27-475 การผูกเวรของหมีและไม้สะคร้อ



พระไตรปิฎก


๒. ผันทนชาดก
ว่าด้วยการผูกเวรของหมีและไม้สะคร้อ

(หมีได้บอกช่างไม้ว่า)
{๑๗๓๘} [๑๔] ท่านผู้เดียวถือขวานเข้ามาถึงป่ายืนอยู่
เพื่อน เราถามแล้วท่านจงบอก
ท่านต้องการจะตัดไม้หรือ
(ช่างไม้ได้ฟังดังนั้น จึงกล่าวว่า)
{๑๗๓๙} [๑๕] เพื่อน เจ้าเป็นหมีเที่ยวไปยังป่าน้อยใหญ่
ทั้งป่าทึบและป่าโปร่ง เราถามแล้ว เจ้าจงบอก
ไม้อะไรถึงจะแข็งแกร่งสำหรับกงรถ
(หมีกล่าวว่า)
{๑๗๔๐} [๑๖] ต้นรังก็ดี ต้นตะเคียนก็ดี ต้นหูกวางก็ดี ต้นสีเสียดก็ดี
ที่ไหนจะแข็งแกร่ง แต่ต้นไม้ที่มีนามว่าสะคร้อนั่นซิ
เป็นไม้ที่แข็งแกร่งสำหรับกงรถ
(ช่างไม้ถามว่า)
{๑๗๔๑} [๑๗] ก็ต้นสะคร้อนั้น ใบก็ตาม ลำต้นก็ตามเป็นเช่นไร
เพื่อน เราถามแล้ว ท่านจงตอบ
เราจะรู้จักต้นสะคร้อได้อย่างไร
(หมีบอกว่า)
{๑๗๔๒} [๑๘] ต้นไม้ใดที่กิ่งห้อยน้อมลงมาแต่ไม่หัก
ข้าพเจ้ายืนอยู่ที่โคนต้นไม้ใด ต้นไม้นั้นมีนามว่าสะคร้อ
{๑๗๔๓} [๑๙] ต้นสะคร้อนี้จักเป็นไม้ที่สมควร
แก่กิจการของท่านทุกอย่าง
คือ ทำกำก็ได้ ล้อก็ได้ ดุมก็ได้
งอนไถก็ได้ กงก็ได้ ตัวรถก็ได้
(พระศาสดาทรงประกาศเรื่องนั้นว่า)
{๑๗๔๔} [๒๐] ทันใดนั้น รุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อ
ก็ได้กล่าวอย่างนี้ว่า ถึงข้าพเจ้าก็มีคำที่จะพูด
ภารทวาชะ โปรดฟังคำของข้าพเจ้า
{๑๗๔๕} [๒๑] ท่านจงถลกหนังจากคอหมี ๔ องคุลีแล้วใช้หุ้มกงรถ
เมื่อทำเช่นนี้ กงรถจะพึงมั่นคงยิ่งขึ้น
{๑๗๔๖} [๒๒] ถึงรุกขเทวดาผู้สิงสถิตอยู่ที่ต้นสะคร้อ
ได้จองเวรแล้วเพียงนั้น
ได้นำความทุกข์มาให้แก่พวกหมี
ทั้งที่เกิดแล้วและยังไม่เกิด ด้วยประการฉะนี้
{๑๗๔๗} [๒๓] ด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้ ไม้สะคร้อยุให้คนฆ่าหมี
ส่วนหมียุให้คนโค่นต้นสะคร้อ
เพราะการวิวาทกันและกัน ต่างคนต่างยุให้ฆ่ากันและกัน คือ
{๑๗๔๘} [๒๔] พวกมนุษย์เกิดการทะเลาะกันขึ้นที่ใด
ที่นั้นมนุษย์ทั้งหลายก็เปิดเผยความลับเหมือนนกยูงรำแพน
และเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเหล่านั้น
{๑๗๔๙} [๒๕] เพราะเหตุนั้น ตถาคตขอถวายพระพรมหาบพิตรทั้งหลาย
ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงพระเจริญ
ตราบเท่าที่ทรงสมาคมกัน ณ สถานที่นี้
ขอทรงรื่นเริงบันเทิงพระทัย อย่าทรงวิวาทกัน
อย่าทรงเป็นเหมือนหมีกับไม้สะคร้อเลย
{๑๗๕๐} [๒๖] ขอมหาบพิตรทั้งหลายทรงสำเหนียกถึงความสามัคคีนั้น
ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญแล้ว
บุคคลผู้ยินดีแล้วในความสามัคคี ดำรงอยู่ในธรรม
ย่อมไม่เสื่อมจากนิพพานอันเป็นแดนเกษมจากโยคะ
ผันทนชาดกที่ ๒ จบ

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.