27-477 กัสสปดาบสสอนจูฬนารทดาบส



พระไตรปิฎก


๔. จูฬนารทกัสสปชาดก
ว่าด้วยกัสสปดาบสสอนจูฬนารทดาบส

(พระโพธิสัตว์ถามลูกชายว่า)
{๑๗๖๔} [๔๐] ฟืนลูกก็มิได้ผ่า น้ำลูกก็มิได้ตัก
แม้ไฟลูกก็มิได้ก่อให้โพลงขึ้น
ทำไมหนอ ลูกจึงซบเซาเหมือนคนปัญญาอ่อน
(ดาบสกุมารตอบว่า)
{๑๗๖๕} [๔๑] พ่อกัสสปะ ลูกหมดความพยายามที่จะอยู่ป่าต่อไป
ขอกราบลาพ่อ การอยู่ในป่าลำบาก
ลูกต้องการจะไปยังเมือง
{๑๗๖๖} [๔๒] พ่อพราหมณ์ ลูกไปจากที่นี้แล้ว
ไปอยู่ชนบทใดชนบทหนึ่ง
พึงศึกษาอาจาระอันเป็นประเพณีที่ควรศึกษา A
ขอพ่อกรุณาสอนธรรม B นั้นให้ลูกด้วย
(พระโพธิสัตว์กล่าวว่า)
{๑๗๖๗} [๔๓] ถ้าลูกทิ้งป่าและมูลผลาหารในป่า
พอใจการอยู่ในเมือง
ลูกจงตั้งใจฟังธรรมนั้นจากพ่อ
{๑๗๖๘} [๔๔] อย่าเสพของมีพิษ ๑ จงเว้นเหวให้ห่างไกล ๑
อย่าจมลงในเปือกตม ๑ พึงระมัดระวังเมื่ออยู่ใกล้อสรพิษ ๑
(ดาบสกุมารเมื่อไม่รู้ความหมายของคำที่พ่อกล่าวโดยย่อ จึงถามว่า)
{๑๗๖๙} [๔๕] อะไรหนอคือของมีพิษ เหว
หรือเปือกตม สำหรับผู้ประพฤติพรหมจรรย์
อะไรที่พ่อกล่าวว่า เป็นอสรพิษ
ลูกถามแล้ว ขอพ่อจงบอกเรื่องนั้น
(ฝ่ายพระโพธิสัตว์ตอบว่า)
{๑๗๗๐} [๔๖] พ่อนารทะ ของหมักดองในโลกที่เขาเรียกชื่อว่าสุรา
ทำใจให้ฮึกเหิม มีกลิ่นหอม น่าพอใจ มีรสอร่อยเหมือนน้ำผึ้ง
สุรานั้น พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นของมีพิษสำหรับพรหมจรรย์
{๑๗๗๑} [๔๗] พ่อนารทะ หญิงทั้งหลายในโลกย่อมย่ำยีชายผู้ประมาทแล้ว
พวกหล่อนย่อมชักจูงจิตของชายหนุ่มไป
เหมือนลมพัดปุยนุ่นที่พลัดตกจากต้น
สภาพนั้นบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นเหวสำหรับพรหมจรรย์
{๑๗๗๒} [๔๘] ลาภ ๑ ความมีชื่อเสียง ๑ สักการะ ๑
การบูชาในสกุลอื่น ๆ ๑
พ่อนารทะ นี้แหละบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นเปือกตมของพรหมจรรย์
{๑๗๗๓} [๔๙] พ่อนารทะ พระราชาทั้งหลายทรงมีศัสตราวุธ
ทรงปกครองแผ่นดินนี้
พระราชาผู้จอมมนุษย์ ผู้ยิ่งใหญ่เช่นนั้น
เจ้าควรระวัง
{๑๗๗๔} [๕๐] พ่อนารทะ พระราชาผู้เป็นอิสระ เป็นอธิบดีเหล่านั้น
เจ้าอย่าอยู่ใกล้ชิดเลย
พระราชานี้แหละบัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า
เป็นอสรพิษสำหรับพรหมจรรย์
{๑๗๗๕} [๕๑] อนึ่ง คนผู้ต้องการอาหารในเวลาอาหาร
พึงเข้าไปยังเรือนหลังใดหลังหนึ่ง
บรรดาเรือนเหล่านี้ เจ้าพึงเที่ยวแสวงหาอาหาร
ในเรือนหลังที่ตนทราบว่าดีงาม
[๕๒] ครั้นเข้าไปยังสกุลอื่นเพื่อประโยชน์แก่น้ำหรือโภชนาหาร
ควรขบเคี้ยวบริโภคแต่พอประมาณ ไม่ควรใฝ่ใจในรูป
{๑๗๗๖} [๕๓] คอกโค ๑ โรงสุรา ๑ นักเลง ๑ หอประชุม ๑
สถานที่เก็บเงินทอง ๑ เจ้าจงเว้นให้ห่างไกล
เหมือนคนขับยานพาหนะเว้นหนทางที่ขรุขระ
จูฬนารทกัสสปชาดกที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A หมายถึงมารยาทซึ่งเป็นจารีตประเพณีที่ควรศึกษาของสถานที่นั้น
(ขุ.ชา.อ. ๖/๔๒/๑๖๑)
B ธรรม หมายถึงจารีตประเพณีของชาวชนบทนั้น
(ขุ.ชา.อ. ๖/๔๓/๑๖๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.