26-121 เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีกับเปรตเปลือย



พระไตรปิฎก


๑. อัมพสักขรเปตวัตถุ
เรื่องเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีกับเปรตเปลือย

[๕๑๗] ชาวเมืองวัชชีมีนครนามว่าไพสาลี
ในนครไพสาลีนั้น มีกษัตริย์ลิจฉวี พระนามว่าอัมพสักขระ A
ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตที่ภายนอกพระนคร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ
จึงได้ตรัสถามเปรตนั้นในที่นั้นนั่นเองว่า
[๕๑๘] บุคคลที่ถูกเสียบอยู่บนปลายหลาวนี้
ไม่มีการนอน การนั่ง การเดินไปเดินมา
และการลิ้ม การดื่ม การเคี้ยวกิน การนุ่งห่มผ้า
แม้หญิงบำเรอของเขาก็ไม่มี
[๕๑๙] ชนเหล่าใดเป็นญาติ เป็นมิตรสหายซึ่งเคยเห็นหรือเคยได้ยินกันมา
เคยเอ็นดูกันมาในกาลก่อนของผู้นี้
เดี๋ยวนี้ชนเหล่านั้นแม้จะเยี่ยมเยียนเขาก็ไม่ได้
เพราะว่าผู้นี้มีสภาพที่ชนนั้นสละแล้ว
[๕๒๐] ผู้ที่ตายแล้วย่อมไม่มีมิตรสหาย
พวกมิตรสหายทราบถึงความขาดแคลนจึงพากันละทิ้ง
และเห็นประโยชน์จึงพากันห้อมล้อม
ส่วนผู้ที่มั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติย่อมมีมิตรสหายมากมาย
[๕๒๑] ชีวิตของบุรุษที่เสื่อมจากเครื่องอุปโภคและบริโภคทุกอย่างฝืดเคือง
ถูกหลาวเสียบตัว มีร่างกายเปื้อนเลือด
จักดับในวันนี้ หรือในวันพรุ่งนี้เป็นแน่
ดุจหยาดน้ำค้างซึ่งติดอยู่บนปลายหญ้า
[๕๒๒] ยักษ์ เมื่อเป็นอย่างนี้ เพราะเหตุไร
ท่านจึงพูดกับบุรุษผู้ได้รับความลำบากอย่างยิ่ง
นอนหงายอยู่บนหลาวด้ามไม้สะเดาเช่นนี้ว่า
บุรุษผู้เจริญ ขอท่านจงมีชีวิตอยู่เถิด
การมีชีวิตอยู่เท่านั้นเป็นความประเสริฐ
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๒๓] ข้าแต่พระราชา ข้าพระองค์ระลึกได้ว่า ในชาติก่อน
บุรุษนี้เป็นญาติสายโลหิตของข้าพระองค์
ก็ข้าพระองค์เห็นแล้ว มีความกรุณาต่อเขาว่า
ขอบุรุษผู้เลวทรามนี้อย่าตกนรกเลย
[๕๒๔] ข้าแต่กษัตริย์ลิจฉวี บุรุษผู้ทำกรรมชั่วนี้ตายจากอัตภาพนี้แล้ว
จักบังเกิดในนรกซึ่งแน่นขนัดไปด้วยสัตว์ผู้กระทำความชั่วไว้
เป็นนรกร้ายกาจ
มีความเร่าร้อนมาก เผ็ดร้อน น่ากลัว
[๕๒๕] หลาวนี้แหละยังดีกว่านรกนั้นมากมายหลายส่วน
ขอบุรุษนี้อย่าตกนรก ซึ่งมีแต่ทุกข์โดยส่วนเดียว
เผ็ดร้อนอย่างน่ากลัว รุนแรงยิ่ง
[๕๒๖] เพราะฟังคำของข้าพระองค์นี้แล้ว บุรุษนี้เป็นประหนึ่งว่า
น้อมจิตเข้าไปหาทุกข์ในนรก พึงละบาปเสียได้
เพราะฉะนั้น ข้าพระองค์จะไม่พูดในที่ใกล้เขาด้วยหวังว่า
ชีวิตของบุรุษนี้จงอย่าดับไปเพราะข้าพระองค์แต่ผู้เดียว
(เมื่อเปรตแสดงความประสงค์ของตนอย่างนี้แล้ว พระราชาทรงขอโอกาสเพื่อ
จะตรัสถามความเป็นไปของเปรตนั้นอีก จึงได้ตรัสคาถานี้ว่า)
[๕๒๗] เรื่องของบุรุษนี้ เรารู้แล้ว
แต่เราปรารถนาจะถามท่านถึงเรื่องอื่นบ้าง
ถ้าท่านให้โอกาสแก่เรา
เราจะถาม และท่านไม่ควรโกรธเรา
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๒๘] ข้าพระองค์ได้ให้ปฏิญญาไว้ในกาลนั้นแน่นอนแล้ว
จะไม่บอกแก่ผู้ที่ไม่เลื่อมใส
(แต่บัดนี้)ข้าพระองค์ไม่ประสงค์(จะบอก)
(แต่)มีวาจาที่ควรเชื่อถือได้ เพราะเหตุดังว่ามานี้
ขอเชิญพระองค์ตรัสถามข้าพระองค์ตามพระประสงค์
ข้าพระองค์จะทูลตอบเท่าที่จะทูลตอบได้
(เมื่อเปรตให้โอกาสเช่นนั้นแล้ว เจ้าอัมพสักขระลิจฉวีจึงตรัสถามว่า)
[๕๒๙] เราจะเชื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เห็นด้วยตา
ถ้าแม้นเราเห็นสิ่งนั้นแล้วไม่เชื่อ
ก็ขอให้ลงโทษถอดยศเราเถิด ยักษ์
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๐] นี้ขอจงเป็นสัจปฏิญญาของพระองค์ต่อข้าพระองค์
พระองค์ได้ทรงฟังธรรมแล้ว จงทรงได้ความเลื่อมใสดีงาม
ข้าพระองค์ต้องการทราบ มิได้มีจิตคิดประทุษร้าย
จักขอกราบทูลถวายทุกเรื่องที่พระองค์ได้สดับแล้วบ้าง
หรือไม่ได้สดับแล้วบ้าง แด่พระองค์ เท่าที่รู้มา
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๓๑] ท่านขี่ม้าขาวประดับประดาแล้ว
เข้าไปใกล้บุรุษที่ถูกเสียบด้วยหลาว
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๒] ที่ท่ามกลางเมืองไพสาลีนั้น
มีหลุมที่หนทางลื่น ข้าพระองค์มีจิตเลื่อมใส
จึงใส่หัวโคหัวหนึ่งลงไปในหลุมใช้เป็นสะพาน
[๕๓๓] ข้าพระองค์และบุคคลอื่น
เหยียบบนหัวโคนั้นเดินข้ามไปได้
ยานนี้น่าอัศจรรย์ น่าดู น่าชม นี้เป็นผลกรรมนั้น
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๓๔] ท่านมีรัศมีกายสว่างไสวทั่วทุกทิศ
และมีกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วทุกทิศ
เข้าถึงเทวฤทธิ์ มีอานุภาพมาก
แต่ยังเปลือยกายอยู่ นี้เป็นผลกรรมอะไร
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๕] เมื่อก่อน ข้าพระองค์ไม่เป็นคนมักโกรธ มีจิตผ่องใสเป็นนิตย์
พูดกับคนทั่วไปด้วยวาจาอ่อนหวาน ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีรัศมีกายเป็นทิพย์ สว่างไสวอยู่เนืองนิตย์
[๕๓๖] ข้าพระองค์เห็นยศและชื่อเสียงของผู้ที่ตั้งอยู่ในธรรม
มีจิตเลื่อมใส กล่าวสรรเสริญ ด้วยผลกรรมนั้น
ข้าพระองค์จึงมีกลิ่นทิพย์ฟุ้งไปเนือง ๆ
[๕๓๗] เมื่อพวกสหายของข้าพระองค์อาบน้ำที่ท่าน้ำ
ข้าพระองค์ลักเอาผ้าที่เขาซ่อนไว้บนบก
มีความประสงค์จะล้อเล่น แต่ไม่ได้มีจิตคิดประทุษร้าย
เพราะกรรมนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
และเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๓๘] ผู้ที่ทำบาปเล่น ๆ (โดยเห็นแก่ความสนุก)
นักปราชญ์ยังกล่าวว่ามีผลกรรมถึงเพียงนี้
แล้วผู้ที่จงใจทำบาปเล่า
นักปราชญ์ได้กล่าวว่าจะมีผลกรรมสักเพียงไหน
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๓๙] มนุษย์ทั้งหลายมีใจดำริชั่วร้าย
เป็นผู้เศร้าหมองทั้งทางกาย ทั้งทางวาจา
ตายไปจะต้องตกนรกในสัมปรายภพ อย่างไม่ต้องสงสัย
[๕๔๐] ส่วนชนเหล่าอื่นปรารถนาสุคติ
ยินดีให้ทาน เลี้ยงอัตภาพแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติในสัมปรายภพอย่างไม่ต้องสงสัย
(เมื่อเปรตชี้แจงจำแนกผลกรรมแต่โดยย่ออย่างนี้ พระราชาไม่ทรงเชื่อจึงตรัส
ถามว่า)
[๕๔๑] เราจะพึงรู้เรื่องนั้นโดยไม่ต้องอาศัยบุคคลอื่นอย่างไรว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เราเห็นอะไรแล้วจึงควรเชื่อ
หรือใครบ้างจะพึงช่วยชี้แจงให้เราเชื่อเรื่องนั้นได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๔๒] พระองค์ทรงเห็นและทรงสดับมาแล้วก็จงทรงเชื่อเถิดว่า
นี้เป็นผลกรรมดีและกรรมชั่ว
เมื่อกรรมดีและกรรมชั่วทั้งสองไม่มี
สัตว์ทั้งหลายที่ไปสู่สุคติหรือทุคติจะพึงมีได้อย่างไรเล่า
[๕๔๓] ถ้าสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกนี้ ไม่พึงทำกรรมดีและกรรมชั่ว
เหล่าสัตว์ในมนุษยโลกที่จะไปสุคติหรือทุคติ เลวบ้าง ประณีตบ้าง
ก็มีไม่ได้
[๕๔๔] แต่เพราะสัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลก
ได้ทำกรรมดีและกรรมชั่วไว้
ฉะนั้น สัตว์ทั้งหลายในมนุษยโลกจึงไปสุคติหรือทุคติ
เลวบ้าง ประณีตบ้าง
[๕๔๕] บัณฑิตทั้งหลายได้กล่าวกรรม
อันเป็นเหตุให้เสวยสุขและทุกข์ไว้ทั้งสองอย่าง
เทวดาเหล่านั้นห้อมล้อมเหล่าชนที่ได้รับผลอันเป็นเหตุให้เสวยสุข
ส่วนพวกคนพาลมักไม่เห็นกรรมและผลกรรมทั้งสอง
จึงถูกกรรมแผดเผาอยู่
[๕๔๖] ข้าพระองค์มิได้มีบุญกรรมที่ทำไว้ด้วยตนเอง
ทั้งไม่มีผู้ที่จะพึงถวายผ้านุ่ง ผ้าห่ม ที่นอน ข้าวและน้ำ แล้วอุทิศให้
เหตุนั้นข้าพระองค์จึงเป็นเปรตเปลือยกาย
มีความเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๔๗] ท่านยักษ์ จะพึงมีเหตุอะไร ๆ บ้างหนอ
ที่จะทำให้ท่านได้เครื่องนุ่งห่ม
เชิญบอกเราได้ ถ้ามีเหตุ
เรารับฟังคำที่มีเหตุควรเชื่อถือได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๔๘] เมืองไพสาลีนี้ มีภิกษุนามว่ากัปปิตกะ B
สำเร็จฌาน มีศีลบริสุทธิ์ เป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นแล้ว
คุ้มครองอินทรีย์ได้ สำรวมในพระปาติโมกข์
เยือกเย็น มีสัมมาทิฏฐิอันสูงสุด
[๕๔๙] เป็นผู้อ่อนโยน รู้ความประสงค์ของผู้ขอ ว่าง่าย
มีหน้าเบิกบาน มาดี ไปดี พูดโต้ตอบได้ดี
