25-579 เพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
พระไตรปิฎก
ปารายนานุคีติคาถา A
ว่าด้วยเพลงขับตามธรรมเป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
{๔๔๓} [๑๑๓๘] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวแก่พราหมณ์พาวรีท่ามกลางชุมชนดังนี้)
อาตมภาพจักกล่าวบทขับที่เป็นเหตุให้ถึงฝั่ง
ตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ปราศจากมลทิน
พระปัญญาอันไพบูลย์ ปราศจากกาม
ทรงไร้กิเลสดังป่า ผู้เป็นนาคะ
ทรงเห็นอย่างใดก็ตรัสบอกอย่างนั้น
จะพึงตรัสคำเท็จเพราะเหตุแห่งอะไรเล่า
[๑๑๓๙] อาตมภาพจักกล่าวถ้อยคำที่ประกอบด้วยคำสรรเสริญ
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงละมลทินและโมหะได้แล้ว
ผู้ทรงละความถือตัวและความลบหลู่ได้ ณ บัดนี้
[๑๑๔๐] ท่านพราหมณาจารย์ พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้า
ทรงเป็นผู้กำจัดความมืด มีสมันตจักขุ
ทรงถึงที่สุดโลก ทรงล่วงภพได้ทั้งหมด
ไม่มีอาสวะ ทรงละทุกข์ทั้งปวงได้แล้ว
ทรงมีชื่อตามความจริง อาตมภาพได้เข้าเฝ้ามาแล้ว
[๑๑๔๑] นกพึงละป่าเล็กแล้วมาอาศัยป่าใหญ่ที่มีผลไม้มาก ฉันใด
อาตมภาพก็ฉันนั้น ละคณาจารย์ผู้มีทัสสนะแคบ B
ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
เหมือนหงส์โผลงสู่สระใหญ่ ฉะนั้น
[๑๑๔๒] ก่อนแต่ศาสนาของพระโคดม
อาจารย์เจ้าลัทธิเหล่าใดเคยตอบแก่อาตมภาพว่า
เหตุนี้ได้เป็นมาแล้วอย่างนี้ จักเป็นอย่างนี้
คำตอบทั้งหมดนั้น เป็นคำที่เชื่อสืบต่อกันมา
คำตอบทั้งหมดนั้นมีแต่จะทำให้ตรึกไปต่าง ๆ
(อาตมภาพจึงไม่ยินดียิ่งในคำตอบนั้น)
[๑๑๔๓] พระโคดมทรงเป็นเอกบุรุษ ประทับนั่ง
ทำลายความมืดอยู่ ทรงรุ่งเรือง ทรงแผ่รัศมี
พระโคดมผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์
[๑๑๔๔] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๕] (พราหมณ์พาวรีกล่าวกับท่านพระปิงคิยะดังนี้)
ท่านปิงคิยะ เพราะเหตุไรหนอ
ท่านจึงอยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์ ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่
[๑๑๔๖] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่ท่าน
[๑๑๔๗] (ท่านพระปิงคิยะกล่าวดังนี้)
ท่านพราหมณ์ อาตมภาพ
มิได้อยู่ปราศจากพระโคดมพระองค์นั้น
ผู้มีพระญาณอันไพบูลย์
ผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ สิ้นกาลชั่วครู่
[๑๑๔๘] ธรรมใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดทรงแสดงธรรม
ที่บุคคลเห็นได้เอง ไม่จำกัดกาล
เป็นที่สิ้นตัณหา ไม่มีอันตรายแก่อาตมภาพ
[๑๑๔๙] ท่านพราหมณ์ อาตมภาพไม่ประมาททั้งกลางคืนและกลางวัน
เห็นพระโคดมพุทธเจ้าพระองค์นั้นด้วยใจเหมือนเห็นด้วยตา
อาตมภาพนอบน้อมพระองค์อยู่ตลอดราตรี
อาตมภาพเข้าใจความไม่อยู่ปราศจากพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น
[๑๑๕๐] ธรรมเหล่านี้ คือ สัทธา ปีติ มนะ และสติ
ย่อมไม่หายไปจากศาสนาของพระโคดมพุทธเจ้า
พระโคดมผู้มีพระปัญญาอันไพบูลย์ เสด็จไปสู่ทิศใด ๆ
อาตมภาพเป็นผู้น้อมไปทางทิศนั้น ๆ นั่นแล
[๑๑๕๑] อาตมภาพชราแล้ว มีกำลังและเรี่ยวแรงน้อย
เพราะเหตุนั้นแล ร่างกายจึงไปในสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ไม่ได้
แต่อาตมภาพไปเฝ้าพระองค์เป็นนิตย์ โดยการไปด้วยความดำริ
ท่านพราหมณ์ เพราะว่าใจของอาตมภาพเกาะเกี่ยวอยู่กับสถานที่
ที่พระผู้มีพระภาคประทับอยู่นั้น
[๑๑๕๒] อาตมภาพนอนดิ้นรนอยู่ในเปือกตม C
ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่ง D
