธาเป็นอันมาก
จักประพฤติตามได้แน่
พระศาสดาพระองค์นี้เป็นผู้ไม่มีความอาลัย
ตัดขาดจากมือมัจจุราชได้แล้ว
จักนำหมู่ชนเป็นอันมากไปสู่ฝั่งได้แน่
[๕๒๐] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
พระตถาคตทั้งหลายผู้เป็นมหาวีระ
ย่อมนำสัตว์ไปด้วยพระสัทธรรม
เมื่อพระตถาคตนำไปอยู่โดยธรรม
ความริษยาจะมีแก่ท่านผู้รู้ได้อย่างไร
[๕๒๑] ลำดับนั้น ธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา พากันเข้าไปหา
มารผู้มีบาปถึงที่อยู่ มารผู้มีบาปเห็นธิดามาร คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา
มาแต่ไกล จึงได้กล่าวคาถาทั้งหลายว่า
พวกเธอช่างโง่เขลา พากันทำลายภูเขาด้วยก้านบัว
ขุดภูเขาด้วยเล็บ เคี้ยวเหล็กด้วยฟัน
พวกเธออาศัยพระโคดมหาที่พึ่ง
จะเป็นดุจคนวางหินไว้บนศีรษะแล้วเจาะหาที่พึ่งในบาดาล ฉะนั้น
พวกเธอเหมือนเอาหนามมายอกอก(พ่อ) จงหลีกไปเสียเถิด
(พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวว่า)
พระศาสดาได้ขับไล่นางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ผู้มีรูปน่าทัศนายิ่ง ซึ่งได้มาในที่นั้นให้หนีไป
ดุจลมพัดปุยนุ่น ฉะนั้น
มารธีตุสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบคาถาข้อ ๑๖๐ หน้า ๒๐๘ ในเล่มนี้
B โอฆะทั้ง ๕ ในที่นี้หมายถึงโอฆะคือกิเลสอันเป็นไปทางทวารทั้ง ๕ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย) (สํ.ส.อ.
๑/๑๖๑/๑๗๙)
C โอฆะที่ ๖ หมายถึงโอฆะคือกิเลสอันเป็นไปทางมโนทวาร ได้แก่ กิเลสที่เกิดขึ้นในใจ (สํ.ส.อ. ๑/๑๖๑/๑๗๙)

บาลี

อรรถกถา

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!