เป็นเนื้อนาบุญ มีเมตตาจิตเป็นประจำ
และเป็นทักขิไณยบุคคลของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
[๕๕๐] สงบระงับ กำจัดมิจฉาวิตกได้
หมดทุกข์ หมดตัณหา
หลุดพ้นแล้ว ปราศจากกิเลสเป็นเหตุเสียบแทง
ไม่ยึดถือว่าเป็นของเรา ไม่คด ไม่มีอุปธิ
หมดสิ้นกิเลสเป็นเหตุเนิ่นช้า
ได้บรรลุวิชชา ๓ มีความรุ่งเรือง
[๕๕๑] ไม่มีชื่อเสียงปรากฏ แม้ใคร ๆ เห็นก็ไม่รู้ว่าเป็นปราชญ์
ในหมู่ชนชาววัชชี เขาพากันเรียกท่านว่า ปราชญ์
ส่วนพวกยักษ์และเทวดารู้จักท่านว่า ผู้ไม่หวั่นไหว
มีกัลยาณธรรม เที่ยวไปในโลก
[๕๕๒] ถ้าพระองค์ทรงถวายผ้าคู่หนึ่งหรือสองคู่แก่พระมุนีนั้น
ทรงอุทิศส่วนบุญให้ข้าพระองค์
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และพระองค์ก็จะทอดพระเนตรเห็นข้าพระองค์ผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสถามว่า)
[๕๕๓] บัดนี้ สมณะนั้นอยู่ที่ไหน
เราไปแล้วจักพึงพบเห็นได้
และสมณะนั้น คือใคร จะพึงแก้ไขความสงสัยและความสนเท่ห์
ซึ่งเป็นเสี้ยนหนามแห่งความเห็นในวันนี้ได้
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๕๔] ท่านนั่งอยู่ที่กปินัจจนานั่น
มีเทวดาแวดล้อมเป็นจำนวนมาก
เป็นผู้มีเกียรติคุณอันแท้จริง
และเป็นผู้ไม่ประมาทในคุณอันอัศจรรย์ของตน
กล่าวธรรมีกถา
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๕๕] เราไปแล้วจักทำตามที่ท่านสั่งนั้นเดี๋ยวนี้
จักให้สมณะนุ่งห่มผ้าคู่หนึ่ง
พระมุนีนั้นจะพึงรับคู่ผ้าเหล่านั้น
และเราจะพึงเห็นท่านผู้นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๕๖] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี ขอประทานวโรกาส
ขอพระองค์อย่าได้เสด็จเข้าไปหาบรรพชิตในเวลาไม่สมควร
นั่นเป็นธรรมเนียมไม่เหมาะสำหรับพระองค์
และต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีตรัสว่า
เราจะเข้าไปพบบรรพชิตผู้นั่งอยู่ในที่ลับ ณ ที่นั้นในเวลาอันสมควร
(พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า)
[๕๕๗] ครั้นตรัสแล้วอย่างนี้ เจ้าลิจฉวีมีหมู่ข้าทาสบริพารแวดล้อม
เสด็จไปในพระนครนั้น
ครั้นเสด็จเข้าไปยังพระนครนั้นแล้ว
จึงเสด็จเข้าประทับอาศัยในพระราชนิเวศน์ของพระองค์
[๕๕๘] ต่อจากนั้น พระเจ้าลิจฉวีทรงกระทำกิจของคฤหัสถ์ทั้งหลาย
ทรงสรงสนาน และเสวยน้ำแล้ว
ได้เวลาอันสมควร จึงทรงเลือกผ้า ๘ คู่จากหีบ
รับสั่งให้หมู่ข้าทาสบริพารถือไป
[๕๕๙] พระองค์ ครั้นเสด็จเข้าไปยังสถานที่นั้นแล้ว
ได้ทอดพระเนตรเห็นสมณะนั้นมีจิตสงบระงับ
เดินกลับจากโคจรคาม เป็นผู้เยือกเย็น
นั่งอยู่ที่โคนต้นไม้
[๕๖๐] จึงเสด็จเข้าไปหาแล้วตรัสถามสมณะนั้น
ถึงความเป็นผู้มีอาพาธน้อย ความอยู่สำราญ