ครั้นต่อมา อาตมภาพได้เฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ไม่มีอาสวะ
[๑๑๕๓] (พระผู้มีพระภาคเสด็จมาตรัสดังนี้)
วักกลิ ภัทราวุธ และอาฬวิโคดม
เป็นผู้มีศรัทธาน้อมไปแล้ว ฉันใด
แม้เธอก็จงปล่อยวางศรัทธา ฉันนั้นเหมือนกัน
ปิงคิยะ เธอจักถึงฝั่งโน้น(ฝั่งตรงข้าม)แห่งบ่วงมัจจุราช
[๑๑๕๔] (ท่านพระปิงคิยะกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์นี้ฟังพระดำรัสของพระมุนีแล้วเลื่อมใสอย่างยิ่ง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีกิเลสเครื่องปิดบังอันเปิดแล้ว
ไม่ทรงมีกิเลสดุจตะปูตรึงใจ ทรงมีปฏิภาณ
[๑๑๕๕] พระผู้มีพระภาคทรงรู้ชัดอธิเทพ E
ทรงรู้ธรรมที่ทำความเป็นอธิเทพของพระองค์และของคนอื่นทั้งปวง
ผู้ทำส่วนสุดแห่งปัญหาทั้งหลาย
เพื่อเหล่าชนผู้มีความสงสัยให้กลับรู้ได้
[๑๑๕๖] สภาวะใดไม่มีอะไร ๆ ที่ไหนเปรียบได้
สภาวะนั้นอันอะไรนำไปมิได้ ไม่กำเริบ
ข้าพระองค์จักถึงสภาวะนั้นแน่แท้
ความสงสัยในสภาวะนั้นไม่มีแก่ข้าพระองค์
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นผู้มีจิตน้อมไปในสภาวะนั้นแล้ว ด้วยประการฉะนี้แล
ปารายนวรรคที่ ๕ จบ
สุตตุททานคาถา
สรุปคาถาที่มีในสุตตนิบาต
(๑-๒) ในวรรคที่ ๑ มี
๑. อุรคสูตร
๒. ธนิยสูตร
๓. ขัคควิสาณสูตร
๔. กสิภารทวาชสูตร
๕. จุนทสูตร
๖. ปราภวสูตร
๗. วสลสูตร
๘. เมตตสูตร
๙. เหมวตสูตร
๑๐. อาฬวกสูตร
๑๑. วิชยสูตร
๑๒. มุนิสูตร
รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๑ นี้ที่มีเนื้อความประเสริฐสุดได้ ๑๒ สูตร พระผู้มี
พระภาคผู้ทรงมีพระจักษุทรงปราศจากมลทิน ทรงจำแนกแสดงไว้ดีแล้ว บัณฑิต
ทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า อุรควรรค
(๓-๔) ในวรรคที่ ๒ มี
๑. รตนสูตร
๒. อามคันธสูตร
๓. หิริสูตร
๔. มงคลสูตร
๕. สูจิโลมสูตร
๖. ธัมมจริยสูตร
๗. พราหมณธัมมิกสูตร
๘. นาวาสูตร
๙. กิงสีลสูตร
๑๐. อุฏฐานสูตร
๑๑. ราหุลสูตร
๑๒. วังคีสสูตร
๑๓. สัมมาปริพพาชนียสูตร
๑๔. ธัมมิกสูตร
รวมเรื่องพระสูตรในวรรคที่ ๒ นี้ ได้ ๑๔ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า จูฬวรรค
(๕-๖) ในวรรคที่ ๓ มี
๑. ปัพพัชชาสูตร
๒. ปธานสูตร
๓. สุภาสิตสูตร
๔. สุนทริกภารทวาชสูตร
๕. มาฆสูตร
๖. สภิยสูตร
๗. เสลสูตร
๘. สัลลสูตร
๙. วาเสฏฐสูตร
๑๐. โกกาลิกสูตร
๑๑. นาลกสูตร
๑๒. ทวยตานุปัสสนาสูตร
รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๓ นี้ ได้ ๑๒ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนกไว้
ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายต่างสดับกันมาว่า มหาวรรค
(๗-๘) ในวรรคที่ ๔ มี
๑. กามสูตร
๒. คุหัฏฐกสูตร
๓. ทุฏฐัฏฐกสูตร
๔. สุทธัฏฐกสูตร
๕. ปรมัฏฐกสูตร
๖. ชราสูตร
๗. ติสสเมตเตยยสูตร
๘. ปสูรสูตร
๙. มาคันทิยสูตร
๑๐. ปุราเภทสูตร
๑๑. กลหวิวาทสูตร
๑๒. จูฬวิยูหสูตร
๑๓. มหาวิยูหสูตร
๑๔. ตุวฏกสูตร
๑๕. อัตตทัณฑสูตร
๑๖. สารีปุตตสูตร
รวมเรื่องพระสูตรที่มีในวรรคที่ ๔ นี้ ได้ ๑๖ สูตร พระผู้มีพระภาคทรงจำแนก
ไว้ดีแล้ว บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่า อัฏฐกวรรค
(๙) พระผู้มีพระภาคผู้ประเสริฐสุดในคณะ
ประทับอยู่ ณ ปาสาณกเจดีย์ที่ประเสริฐซึ่งตกแต่งไว้อย่างดี
ในมคธชนบทอันน่ารื่นรมย์ มีภูมิประเทศสวยงาม
เป็นที่อยู่อาศัยของบุคคลที่เคยสร้างบุญไว้
(๑๐) ทราบว่า พระผู้มีพระภาคอันพราหมณ์ผู้เป็นมาณพ ๑๖ คน
กราบทูลถามแล้ว ได้ทรงประกาศประทานธรรม
แก่ชนทั้ง ๒ พวกที่มาประชุมกันแน่นขนัด ณ ปาสาณกเจดีย์
กินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ เพราะการถามโสฬสปัญหา
(๑๑) พระผู้มีพระภาคผู้ทรงชนะมาร
ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงธรรมที่ประกาศอรรถ บริบูรณ์ด้วยพยัญชนะ
เป็นบ่อเกิดแห่งความเกษมอย่างยิ่ง
เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลก
พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันหลากหลายด้วยธรรมจำนวนมาก
ซึ่งเป็นเหตุให้ปลดเปลื้องกิเลสทั้งปวง
(๑๒) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันประกอบด้วยบทแห่งพยัญชนะและอรรถ
มีการเปรียบเทียบที่หมายรู้ด้วยอักขระซึ่งแน่นอน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๓) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๔) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ อันไม่มีมลทิน
เพราะมลทินคือกิเลส มลทินคือทุจริต
เป็นส่วนแห่งธรรมที่ปราศจากมลทิน
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๕) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐเป็นเหตุปลดเปลื้องอาสวะ
กิเลสเป็นเครื่องผูกพัน และกิเลสเป็นเครื่องประกอบ
เป็นเหตุปลดเปลื้องนิวรณ์และมลทินทั้ง ๓ ของชาวโลกนั้น
(๑๖) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหามลทินไม่ได้
เป็นเครื่องบรรเทาความเศร้าหมองทุกอย่าง
เป็นเครื่องคลายความกำหนัด ไม่มีความหวั่นไหว
หมดความเศร้าโศก เป็นธรรมสงบ ประณีต และรู้เห็นได้ยาก
(๑๗) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งหักรานราคะและโทสะให้สงบ
เป็นเครื่องตัด เป็นเครื่องต้านทาน
และเป็นเครื่องพ้นกำเนิด ทุคติ วิญญาณ ๕
และความยินดีที่มีตัณหาเป็นพื้นฐาน
(๑๘) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐอันลึกซึ้ง
รู้เห็นได้ยาก และละเอียดอ่อน
มีอรรถอันลุ่มลึกซึ่งรู้ได้เฉพาะบัณฑิต
เป็นส่วนทำวิจารณญาณของชาวโลกให้แจ่มแจ้ง
(๑๙) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ
ดุจดอกไม้เครื่องประดับที่คงทน ๙ ชนิด
อันจำแนกอินทรีย์ ฌาน และวิโมกข์ อันมรรคมีองค์ ๘
เป็นยานเครื่องนำไปอย่างประเสริฐ
(๒๐) พระผู้มีพระภาค ผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐซึ่งปราศจากมลทิน
บริสุทธิ์เปรียบเหมือนดวงจันทร์
วิจิตรด้วยรัตนะ เปรียบเหมือนห้วงน้ำ
เสมอด้วยดอกไม้ มีเดชเปรียบดังดวงอาทิตย์
(๒๑) พระผู้มีพระภาคผู้เลิศกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ได้ทรงแสดงพระสูตรที่ประเสริฐ ปลอดโปร่ง เกษม
ให้ความสุข ฉ่ำเย็น สงบ
เป็นเครื่องต้านทานมัจจุราชอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างสูง
เป็นเหตุให้ชาวโลกนั้นรู้แจ้งเห็นจริงซึ่งสภาวธรรมที่ดับกิเลสได้แล้ว
สุตตนิบาต จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๕๖-๑๗๔/๓๘-๔๒
B ทัสสนะแคบ ในที่นี้หมายถึงมีปัญญาน้อย (ขุ.สุ.อ. ๒/๑๑๔๑/๔๕๖)
C เปือกตม ในที่นี้หมายถึงกาม (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๐)
D ลอยจากเกาะหนึ่งไปสู่เกาะหนึ่ง หมายถึงละจากคำสอนของศาสดาหนึ่ง
ไปหาคำสอนของศาสดาหนึ่ง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๖/๓๘๒)
E อธิเทพ หมายถึงเทพ ๓ จำพวก คือ
(๑) สมมติเทพ เทวดาโดยสมมติ ได้แก่ พระราชา พระราชกุมาร พระราชเทวี
(๒) อุปัตติเทพ เทวดาโดยกำเนิด ได้แก่ เทวดาชั้นจาตุมหาราช เป็นต้น
(๓) วิสุทธิเทพ เทวดาโดยความบริสุทธิ์ ได้แก่ พระตถาคต สาวกของพระตถาคต
พระอรหันตขีณาสพ พระปัจเจกพุทธเจ้า (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๑๙/๓๘๗-๓๘๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต