27-513 พระเจ้าปัญจาละพระนามว่าชัยทิศ



พระไตรปิฎก


๓. ชยัททิสชาดก
ว่าด้วยพระเจ้าปัญจาละพระนามว่าชัยทิศ

(ยักษ์จับพระหัตถ์ของพระราชาแล้วกราบทูลว่า)
{๒๒๙๖} [๖๔] นานจริงหนอ วันนี้ภักษาเป็นอันมากได้เกิดขึ้นแก่เรา
ในเวลาอาหารในวัน ๗ ค่ำ ท่านเป็นใคร มาจากไหน
ขอเชิญท่านบอกเนื้อความนั้นและชาติสกุลตามที่ท่านทราบเถิด
(พระราชาทรงเห็นยักษ์แล้ว ตกพระทัย ต่อมาทรงรวบรวมสติได้แล้วจึงตรัสว่า)
{๒๒๙๗} [๖๕] ข้าพเจ้าคือพระเจ้าปัญจาละนามว่าชัยทิศ เข้ามาล่าสัตว์
บางทีท่านจะได้ยินมาแล้วบ้าง เราเที่ยวไปตามเชิงเขาแนวป่า
วันนี้ท่านจงกินเนื้อฟานนี้ ปล่อยข้าพเจ้าไปเถิด
(ยักษ์กราบทูลว่า)
{๒๒๙๘} [๖๖] พระองค์เมื่อถูกข้าพระองค์เบียดเบียน
กลับทรงแลกพระองค์กับของที่ข้าพระองค์มีอยู่
เนื้อฟานที่พระองค์กล่าวถึงเป็นภักษาของข้าพระองค์
ข้าพระองค์เคี้ยวกินพระองค์แล้วอยากกินเนื้อฟาน
ก็จักเคี้ยวกินในภายหลัง เวลานี้ไม่ใช่เวลาพร่ำเพ้อรำพัน
(พระราชาทรงหวนระลึกถึงนันทพราหมณ์ จึงตรัสว่า)
{๒๒๙๙} [๖๗] ถ้าว่า ข้าพเจ้ารอดพ้นไปไม่ได้ด้วยการแลกเปลี่ยน
เพื่อไปแล้วจะกลับมาในวันพรุ่งนี้
กติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์นั้นข้าพเจ้าทำไว้แล้ว
ข้าพเจ้าผู้รักษาความสัตย์จักกลับมาอีก
(ยักษ์กราบทูลว่า)
{๒๓๐๐} [๖๘] พระมหาราช กรรมอะไรเล่า
ที่ทำให้พระองค์ผู้ใกล้ถึงการสวรรคตต้องทรงเดือดร้อน
ขอพระองค์ตรัสบอกกรรมนั้นแก่ข้าพระองค์
บางทีข้าพระองค์อาจจะอนุญาตให้พระองค์ไป
เพื่อจะกลับมาในวันพรุ่งนี้ได้บ้าง
(พระราชาตรัสว่า)
{๒๓๐๑} [๖๙] ข้าพเจ้าได้ให้ความหวังเกี่ยวกับทรัพย์ไว้แก่พราหมณ์
กติกานั้นข้าพเจ้าได้รับรองไว้แล้ว
ยังมิได้ปลดเปลื้องกติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์นั้น
ข้าพเจ้าผู้รักษาความสัตย์จักกลับมาอีก
(ยักษ์กราบทูลว่า)
{๒๓๐๒} [๗๐] ความหวังเกี่ยวกับทรัพย์อันใดพระองค์ได้สร้างไว้ให้แก่พราหมณ์
กติกานั้นพระองค์ทรงรับรองไว้แล้ว
ยังมิได้ปลดเปลื้องกติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์เลย
ขอพระองค์จงทรงรักษาความสัตย์เสด็จกลับมาอีก
(พระศาสดาเมื่อทรงแสดงความนั้น จึงได้ตรัสว่า)
{๒๓๐๓} [๗๑] ก็พระเจ้าชัยทิศนั้นรอดพ้นจากเงื้อมมือของยักษ์โปริสาทแล้ว
ทรงรีบเสด็จไปยังพระราชมณเฑียรของพระองค์
ทรงหวังจะปลดเปลื้องกติกาในการที่จะให้ทรัพย์แก่พราหมณ์
รับสั่งเรียกหาอลีนสัตตุราชบุตรเข้ามาเฝ้า ตรัสว่า
[๗๒] ลูกจงอภิเษกราชสมบัติในวันนี้
จงประพฤติธรรมในบริวารของตนและแม้ในบุคคลเหล่าอื่น
อนึ่ง การประพฤติอธรรมขออย่าได้มีในแคว้นของลูก
ส่วนพ่อจะไปสำนักของยักษ์โปริสาท
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
{๒๓๐๔} [๗๓] ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาท หม่อมฉันทำกรรมอะไร
จึงทำให้พระราชบิดาไม่พอพระทัย
และวันนี้พระราชบิดาจะให้หม่อมฉันดำรงราชสมบัติ
เพราะการงานที่ทำให้พระราชบิดาไม่พอพระทัยอันใด
หม่อมฉันปรารถนาจะสดับข้อนั้น ๆ
แม้ราชสมบัติเว้นพระราชบิดาหม่อมฉันก็ไม่พึงปรารถนา
(พระราชาตรัสว่า)
{๒๓๐๕} [๗๔] ลูกรัก พ่อมิได้ระลึกถึงความผิดของลูก
เพราะการกระทำหรือเพราะคำพูดของลูกนี้เลย
เพราะให้สัจจะไว้กับยักษ์โปริสาท
พ่อต้องรักษาความสัตย์ จักต้องกลับไปอีก
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
{๒๓๐๖} [๗๕] หม่อมฉันจักไปแทน ขอพระองค์ประทับอยู่ที่นี้
การที่จะรอดชีวิตพ้นมาจากสำนักยักษ์โปริสาทย่อมไม่มี
ขอเดชะ ถ้าพระราชบิดาจะเสด็จไปจริง ๆ
หม่อมฉันก็จะตามเสด็จด้วย แม้เราทั้ง ๒ จะไม่รอดชีวิต
(พระราชาตรัสว่า)
{๒๓๐๗} [๗๖] ลูกรัก นั่นเป็นธรรมของสัตบุรุษอย่างแท้จริง
แต่เมื่อใดยักษ์โปริสาทเท้าด่าง
ข่มขี่ทำลายลูกแล้วย่างกินที่โคนต้นไม้
ข้อนั้นพึงเป็นทุกข์ยิ่งกว่าการตายของพ่อเสียอีก
(พระราชกุมารกราบทูลว่า)
{๒๓๐๘} [๗๗] หม่อมฉันจักเอาชีวิตแลกเปลี่ยนชีวิตของเสด็จพ่อ
เสด็จพ่ออย่าได้เสด็จไปสำนักยักษ์โปริสาทเลย
ก็หม่อมฉันจักแลกเปลี่ยนเอาชีวิตของเสด็จพ่อนั้นไว้
เพราะเหตุนั้น จึงขอยอมตายเพื่อชีวิตของเสด็จพ่อ
(พระศาสดาเมื่อจะประกาศความนั้น จึงตรัสว่า)
{๒๓๐๙} [๗๘] ลำดับนั้นแล พระราชบุตรผู้ทรงมีพระปรีชา
ถวายบังคมพระยุคลบาทพระมารดาพระบิดาแล้วเสด็จไป
พระมารดาของท้าวเธอทรงระทมทุกข์ ล้มลงที่พื้นปฐพี
ส่วนพระบิดานั้นเล่าทรงประคองพระพาหาทั้ง ๒
แล้วทรงกันแสง
(และเมื่อจะประกาศสัจจะ จึงได้ตรัสต่อไปอีกว่า)
{๒๓๑๐} [๗๙] พระบิดาทรงทราบชัดว่าพระโอรสกำลังมุ่งหน้าเสด็จไป
จึงบ่ายพระพักตร์ต่อเบื้องพระปฤษฎางค์ ประคองอัญชลี
นมัสการว่า ลูกรัก ขอลูกจงมีเทพเหล่านี้ คือ ท้าวโสมะ
ท้าววรุณ ท้าวปชาบดี พระจันทร์ และสุริยเทพคุ้มครอง
