25-564 ปัญหาของปุณณกมาณพ



พระไตรปิฎก


๓. ปุณณกมาณวกปัญหา A
ว่าด้วยปัญหาของปุณณกมาณพ

{๔๒๗} [๑๐๕๐] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าพระองค์มีปัญหาจะทูลถาม จึงมาเฝ้าพระองค์
ผู้ไม่มีตัณหาเหตุให้หวั่นไหว ผู้มีปกติเห็นมูล
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
อาศัยอะไร จึงพากันบูชายัญ B แก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์ตรัสตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๑] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ฤๅษี มนุชะ C กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ปุณณกะ ชนเหล่านั้นหวังความเป็นอย่างนี้ D
อาศัยชราจึงพากันบูชายัญ
[๑๐๕๒] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ฤๅษี มนุชะ กษัตริย์ และพราหมณ์จำนวนมากในโลกนี้
พากันบูชายัญแก่เทวดาทั้งหลาย
ข้าแต่พระผู้มีพระภาคผู้นิรทุกข์
ชนเหล่านั้นเป็นผู้ไม่ประมาทแล้วในการบูชายัญ
ได้ข้ามพ้นชาติและชราบ้างไหม
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๓] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
ชนเหล่านั้นหวัง ชื่นชม มุ่งหวัง จึงพากันบูชายัญ
เพราะอาศัยลาภจึงมุ่งหวังกาม
เรากล่าวว่า ชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
เป็นผู้กำหนัดยินดีในภพ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้
[๑๐๕๔] (ปุณณกมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์
ถ้าชนเหล่านั้นผู้ประกอบการบูชายัญ
ข้ามพ้นชาติและชราไปไม่ได้ด้วยยัญทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าในเทวโลกและมนุษยโลกข้ามชาติและชราได้
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าพระองค์ขอทูลถามปัญหานั้น
ขอพระองค์โปรดตรัสตอบปัญหานั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๕๕] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ปุณณกะ)
เรากล่าวว่า บุคคลใดไม่มีความหวั่นไหวในโลกไหน ๆ
เพราะทราบชัดฝั่งนี้และฝั่งโน้น E ในโลก
บุคคลนั้นเป็นผู้สงบ ปราศจากควัน F ไม่มีทุกข์
ไม่มีความหวัง ชื่อว่า ข้ามชาติและชราได้แล้ว G
ปุณณกมาณวกปัญหาที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๖๘-๗๓/๑๔-๑๕
B ยัญ ในที่นี้หมายถึงไทยธรรม ได้แก่ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ
คิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ข้าว น้ำ ผ้า ยาน พวงดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้
ที่นอน ที่พัก เครื่องประทีป (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒/๘๘)
C มนุชะ คือผู้ที่เกิดจากพระมนู (ขุ.ม.อ. ๑/๒๖)
D หวังความเป็นอย่างนี้ หมายถึงปรารถนาการบังเกิดเป็นมนุษย์ เป็นเทพ เป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒/๑๐๕๑/๔๓๗)
E ฝั่งนี้และฝั่งโน้น ในที่นี้หมายถึงอัตภาพของตนและอัตภาพของผู้อื่น
(องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล)๓๐/๑๗/๑๐๔)
F ควัน หมายถึงความประพฤติชั่วทางกาย วาจา และใจ
(องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๕)
G ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๓๒/๑๘๕, องฺ.จตุกฺก. (แปล) ๒๑/๔๑/๗๐,
ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๗/๑๐๓

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!