แล้วได้ตรัสกับสมณะนั้นว่า
พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเป็นกษัตริย์ลิจฉวี ในเมืองไพสาลี
ชนทั้งหลายรู้จักโยมว่า เจ้าอัมพสักขรลิจฉวี
[๕๖๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ ขอพระคุณเจ้าจงรับผ้า ๘ คู่นี้ของโยม
โยมถวายพระคุณเจ้า
โยมมาในที่นี้เพราะต้องการความสบายใจที่โยมจะพึงสบายใจ
(พระเถระทูลถามว่า)
[๕๖๒] สมณพราหมณ์ทั้งหลายพากันละเว้นราชนิเวศน์
ของมหาบพิตรเสียห่างไกล
เพราะในพระราชนิเวศน์ของพระองค์ บาตรก็แตก
และแม้ผ้าสังฆาฏิก็ยังถูกฉีกทำลาย
[๕๖๓] ครั้นต่อมา สมณะอีกพวกหนึ่งถูกมัดเท้าจับห้อยหัวลง
สมณะทั้งหลายได้รับการเบียดเบียน
ที่มหาบพิตรทรงกระทำกับบรรพชิตเช่นนั้น
[๕๖๔] มหาบพิตรไม่เคยพระราชทาน
แม้แต่น้ำมันสักหยดหนึ่งด้วยยอดหญ้า
ไม่ตรัสบอกทางให้คนหลงทาง
ชิงเอาไม้เท้าของคนตาบอดเสียเอง
เป็นคนตระหนี่ ไม่สำรวมเช่นนี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไร
หรือเพราะทรงเห็นอะไร
มหาบพิตร จึงทรงจำแนกแจกจ่ายให้แก่อาตมาเล่า
(เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีตรัสว่า)
[๕๖๕] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเบียดเบียนสมณะและพราหมณ์ทั้งหลาย
โยมขอรับผิดตามที่ท่านพูด
แต่โยมมีความประสงค์จะล้อเล่น ไม่ได้คิดประทุษร้าย
กรรมชั่วแม้นั้นโยมกระทำแล้วจริง
[๕๖๖] เด็กหนุ่มเปลือยกาย มีโภคะเพียงเล็กน้อย
ได้สร้างบาปกรรมด้วยการล้อเล่น จึงต้องเสวยทุกข์
ก็เปรตนั้นจะมีทุกข์อะไรเล่า
ที่เป็นทุกข์ยิ่งกว่าความเปลือยกายนั้น
[๕๖๗] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมเห็นสิ่งอันน่าสังเวช
และผลอันเป็นมลทินนั้นแล้ว
จึงถวายทานแม้เพราะเหตุนั้นเป็นปัจจัย
นิมนต์พระคุณเจ้ารับผ้าทั้ง ๘ คู่เถิด
ทักษิณา C นี้จงสำเร็จแก่เปรต
(พระเถระถวายพระพรว่า)
[๕๖๘] เพราะบัณฑิตทั้งหลายมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้น
สรรเสริญการให้ทานไว้โดยมากแท้
และเมื่อมหาบพิตรทรงถวายทาน ขอให้ทานอย่าหมดเปลืองไป
อาตมภาพรับผ้าของมหาบพิตรทั้ง ๘ คู่
ขอทักษิณาทานเหล่านี้จงสำเร็จแก่เปรต
[๕๖๙] ลำดับนั้น เจ้าลิจฉวีนั้น ทรงบ้วนพระโอษฐ์
ทรงถวายผ้า ๘ คู่แด่พระเถระ พระเถระรับผ้า ๘ คู่นั้นแล้ว
และเจ้าลิจฉวีนั้นก็ทอดพระเนตรเห็นเปรตนุ่งห่มผ้าเรียบร้อย
[๕๗๐] (เจ้าลิจฉวีนั้น)ได้ทอดพระเนตรเห็นเปรตนั้น
ลูบไล้ด้วยจุรณแก่นจันทน์แดง มีรูปงาม ประดับประดา
นุ่งผ้าอย่างดี ขี่ม้าอาชาไนย มีบริวารห้อมล้อม มีเทวฤทธิ์มาก
[๕๗๑] พระองค์ทรงเห็นเช่นนั้นแล้ว ทรงปลื้มพระหฤทัย เบิกบาน
มีพระหฤทัยร่าเริง งามสง่า
ได้ทรงเห็นกรรมและผลกรรมมากอย่างแจ้งประจักษ์ด้วยพระองค์เอง
