26-387 คาถาของพระเตลกานิเถระ
พระไตรปิฎก
๓. เตลกานิเถรคาถา
ภาษิตของพระเตลกานิเถระ
(พระเตลกานิเถระได้กล่าวภาษิตเหล่านี้ว่า)
[๗๔๗] เราได้มีความเพียร ค้นคิดธรรมอยู่นานหนอ
เมื่อสอบถามสมณพราหมณ์ ก็ยังไม่ได้ความกระจ่างใจ
[๗๔๘] ในโลกนี้ ใครเล่า เป็นผู้ถึงฝั่ง
ใครเป็นผู้บรรลุธรรมที่หยั่งลงสู่อมตะ
เราจะปฏิบัติตามธรรมของใครซึ่งจะเป็นเหตุให้รู้แจ้งปรมัตถธรรมได้
[๗๔๙] เรามีความคดคือกิเลสอยู่ภายใน เหมือนปลากินเบ็ด
ทั้งถูกผูกด้วยบ่วงคือกิเลส เหมือนท้าวเวปจิตติอสูรถูกผูกด้วยบ่วง
ของท้าวสักกะจอมเทพ
[๗๕๐] เรากระชากบ่วงคือกิเลสนั้นไม่หลุด
จึงไม่พ้นไปจากความเศร้าโศกและความร่ำไรรำพันนั้น
ใครในโลกนี้จะช่วยแก้เครื่องผูกคือกิเลส
ประกาศทางตรัสรู้ให้เราได้
[๗๕๑] เราจะปฏิบัติตามธรรมของใครคือสมณะ
หรือพราหมณ์หรือใครผู้แสดงธรรมเป็นเหตุกำจัดกิเลส
ที่จะลอยชราและมรณะเสียได้
[๗๕๒] จิตของเราถูกร้อยไว้ด้วยความลังเลสงสัย
ประกอบด้วยความแข่งดีมีกำลัง ถึงความกระด้าง
เพราะใจประกอบด้วยความโกรธ ถูกความโลภคอยทำลาย
[๗๕๓] เชิญท่านดูลูกศรคือทิฏฐิ ๓๐ ประเภท
อันมีธนูคือตัณหาเป็นสมุฏฐานเนื่องอยู่ในอก
มีกำลังทำลายหทัยอยู่เถิด
[๗๕๔] การไม่ละทิฏฐิที่เหลือ A เป็นอันถูกลูกศร
คือความดำริผิดให้อาจหาญ
เราถูกยิงด้วยลูกศรคือทิฏฐินั้นหวั่นไหวอยู่
เหมือนใบไม้ไหวเพราะต้องลม
[๗๕๕] บาปกรรมตั้งขึ้นภายในเรา พลันให้ผล
เป็นไปในร่างกายที่มีผัสสายตนะ B ๖ ทุกเมื่อ
[๗๕๖] เรายังไม่พบหมอที่จะช่วยถอนลูกศร C ของเรานั้นได้เลย
ทั้งหมดนั้นก็ไม่สามารถใช้เครื่องมือแพทย์ต่าง ๆ
ศัสตรา เวทมนต์ และยาอื่น ๆ ถอนลูกศรนั้นได้
[๗๕๗] ใครเล่าไม่ต้องใช้ศัสตรา ไม่ทำร่างกายให้เป็นแผล
ไม่เบียดเบียนร่างกายทุกส่วน จักถอนลูกศรคือกิเลส
ซึ่งเป็นลูกศรโดยปรมัตถ์ที่เสียบอยู่ภายในหทัยของเราออกได้
[๗๕๘] ผู้ลอยโทษที่เป็นพิษ(คือกิเลสมีราคะเป็นต้น)เสียได้
จัดว่าเป็นใหญ่ในธรรมแท้ ประเสริฐสุด
ช่วยชี้มือ(คืออริยมรรค) บอกที่บก(คือนิพพาน)
ให้แก่เราผู้ตกห้วงน้ำใหญ่ คือสงสารที่ลึก
[๗๕๙] เราได้จมลงในห้วงน้ำใหญ่คือสงสาร
ซึ่งมีดินเหนียวคือธุลีมีราคะเป็นต้นที่ไม่สามารถจะนำออกได้
เป็นที่แผ่ไปแห่งมายาความริษยา ความแข่งดี
และความง่วงเหงาหาวนอน
[๗๖๐] ความดำริทั้งหลายที่อาศัยราคะ เป็นเหมือนห้วงน้ำใหญ่
มีอุทธัจจะเป็นเมฆคำรน มีเมฆหมอกคือสังโยชน์ ๑๐
ย่อมนำเราผู้มีความเห็นผิดไป
[๗๖๑] กระแสตัณหาไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง
ทั้งตัณหาดังเถาวัลย์ก็ผลิขึ้น
ใครจะพึงกั้นกระแสตัณหาเหล่านั้นได้
ใครเล่าจักตัดตัณหาดังเถาวัลย์นั้นได้
[๗๖๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย เชิญท่านทั้งหลายทำเขื่อนอันเป็นเครื่อง
กั้นกระแสตัณหาเสีย อย่าให้กระแสตัณหาที่เกิดแต่ใจพัดพาท่าน
ทั้งหลายไปเร็วพลันดังกระแสน้ำพัดพาต้นไม้ที่อยู่ริมฝั่งไป
[๗๖๓] พระศาสดาทรงมีพระปัญญาเป็นอาวุธ
อันหมู่ฤๅษีอาศัยแล้ว เป็นที่พึ่งสำหรับเราผู้มีภัย
กำลังแสวงหาฝั่งคือนิพพานจากที่มิใช่ฝั่งได้อย่างนี้
[๗๖๔] พระองค์ได้ทรงประทานบันได ที่นายช่างทำดีแล้ว บริสุทธิ์
ทำด้วยไม้แก่นคือธรรมอันมั่นคง
แก่เราผู้กำลังถูกกระแสห้วงน้ำ(คือตัณหา)พัดไป
และรับสั่งว่า อย่ากลัวเลย
[๗๖๕] เราได้ขึ้นปราสาทคือสติปัฏฐาน
พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้ยินดีในร่างกายของตน
ที่เราจักได้รู้ในกาลก่อนโดยเป็นแก่นสาร
[๗๖๖] เมื่อคราวที่เราได้เห็นทาง (คือวิปัสสนา)
ซึ่งเป็นอุบายสำหรับขึ้นเรือ (คืออริยมรรค)
แล้วไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน จึงได้เห็นท่าที่ดีเยี่ยม D
[๗๖๗] พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงทางอันยอดเยี่ยม
เพื่อไม่ให้เป็นไปแห่งบาปธรรมคือทิฏฐิและมานะเป็นต้น
ซึ่งเปรียบเหมือนลูกศรเกิดแต่ตน ทั้งเกิดแต่ตัณหาที่นำไปสู่ภพได้
[๗๖๘] พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำจัดโทษที่เป็นพิษ
ได้ทรงช่วยบรรเทากิเลสเครื่องร้อยรัดของเราที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน
ครอบงำสันดานอยู่มาเป็นเวลานาน
เชิงอรรถ
A คือตั้งแต่สักกายทิฏฐิเป็นต้น (ขุ.เถร.อ. ๒/๗๕๔/๓๑๕)
B ผัสสายตนะ ๖ ได้แก่ ๑.จักขุสัมผัส ความกระทบทางตา ๒.โสตสัมผัส ความกระทบทางหู ๓.ฆานสัมผัส
ความกระทบทางจมูก ๔.ชิวหาสัมผัส ความกระทบทางลิ้น ๕.กายสัมผัส ความกระทบทางกาย ๖.
มโนสัมผัส ความกระทบทางใจ (ที.ปาฏิ. ๑๑/๓๒๓/๒๑๕)
C คือทิฏฐิและกิเลส
D โสดาปัตติมรรค (ขุ.เถร.อ. ๒/๗๖๖/๓๑๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต