26-395 คาถาของพระปุสสเถระ



พระไตรปิฎก


๑. ปุสสเถรคาถา
ภาษิตของพระปุสสเถระ

(พระสังคีติกาจารย์ได้กล่าวภาษิตเบื้องต้นไว้ว่า)
[๙๔๙] ฤๅษีปัณฑรสโคตรได้พบเห็นภิกษุมากรูป
ผู้น่าเลื่อมใส อบรมตน สำรวมดีแล้ว
ได้สอบถามพระปุสสเถระว่า
[๙๕๐] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายในพระศาสนานี้
จะมีความพอใจอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร
มีอากัปกิริยาอย่างไร
ข้าพเจ้าเรียนถามท่านแล้ว นิมนต์บอกความข้อนั้นด้วยเถิด
(พระปุสสเถระไดักล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๕๑] ท่านปัณฑรสฤๅษี เชิญท่านฟังคำของอาตมา
ขอเชิญตั้งใจจดจำให้ดี
อาตมาจะบอกข้อความที่ท่านถามถึงอนาคตแก่ท่าน
[๙๕๒] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายส่วนมาก
จักเป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่คุณท่าน
หัวดื้อ โอ้อวด ริษยา และมีวาทะขัดแย้งกัน
[๙๕๓] มีความสำคัญในสัทธรรมที่ยังไม่รู้ ไม่เห็นว่ารู้ ว่าเห็น
มีความคิดในธรรมที่ลึกซึ้งว่าตื้น เป็นคนเบา
ไม่หนักแน่นในธรรม ไม่เคารพกันและกัน
[๙๕๔] ในกาลภายหน้า โทษเป็นอันมาก
จะเกิดขึ้นในสัตว์โลก
ภิกษุทั้งหลายผู้ไร้ความคิด
จะทำธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดีแล้วนี้
ให้มัวหมอง
[๙๕๕] ทั้งจะเสื่อมจากคุณธรรม กล้าพูดในท่ามกลางสงฆ์
มีพวกมาก ปากจัด ไม่ยอมรับฟัง(ความคิดเห็นของผู้อื่น)
[๙๕๖] ฝ่ายพวกที่มีคุณธรรม พูดในท่ามกลางสงฆ์ตามความเป็นจริง
ละอายใจ ไม่ต้องการผลประโยชน์จักมีพวกน้อย
[๙๕๗] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะมีปัญญาทราม
พากันยินดี เงิน ทอง ไร่นา สวน แพะ แกะ และคนใช้ชายหญิง
[๙๕๘] จะเป็นคนอันธพาล ชอบมุ่งแต่จะตำหนิติเตียน
ไม่ตั้งมั่นในศีล ถือตัวจัด โหดร้าย เที่ยวไป
ชอบก่อการทะเลาะวิวาท
[๙๕๙] ทั้งจะมีใจฟุ้งซ่าน นุ่งห่มแต่จีวรสีเขียว
เที่ยวทำตัวดังพระอริยะ
[๙๖๐] จะใช้น้ำมันแต่งผมให้งดงาม
เป็นคนเหลาะแหละเหลวไหล
ใช้ยาหยอดแต่งตา นุ่งห่มจีวรสีงาช้าง
เที่ยวไปตามถนนหนทาง
[๙๖๑] จะรังเกียจผ้ากาสาวะซึ่งย้อมดีแล้ว
ที่พระอริยะทั้งหลายไม่รังเกียจ
เป็นธงชัยของพระอรหันต์ ชอบใช้แต่ผ้าขาว
[๙๖๒] จะมุ่งแต่ลาภ เกียจคร้าน มีความเพียรย่อหย่อน
รังเกียจเสนาสนะป่า
ชอบอยู่แต่เสนาสนะใกล้บ้าน
[๙๖๓] จะไม่สำรวม เที่ยวประพฤติตามพวกภิกษุ
ที่ยินดีในมิจฉาชีพ ได้ลาภอยู่เสมอ ๆ
[๙๖๔] ในกาลภายหน้า ภิกษุทั้งหลายจะไม่บูชายกย่องเหล่าภิกษุผู้ไม่
มีลาภ ทั้งจะไม่คบค้าสมาคมกับเหล่าภิกษุผู้รักษาศีลดี
ซึ่งเป็นนักปราชญ์
[๙๖๕] จะห่มจีวรสีแดงที่คนป่าชอบย้อมใช้
พากันติเตียนผ้ากาสาวะซึ่งเป็นธงชัยของตน
บางพวกก็จะห่มจีวรสีขาว ซึ่งเป็นธงชัยของพวกเดียรถีย์
[๙๖๖] ในกาลภายหน้า ภิกษุเหล่านั้นจะไม่มีความเคารพในผ้ากาสาวะ
ทั้งจะไม่พิจารณาใช้ผ้ากาสาวะ
[๙๖๗] การไม่คิดพิจารณาให้ดี
ได้เป็นความเลวร้ายอย่างใหญ่หลวงของพญาช้าง
ที่ถูกลูกศรเสียบแทง
ถูกทุกขเวทนาครอบงำทุรนทุรายอยู่
[๙๖๘] เพราะครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาช้างฉัททันต์
ได้เห็นผ้ากาสาวะ ซึ่งโสณุตตรพรานคลุมร่างไว้
ที่ย้อมดีแล้วเป็นธงชัยของพระอรหันต์
ได้กล่าวภาษิตที่ประกอบด้วยประโยชน์ในขณะนั้นแหละว่า
[๙๖๙] ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด
ปราศจากทมะ และสัจจะ
จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะ
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๙๗๐] ส่วนผู้ใดพึงคลายกิเลสดุจน้ำฝาด
ตั้งมั่นดีแล้วในศีล ประกอบด้วยทมะและสัจจะ
ผู้นั้นแหละควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้
[๙๗๑] ผู้ใดมีศีลวิบัติ มีปัญญาทราม ไม่สำรวมอินทรีย์
ชอบทำตามความพอใจ มีจิตฟุ้งซ่าน ทั้งไม่บริสุทธิ์
ผู้นั้นไม่ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะเลย
[๙๗๒] ส่วนผู้ใดสมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
มีจิตตั้งมั่นดี มีความดำริในใจใสสะอาด
ผู้นั้นแหละ ควรที่จะนุ่งห่มผ้ากาสาวะได้
[๙๗๓] ผู้ที่ไม่มีศีล ฟุ้งซ่าน มีมานะจัด เป็นคนพาล
ควรที่จะนุ่งห่มผ้าขาวเท่านั้น
ผ้ากาสาวะจะช่วยอะไรได้
[๙๗๔] ในกาลภายหน้า ทั้งพวกภิกษุและภิกษุณี
ผู้มีใจชั่ว ไม่เอื้อเฟื้อ
จะข่มขี่ฝ่ายที่คงที่มีจิตเมตตา
[๙๗๕] พวกที่เป็นคนโง่เขลา มีปัญญาทราม
ไม่สำรวมอินทรีย์ ชอบทำตามความพอใจ
ถึงพระเถระทั้งหลาย จะสอนให้ครองจีวร ก็จักไม่เชื่อฟัง
[๙๗๖] พวกเธอซึ่งเป็นคนโง่เขลา
พระอุปัชฌาย์อาจารย์สอนอย่างนั้น
ก็จะไม่เคารพกันและกัน
ไม่เอื้อเฟื้อพระอุปัชฌาย์อาจารย์
เหมือนม้าพยศไม่ยอมให้สารถีฝึก
[๙๗๗] ครั้นกาลภายหลัง(ตติยสังคายนา)ผ่านไปแล้ว
พวกภิกษุและภิกษุณีในกาลภายหน้า จักปฏิบัติกันอย่างนี้
(ครั้นพระปุสสเถระแสดงภัยอย่างใหญ่หลวงที่ยังมาไม่ถึงนั้นจะมาถึงในกาล
ภายหน้าอย่างนั้น เมื่อจะให้โอวาทแก่ภิกษุทั้งหลายที่ประชุมกัน ณ ที่นั้นอีก จึง
ได้กล่าว ๓ ภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๙๗๘] ภัยอย่างใหญ่หลวงซึ่งยังมาไม่ถึงนี้ จะมาถึงข้างหน้า
ขอท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ว่าง่าย พูดจาอ่อนหวาน
มีความเคารพกันและกัน
[๙๗๙] มีจิตเมตตากรุณา สำรวมในศีล
ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว
บากบั่นมั่นคงเป็นประจำเถิด
[๙๘๐] ขอชนทั้งหลายจงเห็นความประมาทโดยเป็นสิ่งที่น่ากลัว
และเห็นความไม่ประมาทโดยเป็นสิ่งที่เกษม
แล้วบำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคที่จะบรรลุอมตบท A ได้
เชิงอรรถ
A นิพพาน (ขุ.เถร.อ. ๒/๙๘๐/๔๐๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!