ขอลูกจงได้รับอนุญาตกลับมาจากสำนักยักษ์โปริสาทด้วยความสวัสดี
(พระชนนีทรงทำสัจจกิริยาว่า)
{๒๓๑๑} [๘๐] ลูกรัก มารดาของพ่อรามได้รับการคุ้มครองอย่างดี
ได้กระทำความสวัสดีอันใดให้แก่พ่อรามผู้ไปยังแคว้นของพระเจ้า
ทัณฑกี แม่ขอกระทำความสวัสดีอันนั้นให้แก่ลูก
ด้วยความสัตย์นี้ ขอทวยเทพเจ้าโปรดระลึกถึงลูก
ขอลูกจงได้รับอนุญาตกลับมาด้วยความสวัสดีเถิด
(พระภคินีทรงทำสัจจกิริยาว่า)
{๒๓๑๒} [๘๑] น้องนึกไม่ออกเลย
ถึงการคิดประทุษร้ายเจ้าพี่อลีนสัตตุในที่แจ้งหรือที่ลับ
ด้วยความสัตย์นี้ ขอทวยเทพโปรดระลึกถึงเจ้าพี่
ขอเจ้าพี่ทรงได้รับอนุญาตกลับมาด้วยความสวัสดีเถิด
(พระชายาทรงทำกิริยาว่า)
{๒๓๑๓} [๘๒] ขอเดชะพระสวามี ก็เพราะพระองค์มิได้ประพฤตินอกใจ
หม่อมฉันเลย ฉะนั้น พระองค์มิได้เป็นที่รักจากใจหม่อมฉันก็หาไม่
ด้วยความสัตย์นี้ ขอทวยเทพโปรดระลึกถึงพระองค์
ขอพระองค์ทรงได้รับอนุญาตกลับมาด้วยความสวัสดีเถิด
(ลำดับนั้น ยักษ์กล่าวว่า)
{๒๓๑๔} [๘๓] เจ้ามีร่างกายสูงใหญ่ ใบหน้างาม มาจากไหน
เจ้าไม่รู้หรือว่าเราอยู่ในป่า
ใคร ๆ เขาก็รู้จักเราผู้ชั่วร้ายว่า เป็นยักษ์กินคน
มีใครเล่าเมื่อรู้ถึงความปลอดภัยพึงมาที่นี้
(พระราชกุมารตรัสว่า)
{๒๓๑๕} [๘๔] นายพราน เรารู้ว่าท่านกินคน
เราจะไม่รู้ว่าท่านอยู่ในป่าก็หาไม่
เราเป็นพระโอรสของพระเจ้าชัยทิศ
เพราะต้องการจะปลดเปลื้องพระบิดา
วันนี้ท่านจงปล่อยพระบิดา จงกินเราเถิด
(ยักษ์กราบทูลว่า)
{๒๓๑๖} [๘๕] เรารู้ว่าท่านเป็นพระโอรสของพระเจ้าชัยทิศ
เพราะใบหน้าและผิวพรรณของท่านทั้ง ๒ คล้ายคลึงกัน
การที่บุคคลยอมตายเพื่อปลดเปลื้องบิดาของตน
นี้เป็นกรรมที่กระทำได้ยาก แต่ท่านได้กระทำแล้ว
(พระราชกุมารตรัสว่า)
{๒๓๑๗} [๘๖] ในเรื่องนี้เรามิได้สำคัญว่าทำได้ยากอะไรนัก
บุคคลใดยอมตายเพื่อปลดเปลื้องบิดาของตน
หรือเพราะเหตุแห่งมารดา บุคคลนั้นไปสู่ปรโลกแล้ว
เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุขและอารมณ์อันเลิศ
(พระราชกุมารถูกยักษ์ถามถึงความไม่กลัวตาย จึงตรัสว่า)
{๒๓๑๘} [๘๗] ก็เราระลึกไม่ได้สักนิดเดียว
ถึงการกระทำความชั่วของตนทั้งในที่แจ้งหรือที่ลับ
เราเป็นผู้มีการเกิดและการตายตามกำหนด
การพ้นจากความตายย่อมไม่มีในโลกนี้ฉันใด
ในโลกหน้าก็ฉันนั้น
[๘๘] ท่านผู้มีอานุภาพมาก วันนี้ท่านจงกินเราบัดนี้เถิด
จงทำกิจที่ควรทำกับสรีระนี้ หรือว่าเพื่อท่านเราจะตกจากยอดไม้
ท่านพอใจจงกินเนื้อของเราส่วนที่ท่านพอใจเถิด
(ยักษ์ฟังพระดำรัสแล้วตกใจกลัว จึงกราบทูลว่า)
{๒๓๑๙} [๘๙] ท่านราชบุตร ถ้าท่านพอใจอย่างนี้
ท่านจะสละชีวิตเพื่อปลดเปลื้องพระบิดา
ฉะนั้น ท่านจงรีบหักฟืน ก่อไฟให้โพลงขึ้นในที่นี้
(พระศาสดาเมื่อทรงประกาศเหตุนั้น จึงตรัสว่า)
{๒๓๒๐} [๙๐] ลำดับนั้นแล พระราชบุตรผู้ทรงปรีชาได้รวบรวมฟืน
ก่อไฟกองใหญ่ขึ้นแล้ว จึงตรัสบอกให้ยักษ์ทราบว่า
บัดนี้ไฟกองใหญ่เราได้ก่อแล้ว
(พระราชกุมารทรงเห็นกิริยาของยักษ์นั้น จึงตรัสว่า)
{๒๓๒๑} [๙๑] บัดนี้ท่านจงข่มขี่กินเราในวันนี้เถิด
ทำไมท่านจึงขนพองเพ่งดูเราบ่อย ๆ
เรากระทำตามคำของท่าน ตามที่ท่านพอใจจะกินเรา
(ยักษ์กราบทูลว่า)
{๒๓๒๒} [๙๒] ใครเล่าควรที่จะกินคนผู้ดำรงอยู่ในธรรม
มีปกติกล่าวคำสัตย์ รู้ถ้อยคำของผู้ขอเช่นท่าน
บุคคลใดพึงกินคนผู้มีปกติกล่าวคำสัตย์เช่นนั้น
แม้ศีรษะของบุคคลนั้นก็พึงแตกออก ๗ เสี่ยง
(พระราชกุมารตรัสว่า)
{๒๓๒๓} [๙๓] เพราะสสบัณฑิตนั้นสำคัญท้าวสักกเทวราชนี้ว่าเป็นพราหมณ์
จึงได้ให้สิงอยู่ในสรีระของตน ยักษ์ เพราะเหตุนั้นแล
จันทิมเทพบุตรนั้นจึงมีรูปกระต่ายปรากฏอยู่
ซึ่งให้ความพอใจแก่ชาวโลกตราบจนทุกวันนี้
(ยักษ์เมื่อจะปล่อยพระราชกุมาร จึงกราบทูลว่า)
{๒๓๒๔} [๙๔] ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์พ้นจากปากราหูแล้วย่อมไพโรจน์
ในดิถีเพ็ญ ๑๕ ค่ำฉันใด
ท่านผู้มีอานุภาพมาก แม้ท่านก็ฉันนั้น พ้นแล้วจากยักษ์โปริสาท
ยังพระบิดาและพระมารดาให้ปลื้มพระทัย
จงไพโรจน์ในกบิลรัฐเถิด
อนึ่ง ขอพระประยูรญาติของพระองค์ทุกฝ่ายจงร่าเริงยินดีทั่วหน้า
(พระศาสดาทรงประกาศความนั้นว่า)
{๒๓๒๕} [๙๕] ลำดับนั้น พระราชบุตรทรงพระนามอลีนสัตตุผู้ทรงพระปรีชา
ทรงประคองอัญชลี ถวายบังคมโปริสาทดาบส
ทรงได้รับอนุญาตเสด็จกลับกบิลรัฐอย่างสุขสวัสดีและปลอดภัย
(พระศาสดาเมื่อจะทรงแสดงกิริยาที่ชาวมคธถวายการต้อนรับพระราชกุมาร
จึงตรัสว่า)
{๒๓๒๖} [๙๖] ชาวนิคม ชาวชนบท พลช้าง พลรถ
และพลเดินเท้าล้วนประคองอัญชลี เข้าเฝ้าถวายบังคม
กราบทูลท้าวเธอว่า ขอถวายบังคมแด่พระองค์
พระองค์ทรงเป็นผู้กระทำกิจที่ทำได้ยาก
ชยัททิสชาดกที่ ๓ จบ

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.