12-201 แก่นแห่งพรหมจรรย์
พระไตรปิฎก
แก่นแห่งพรหมจรรย์
{๓๕๙} [๓๒๒] บุคคลบางพวกในโลกนี้มีศรัทธาออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วย
คิดว่า ‘เราเป็นผู้ถูกชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาส
ครอบงำแล้ว ถูกความทุกข์ครอบงำ มีความทุกข์อยู่เฉพาะหน้าแล้ว ทำอย่างไร
การทำที่สุดแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้จะพึงมีได้’ เขาบวชแล้วอย่างนั้น ทำลาภสักการะ
และความสรรเสริญให้เกิดขึ้น เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น เขาจึงไม่
ปลื้มใจ และมีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญนั้น
เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้แจ้งธรรม
เหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าลาภสักการะและความสรรเสริญ ทั้งเป็นผู้มีความ
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งศีลให้สำเร็จ เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะความ
สมบูรณ์แห่งศีลนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อ
ทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งศีล ทั้งเป็นผู้มีความ
ประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำความสมบูรณ์แห่งสมาธิให้สำเร็จ
เพราะความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะ
ความสมบูรณ์แห่งสมาธินั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ
พยายาม เพื่อทำให้แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าความสมบูรณ์แห่งสมาธิ
ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย เขาย่อมทำญาณทัสสนะให้สำเร็จ
เพราะญาณทัสสนะนั้น เขาจึงปลื้มใจ แต่มีความรู้สึกยังไม่สมหวัง เพราะญาณ-
ทัสสนะนั้น เขาจึงไม่ยกตน ไม่ข่มผู้อื่น อนึ่ง เขาสร้างฉันทะ พยายามเพื่อทำให้
แจ้งธรรมเหล่าอื่นอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ ทั้งเป็นผู้มีความประพฤติไม่
ย่อหย่อน ไม่ท้อถอย
[๓๒๓] ธรรมอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลายแล้ว บรรลุ
ปฐมฌานที่มีวิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและ
ประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป ภิกษุบรรลุทุติยฌานที่มีความ
ผ่องใสในภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข
อันเกิดจากสมาธิอยู่ ฯลฯ บรรลุตติยฌาน ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน … อยู่ แม้ธรรม
ข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงรูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่กำหนดนานัตต-
สัญญาโดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากาสานัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า
‘อากาศหาที่สุดมิได้’ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงอากาสานัญจายตนฌานโดยประการทั้งปวง ภิกษุ
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌานโดยกำหนดว่า ‘วิญญาณหาที่สุดมิได้’ ฯลฯ เพราะล่วง
วิญญาณัญจายตนฌานได้โดยประการทั้งปวง ภิกษุบรรลุอากิญจัญญายตนฌานอยู่
โดยกำหนดว่า ‘ไม่มีอะไร’ ฯลฯ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนฌานโดยประการ
ทั้งปวง ภิกษุบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีต
กว่าญาณทัสสนะ
อีกประการหนึ่ง เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนฌานโดยประการทั้งปวง
ภิกษุบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่ เพราะเห็นด้วยปัญญา อาสวะทั้งหลายของเธอ
ย่อมสิ้นไป แม้ธรรมข้อนี้ก็ยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
เหล่านี้เป็นธรรมอันยิ่งและประณีตกว่าญาณทัสสนะ
[๓๒๔] อุปมาเหมือนบุรุษนั้นผู้ต้องการแก่นไม้ เที่ยวเสาะแสวงหาแก่นไม้อยู่
เมื่อมีต้นไม้ใหญ่ซึ่งมีแก่นยืนต้นอยู่ รู้แก่นไม้ว่า ‘แก่นไม้’ จึงตัดนำไป และกิจ
ที่เขาจะต้องใช้แก่นไม้ทำจักสำเร็จประโยชน์แก่เขา ฉันใด บุคคลนี้ตถาคตเรียกว่า
มีอุปมาฉันนั้น
{๓๖๐} พราหมณ์ ดังพรรณนามาฉะนี้ พรหมจรรย์นี้จึงมิใช่มีลาภสักการะและความ
สรรเสริญเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความสมบูรณ์แห่งศีลเป็นอานิสงส์ มิใช่มีความ
สมบูรณ์แห่งสมาธิเป็นอานิสงส์ มิใช่มีญาณทัสสนะเป็นอานิสงส์ พรหมจรรย์นี้มี
เจโตวิมุตติอันไม่กำเริบเป็นเป้าหมาย เป็นแก่น เป็นที่สุด”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ปิงคลโกจฉพราหมณ์ได้กราบทูลพระ
ผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจน
ไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก
ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต” ดังนี้แล
จูฬสาโรปมสูตรที่ ๑๐ จบ
โอปัมมวรรค ที่ ๓ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. กกจูปมสูตร
๒. อลคัททูปมสูตร
๓. วัมมิกสูตร
๔. รถวินีตสูตร
๕. นิวาปสูตร
๖. ปาสราสิสูตร
๗. จูฬหัตถิปโทปมสูตร
๘. มหาหัตถิปโทปมสูตร
๙. มหาสาโรปมสูตร
๑๐. จูฬสาโรปมสูตร
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต