25-562 ปัญหาของอชิตมาณพ



พระไตรปิฎก


๑. อชิตมาณวกปัญหา A
ว่าด้วยปัญหาของอชิตมาณพ

{๔๒๕} [๑๐๓๙] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
โลกถูกอะไรเล่าหุ้มห่อไว้
เพราะอะไรเล่า โลกจึงไม่สดใส
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกว่า
อะไร เป็นเครื่องฉาบทาโลกนี้ไว้
อะไรเล่า เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๐] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
โลกถูกอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่สดใสเพราะความตระหนี่ B และความประมาท
เราเรียกความอยากว่า เป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้
ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น
[๑๐๔๑] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
กระแส C ทั้งหลายย่อมไหลไปในที่ทั้งปวง D
อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมเป็นเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
อะไรปิดกั้นกระแสทั้งหลายได้
[๑๐๔๒] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
กระแสเหล่าใดในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้นได้
เรากล่าวธรรมเครื่องป้องกันกระแสทั้งหลาย
ปัญญาปิดกั้นกระแสเหล่านั้นได้
[๑๐๔๓] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ปัญญา สติ
นาม E และรูป F นี้ ดับที่ไหน
ข้าพระองค์ได้ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ตรัสบอกเนื้อความนั้นแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด
[๑๐๔๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า อชิตะ)
เธอได้ถามปัญหานั้นใด
เราจะกล่าวแก้ปัญหานั้นแก่เธอ
นามและรูปดับไม่มีส่วนเหลือในที่ใด
นามและรูปนั้นดับไปในที่นั้นเพราะวิญญาณดับ
[๑๐๔๕] (อชิตมาณพทูลถามดังนี้)
พระอรหันตขีณาสพเหล่าใด ผู้มีธรรมที่พิจารณาแล้ว
และพระเสขะเหล่าใดที่มีอยู่เป็นอันมากในที่นี้
ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ข้าพระองค์ทูลถามแล้ว
ขอพระองค์ผู้มีพระปัญญา โปรดตรัสบอกการดำเนินชีวิต
ของพระอรหันตขีณาสพ
และพระเสขะเหล่านั้นด้วยเถิด
[๑๐๔๖] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ภิกษุไม่พึงปรารถนายิ่งในกามทั้งหลาย
เป็นผู้มีใจไม่ขุ่นมัว ฉลาดในธรรมทั้งปวง
มีสติดำรงอยู่
อชิตมาณวกปัญหาที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕๗-๖๔/๑๑-๑๒
B ความตระหนี่ มี ๕ อย่าง
(๑) อาวาสมัจฉริยะ (ความตระหนี่ที่อยู่)
(๒) กุลมัจฉริยะ (ความตระหนี่ตระกูล)
(๓) ลาภมัจฉริยะ (ความตระหนี่ลาภ)
(๔) วัณณมัจฉริยะ (ความตระหนี่วรรณะ)
(๕) ธัมมมัจฉริยะ (ความตระหนี่ธรรม) (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๒/๔๙)
C กระแส ในที่นี้หมายถึงตัณหา ทิฏฐิ กิเลส ทุจริต และอวิชชา
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)
D ที่ทั้งปวง ในที่นี้หมายถึงอายตนะทั้งปวง (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๓/๕๓)
E นาม หมายถึงขันธ์ที่มิใช่รูป ๔ อย่าง (เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ)
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
F รูป หมายถึงมหาภูตรูป ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูตรูปทั้ง ๔
มหาภูตรูป คือ รูปใหญ่ รูปต้นเดิม คือ ธาตุ ๔ ได้แก่
(๑) ปฐวีธาตุ สภาวะที่แผ่ไปหรือกินเนื้อที่ สภาพอันเป็นหลักที่ตั้งที่อาศัยแห่งสหชาตรูป
เรียกสามัญว่า ธาตุแข้นแข็ง หรือธาตุดิน
(๒) อาโปธาตุ สภาวะที่เอิบอาบหรือดูดซึม ซ่านไป ขยายขนาด ผนึก พูนเข้าด้วยกัน
เรียกสามัญว่า ธาตุเหลว หรือธาตุน้ำ
(๓) เตโชธาตุ สภาวะที่ทำให้ร้อน เรียกสามัญว่า ธาตุไฟ
(๔) วาโยธาตุ สภาวะที่ทำให้สั่นไหว เคลื่อนที่ ค้ำจุน เรียกสามัญว่า ธาตุลม
(ที.สี.(แปล) ๙/๔๘๗-๔๙๙/๒๑๖-๒๒๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘)
รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ หรือที่เรียกว่า อุปาทายรูป มี ๒๔ คือ
ปสาทรูป ๕ (รูปที่เป็นประธานสำหรับรับอารมณ์)
(๑) ตา (๒) หู (๓) จมูก (๔) ลิ้น (๕) กาย
โคจรรูป หรือวิสัยรูป ๕ (รูปที่เป็นอารมณ์หรือแดนรับรู้ของอินทรีย์)
(๖) รูป (๗) เสียง (๘) กลิ่น (๙) รส (๑๐) โผฏฐัพพะ
(ข้อนี้ไม่นับเพราะเป็นอันเดียวกันกับมหาภูตรูป ๓ คือ ปฐวี เตโช วาโย)
ภาวรูป ๒ (รูปที่เป็นภาวะแห่งเพศ) (๑๐) อิตถัตตะ อิตถินทรีย์ ความเป็นหญิง
(๑๑) ปุริสัตตะ ปุริสินทรีย์ ความเป็นชาย
หทัยรูป ๑ (รูปคือหทัย) (๑๒) หทัยวัตถุ ที่ตั้งแห่งใจ หัวใจ
ชีวิตรูป ๑ (รูปที่เป็นชีวิต) (๑๓) ชีวิตินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต
อาหารรูป ๑ (รูปคืออาหาร) (๑๔) กวฬิงการาหาร อาหารคือคำข้าว
ปริจเฉทรูป ๑ (รูปที่กำหนดเทศะ) (๑๕) อากาสธาตุ สภาวะคือช่องว่าง
วิญญัติรูป ๒ (รูปคือการเคลื่อนไหวให้รู้ความหมาย)
(๑๖) กายวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยกาย
(๑๗) วจีวิญญัติ การเคลื่อนไหวให้รู้ความหมายด้วยวาจา วิการรูป ๔ (รูปคือการที่ดัดแปลงทำให้แปลกให้พิเศษได้)
(๑๘) (รูปัสส) ลหุตา ความเบา
(๑๙) (รูปัสส)มุทุตา ความอ่อนสลวย
(๒๐) (รูปัสส) กัมมัญญตา ความควรแก่การงาน ใช้การได้
ลักขณรูป ๔ (รูปคือลักษณะหรืออาการเป็นเครื่องกำหนด)
(๒๑) อุปจยะ ความก่อตัว
(๒๒) สันตติความสืบต่อ
(๒๓) ชรตา ความทรุดโทรม
(๒๔) อนิจจตา ความแปรแตกสลาย (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๕/๕๘,
อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๕๘๔-๙๘๔/๑๖๙-๒๕๕)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!