25-568 ปัญหาของนันทมาณพ



พระไตรปิฎก


๗. นันทมาณวกปัญหา A
ว่าด้วยปัญหาของนันทมาณพ

{๔๓๑} [๑๐๘๔] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
ชนทั้งหลายกล่าวว่า มุนีทั้งหลายมีอยู่ในโลก
คำกล่าวนี้นั้นเป็นอย่างไร
ชนทั้งหลายย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยญาณ B
หรือว่าย่อมเรียกบุคคลผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ C ว่า เป็นมุนี
[๑๐๘๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
นันทะ ชนทั้งหลายผู้ฉลาดในโลกนี้
ย่อมไม่เรียกบุคคลว่า เป็นมุนี
เพราะได้เห็น ได้ฟังและได้รู้
เราเรียกเหล่าชนผู้กำจัดเสนามารได้แล้ว
ผู้ไม่มีทุกข์ ไม่มีความหวัง เที่ยวจาริกอยู่ว่า เป็นมุนี
[๑๐๘๖] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
เพราะศีลและวัตรบ้าง เพราะพิธีหลากหลายบ้าง
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
สมณพราหมณ์พวกนั้นผู้ประพฤติตนเคร่งครัดในหลักการของตนนั้น
ข้ามชาติและชราได้บ้างหรือไม่
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๗] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
สมณพราหมณ์พวกนั้นประพฤติตนเคร่งครัด
ในหลักการของตนนั้นก็จริง
แต่เรากล่าวว่า พวกเขายังข้ามชาติและชราไปไม่ได้
[๑๐๘๘] (นันทมาณพทูลถามดังนี้)
สมณพราหมณ์บางพวกย่อมกล่าวความหมดจด
เพราะรูปที่เห็นบ้าง เพราะเสียงที่ได้ยินบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตรบ้าง
ย่อมกล่าวความหมดจดเพราะพิธีหลากหลายบ้าง
หากพระองค์ผู้เป็นพระมุนีตรัสว่า
สมณพราหมณ์พวกนั้นยังข้ามห้วงกิเลสไม่ได้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนั้น
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลก
ชื่อว่าข้ามชาติและชราไปได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๘๙] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า นันทะ)
เราย่อมไม่กล่าวว่า สมณพราหมณ์ทั้งหมด
ถูกชาติและชราโอบล้อม
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว D เป็นผู้หมดอาสวะ
เรากล่าวว่า นรชนเหล่านั้นแลชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้แล้ว
[๑๐๙๐] (นันทมาณพกราบทูลดังนี้)
ข้าพระองค์ชอบใจพระดำรัสนี้ของพระองค์
ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ข้าแต่พระโคดม นิพพานที่ปราศจากอุปธิ พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
นรชนเหล่าใดในโลกนี้ละรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
อารมณ์ที่ได้รับรู้ หรือศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ทั้งละพิธีหลากหลายทั้งปวง
กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว เป็นผู้หมดอาสวะ
แม้ข้าพระองค์ก็กล่าวว่า นรชนเหล่านั้นชื่อว่า ข้ามห้วงกิเลสได้
นันทมาณวกปัญหาที่ ๗ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๐๒-๑๐๘/๒๒-๒๔
B ผู้เป็นไปด้วยญาณ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยญาณในสมาบัติ ๘
หรือ ญาณในอภิญญา ๕ (ขุ.จู. (แปล)๓๐/๔๖/๑๙๖)
C ผู้เป็นไปด้วยความเป็นอยู่ หมายถึงผู้เพียบพร้อมด้วยความเพียรของบุคคล
ผู้ดำเนินชีวิตเศร้าหมอง ผู้ทำกิจที่ทำได้ยากยิ่งหลายอย่าง
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๔๖/๑๙๖)
D กำหนดรู้ตัณหาได้แล้ว หมายถึงกำหนดรู้ตัณหาได้ด้วยปริญญา ๓ อย่าง คือ
(๑) ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก คือรู้ว่า นี้คือรูปตัณหาเป็นต้น
(๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา คือ พิจารณาตัณหาโดย
ความเป็นของไม่เที่ยง
(๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ขั้นละ คือ ละตัณหาให้ได้เด็ดขาด
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๑/๒๑๐)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!