[๕๗๒] จึงเสด็จเข้าไปหาเปรตนั้นแล้วรับสั่งกับเปรตนั้นว่า
เราจักให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลาย
สิ่งไร ๆ ที่เราไม่ควรให้ไม่มีเลย
และท่านมีอุปการะแก่เรามาก
(เปรตนั้นกราบทูลว่า)
[๕๗๓] ข้าแต่เจ้าลิจฉวี พระองค์ได้พระราชทานสิ่งของอย่างหนึ่ง
แก่ข้าพระองค์ ทานนั่นมิได้ไร้ผล
ข้าพระองค์นั้นซึ่งเป็นอมนุษย์
จักเป็นพยานร่วมกับพระองค์ผู้เป็นมนุษย์
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๗๔] ท่านเป็นตัวอย่าง เป็นพวกพ้อง เป็นที่ยึดเหนี่ยว
เป็นมิตรและเป็นเทพของเรา
เราขอไหว้ อ้อนวอนท่าน ต้องการจะพบท่านอีก
(เปรตกราบทูลว่า)
[๕๗๕] ถ้าพระองค์จักเป็นผู้ไม่มีศรัทธา
ยังกระด้างกระเดื่อง มีจิตดำเนินไปผิด D
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี พระองค์จักไม่ได้เห็นข้าพระองค์
และข้าพระองค์เห็นพระองค์แล้วก็จักไม่เจรจาด้วย
[๕๗๖] แต่ถ้าพระองค์จักทรงเคารพธรรม
ยินดีบริจาคทานเครื่องบำรุงอัตภาพ
เป็นเสมือนบ่อน้ำของสมณพราหมณ์ทั้งหลาย
ขอเดชะเจ้าลิจฉวี เมื่อเป็นดังนี้ พระองค์จักได้เห็นข้าพระองค์
[๕๗๗] และข้าพระองค์จักได้เห็นได้เจรจากับพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงปล่อยบุรุษนี้จากหลาวโดยเร็ว
เพราะการมาหาบุรุษนี้เป็นเหตุ
เราทั้งสองได้เป็นพยานร่วมกัน
เพราะเหตุแห่งบุรุษถูกเสียบที่หลาว ข้าพระองค์เข้าใจว่า
[๕๗๘] เราทั้งสองนั้นได้เป็นพยานร่วมกัน
ฝ่ายบุรุษถูกเสียบที่หลาวนี้ ถูกปล่อยโดยเร็วโดยทันที
แล้วประพฤติธรรมโดยเคารพ
พึงพ้นจากนรกนั้นแน่นอน
กรรมที่เว้นการให้ผล E ก็พึงมีได้
[๕๗๙] พระองค์เสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุแล้ว
ทรงถวายทานแก่ท่าน ในเวลาที่สมควร
ประทับนั่งใกล้แล้วเชิญตรัสถามด้วยพระโอษฐ์เอง
ท่านจักทูลความข้อนั้นแก่พระองค์
[๕๘๐] พระองค์ทรงประสงค์บุญ และมีจิตไม่ประทุษร้าย
เชิญเสด็จเข้าไปหาภิกษุนั้นแล้วตรัสถามเถิด
ท่านจักทูลธรรมทั้งที่ทรงสดับแล้ว
และยังไม่ได้ทรงสดับทั้งหมดแด่พระองค์ตามความรู้
(พระองค์ทรงสดับธรรมแล้วจักได้ตรัสบอกสุคติ)
[๕๘๑] ท้าวเธอทรงเจรจาความลับในที่นั้นแล้ว
ได้เป็นพยานร่วมกับเปรต เสด็จหลีกไป
ครั้นแล้วท้าวเธอได้กล่าวกับข้าราชบริพารของกษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลาย
ซึ่งนั่งประชุมกันอยู่ใกล้ ๆ ว่า
[๕๘๒] ท่านผู้เจริญทั้งหลาย โปรดฟังคำอย่างหนึ่งของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าจักเลือกพร จักได้ประโยชน์
บุรุษที่ถูกเสียบที่หลาว มีกรรมหยาบช้า
ถูกลงอาชญา มีสภาพที่จะต้องติดอยู่ร่ำไป
[๕๘๓] เขาถูกหลาวเสียบมาอย่างนี้ประมาณ ๒๐ ราตรี
จะตายหรือไม่ตาย เราจักปล่อยเขาด้วยความเต็มใจ
หมู่ชนจงอนุญาตตามชอบใจ
[๕๘๔] พระองค์โปรดจงรีบปล่อยบุรุษนั้นและบุรุษอื่นโดยเร็ว
และใครเล่าจะพึงว่ากล่าวพระองค์ผู้ทรงทำอย่างนั้นอยู่ได้
พระองค์ทรงทราบอย่างไร ขอจงทรงทำอย่างนั้น
หมู่ชนย่อมอนุญาตตามชอบใจ
[๕๘๕] เจ้าลิจฉวีนั้นเสด็จเข้าไปยังสถานที่นั้นแล้ว
ทรงรีบปล่อยบุรุษที่ถูกหลาวเสียบ
และได้ตรัสกับบุรุษนั้นว่า อย่ากลัวเลยเพื่อน
และรับสั่งให้พวกหมอพยาบาลรักษา
[๕๘๖] แล้วเสด็จเข้าไปหากัปปิตกภิกษุ
ทรงถวายทานแก่ท่านในเวลาที่สมควร
มีพระประสงค์จะทรงทราบเหตุ จึงประทับนั่งใกล้
แล้วได้รับสั่งถามท่าน ณ ที่นั้นนั่นแหละด้วยพระองค์เองว่า
[๕๘๗] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ มีกรรมหยาบช้า
ถูกลงอาชญา มีสภาพจะต้องติดอยู่ร่ำไป
เขาถูกเสียบอย่างนี้ประมาณ ๒๐ ราตรี จะตายหรือไม่ตาย
[๕๘๘] โยมไปปล่อยเขามาเดี๋ยวนี้ตามคำของเปรตนั้น
พระคุณเจ้าผู้เจริญ จะพึงมีเหตุอะไรหรือ
ที่เปรตนั้นไม่ต้องตกนรก
[๕๘๙] ถ้ามีเหตุขอนิมนต์ท่านบอกโยมเถิด พระคุณเจ้าผู้เจริญ
โยมกำลังรอฟังคำมีเหตุที่น่าเชื่อถืออยู่
(กัปปิตกภิกษุถวายพระพรว่า)
เพราะยังไม่ได้เสวย
ผลกรรมเหล่านั้นจะไม่มีการสูญหาย
ภาวะที่กรรมเหล่านั้นจะสูญสิ้นไปจะพึงมีได้ในโลกนี้
[๕๙๐] ถ้าเขาประพฤติธรรมสม่ำเสมอโดยเคารพ
ไม่ประมาททั้งคืนทั้งวัน
เขาจะพึงพ้นจากนรกนั้นไปได้
และกรรมที่เว้นการให้ผล พึงมีได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๙๑] พระคุณเจ้าผู้เจริญ โยมรู้ประโยชน์ของบุรุษนี้อย่างทั่วถึง
บัดนี้ ขอพระคุณเจ้าจงอนุเคราะห์โยมบ้าง
ขอได้กล่าวตักเตือนพร่ำสอนโยม
โดยวิธีที่โยมไม่พึงตกนรกด้วยเถิด
ท่านผู้มีปัญญากว้างขวาง
(กัปปิตกภิกษุถวายพระพรว่า)
[๕๙๒] วันนี้ ขอมหาบพิตรจงมีพระหฤทัยเลื่อมใส
ถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง
อนึ่ง จงทรงศึกษาสมาทานสิกขาบท ๕ ประการ
ไม่ให้ขาดและไม่ให้บกพร่อง คือ
[๕๙๓] จงทรงงดเว้นจากการฆ่าสัตว์โดยพลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์ ไม่ตรัสเท็จ
และทรงยินดีเฉพาะพระมเหสีของพระองค์
อนึ่ง ขอจงทรงสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
[๕๙๔] ขอพระองค์จงทรงถวายจีวร บิณฑบาต
คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง ข้าว น้ำ ของกิน ของเคี้ยว
ผ้า และที่อยู่อาศัย ในท่านผู้ปฏิบัติตรงทั้งหลาย
บุญย่อมเจริญทุกเมื่อ
[๕๙๕] ทรงอังคาสภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ปราศจากราคะ
เป็นพหูสูต ให้อิ่มหนำด้วยข้าวและน้ำ บุญจึงเจริญทุกเมื่อ
[๕๙๖] ผู้ที่ประพฤติธรรมสม่ำเสมอโดยเคารพ
ไม่ประมาททั้งคืนทั้งวันอย่างนี้ พึงพ้นจากนรกนั้น
และกรรมที่เว้นการให้ผลพึงมีได้
(พระราชาตรัสว่า)
[๕๙๗] วันนี้แหละ โยมมีจิตเลื่อมใส ขอถึงพระพุทธเจ้า
พระธรรม และพระสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
อนึ่ง ขอศึกษาสมาทานสิกขาบท ๕ ประการ
ไม่ให้ขาดและไม่ให้บกพร่อง คือ
[๕๙๘] ของดเว้นจากการฆ่าสัตว์พลัน
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งที่เจ้าของไม่ได้ให้ในโลก
ไม่ดื่มน้ำเมา ไม่กล่าวเท็จ
และยินดีเฉพาะภรรยาของตน
อนึ่ง ขอสมาทานอุโบสถศีลประกอบด้วยองค์ ๘
อย่างประเสริฐนี้ ซึ่งเป็นกุศล มีสุขเป็นกำไร
[๕๙๙] โยมจะถวายจีวร บิณฑบาต คิลานปัจจัย ที่นอน ที่นั่ง
ข้าว น้ำ ของกินของเคี้ยว ผ้า และที่อยู่อาศัย
[๖๐๐] โยมยินดีในพระพุทธศาสนา ไม่หวั่นไหว
จะถวายแก่ภิกษุทั้งหลายผู้สมบูรณ์ด้วยศีล
ปราศจากราคะ เป็นพหูสูต
[๖๐๑] เจ้าอัมพสักขรลิจฉวีทรงเป็นอุบาสกคนหนึ่งในเมืองไพสาลี
ทรงมีศรัทธา และมีพระหฤทัยอ่อนโยนเช่นนั้น
ทรงทำอุปการะ บำรุงพระภิกษุสงฆ์โดยเคารพในกาลนั้น
[๖๐๒] บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบ หายโรค
มีอิสระ สบายดี ได้บรรพชาแล้ว
แม้คนทั้งสองอาศัยกัปปิตกภิกษุผู้ประเสริฐ ได้บรรลุสามัญญผล F
[๖๐๓] การคบสัตบุรุษเช่นนี้ย่อมมีผลมากแก่สัตบุรุษทั้งหลายผู้รู้แจ้งอยู่
บุรุษผู้ถูกหลาวเสียบได้บรรลุอรหัตตผล
ส่วนเจ้าอัมพสักขรลิจฉวีได้บรรลุโสตาปัตติผล
อัมพสักขรเปตวัตถุที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A เจ้าลิจฉวีองค์นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ นับถือลัทธินัตถิกวาทว่า ‘ไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย ทำดีทำชั่วไม่มีผล’ (ขุ.เป.อ.
๑๒๑/๒๒๙)
B เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ในจำนวนอดีตชฎิล ๑,๐๐๐ รูป ท่านเป็นอุปัชฌาย์ของท่านพระอุบาลีเถระ (ขุ.เป.อ.
๕๔๘/๒๔๕)
C ทานที่ให้โดยเชื่อกรรมและผลแห่งกรรม,หรือไทยธรรมที่ถวายแก่ท่านผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ เพื่อประโยชน์
แก่เปตชน
D มีจิตเป็นมิจฉาทิฏฐิ ละทางถูกไปปฏิบัติทางผิด (ขุ.เป.อ. ๕๗๕/๒๕๘)
E กรรมที่เว้นผลอันบุคคลพึงเสวยในภพต่อ ๆ ไป (อโหสิกรรม) พึงมีได้ เมื่อยังมีการเวียนว่ายตายเกิด (ขุ.เป.อ.
๕๙๐/๒๕๙)
F สามัญญผล แปลว่า ผลแห่งความเป็นสมณะ ความเป็นสมณะ หมายถึงการบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา
พระผู้มีพระภาคทรงพิสูจน์ให้เห็นชัดว่า การบวชได้ผลเห็นประจักษ์ (หมายถึงการบรรลุมรรค ๔ ผล ๔
นิพพาน ๑ ไปตามลำดับ) (สุตฺต ๙/๒๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!