25-557 การวิวาทกันเพราะทิฏฐิ สูตรใหญ่
พระไตรปิฎก
๑๓. มหาวิยูหสูตร A
ว่าด้วยการวิวาทกันเพราะทิฏฐิสูตรใหญ่
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
{๔๒๐} [๙๐๒] สมณพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่งเหล่านี้
ยึดถือทิฏฐิอยู่ พากันกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
สมณพราหมณ์เหล่านั้นทุกพวกนั่นแหละจะถูกนินทา
หรือว่าจะได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐินั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๓] ผลแห่งวาทะนี้น้อยนัก ไม่พอเพื่อความสงบ
เรากล่าวผลแห่งการวิวาทเป็น ๒ อย่าง B
บุคคลเห็นโทษแม้นี้แล้ว
มองเห็นภูมิ(เหตุ)แห่งการไม่วิวาท C ว่า เกษม
ไม่พึงวิวาทกัน
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๐๔] ทิฏฐิสมมติ D เหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดจากปุถุชน
บุคคลผู้มีความรู้ย่อมไม่เข้าถึงทิฏฐิสมมติเหล่านี้ทุกอย่าง
บุคคลผู้ไม่มีกิเลสเป็นเหตุเข้าถึงนั้น
ไม่ทำความพอใจในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน
พึงถึงสิ่งที่ควรเข้าถึงอะไรเล่า
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๐๕] สมณพราหมณ์ผู้กล่าวอ้างศีลว่า สูงสุด
สมาทานวัตรแล้ว ดำรงอยู่
ได้กล่าวความหมดจดด้วยความสำรวมว่า
พวกเราศึกษาในทิฏฐินี้แหละ และศึกษาความหมดจดแห่งวัตรนั้น
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
ย่อมเป็นผู้ถูกนำเข้าสู่ภพ
[๙๐๖] ถ้าบุคคลเคลื่อนจากศีลและวัตร
พลาดกรรมแล้วก็หวั่นไหว
เขาย่อมเฝ้าแต่พร่ำเพ้อและปรารถนาความหมดจด
เหมือนคนออกจากเรือนอยู่ร่วมกับพวกเดินทาง
พลัดพรากจากพวก ฉะนั้น
[๙๐๗] อริยสาวกละศีลและวัตรได้ทั้งหมด
ละกรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ E เสียได้
ไม่ปรารถนาความหมดจดและความไม่หมดจด
งดเว้นแล้ว ไม่ยึดมั่นทิฏฐิที่มีอยู่เที่ยวไป
[๙๐๘] สมณพราหมณ์เข้าไปอาศัยตบะที่ตนเกลียดชังนั้น
เข้าไปอาศัยรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้
เป็นผู้กล่าวความหมดจดในสงสารข้างหน้า
ยังไม่คลายตัณหาในภพน้อยภพใหญ่
จึงยังพร่ำพูดถึงความหมดจดอยู่
[๙๐๙] ความชอบใจวัตถุ ย่อมมีแก่ผู้กำลังปรารถนา
อนึ่ง ความหวั่นไหว ย่อมมีเพราะวัตถุที่กำหนดแล้ว
ความตายและความเกิดมิได้มีแก่ภิกษุใดในธรรมวินัยนี้
ภิกษุนั้นพึงหวั่นไหวด้วยเหตุอะไรเล่า
หรือจะพึงชอบใจในอะไรเล่า
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๙๑๐] สมณพราหมณ์บางพวกกล่าวธรรมใดว่า เยี่ยม
แต่สมณพราหมณ์พวกอื่นกลับกล่าวธรรมนั้นนั่นเองว่า เลว
วาทะของสมณพราหมณ์เหล่านี้ วาทะไหนจริงกันหนอ
เพราะสมณพราหมณ์เหล่านี้ทุกพวก
ต่างกล่าวอ้างตนว่า เป็นคนฉลาด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๙๑๑] อนึ่ง สมณพราหมณ์บางพวก
กล่าวธรรมของตนว่า บริบูรณ์ แต่กล่าวธรรมของผู้อื่นว่า เลว
พวกสมณพราหมณ์ถือมั่นแม้อย่างนี้แล้ว ย่อมวิวาทกัน
เพราะต่างกล่าวทิฏฐิสมมติของตน ๆ ว่า จริง
[๙๑๒] หากบุคคลเป็นคนเลวเพราะเหตุที่ผู้อื่นพูดติเตียนไซร้
ก็จะไม่พึงมีใครวิเศษในธรรมทั้งหลายได้เลย
เพราะคนส่วนมาก ต่างกล่าวยืนยันในแนวทางของตน
พากันกล่าวถึงธรรมของผู้อื่นว่า เป็นสิ่งเลวทราม
[๙๑๓] การบูชาหลักการของตน เป็นเรื่องแท้จริง
เหมือนสมณพราหมณ์พากันสรรเสริญแนวทางของตน ฉะนั้น
การว่าร้ายทุกอย่างก็พึงมีอยู่แท้จริง
เพราะความหมดจดของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
เป็นเรื่องเฉพาะตนเท่านั้น
[๙๑๔] ญาณที่ผู้อื่นพึงแนะนำไม่มีแก่พราหมณ์
ความตกลงใจแล้วยึดมั่นในธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มี
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงล่วงเลยการวิวาททั้งหลายได้แล้ว
แท้จริง พราหมณ์ไม่เห็นธรรมอื่นว่า เป็นของประเสริฐ
[๙๑๕] สมณพราหมณ์บางพวกเชื่อความหมดจดเพราะทิฏฐิว่า
เรารู้ เราเห็นความหมดจดนี้ว่า มีจริง
ถ้าสมณพราหมณ์ผู้หนึ่งได้เห็นแล้ว
จะมีประโยชน์อะไรด้วยการเห็นนั้นแก่สมณพราหมณ์เหล่านั้นเล่า
เพราะพวกสมณพราหมณ์แล่นเลย(ทางแห่งความหมดจด)แล้ว
ย่อมกล่าวความหมดจดด้วยการเห็นอื่น
[๙๑๖] นรชนเมื่อเห็นย่อมเห็นนามรูป
หรือครั้นเห็นแล้วก็รู้จักเฉพาะนามรูปเหล่านั้นเท่านั้น
นรชนเห็นนามรูปมากบ้าง น้อยบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น ผู้ฉลาดทั้งหลายก็ไม่กล่าวความหมดจด
เพราะการเห็นนามรูปนั้น
[๙๑๗] นรชนผู้มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
ไม่ใช่คนที่ใครพึงแนะนำได้ง่าย
เป็นผู้เชิดชูทิฏฐิที่กำหนดไว้แล้ว
อาศัยศาสดาใด ก็กล่าวว่าศาสดานั้นดีงามเพราะทิฏฐินั้น
นรชนนั้นผู้กล่าวความหมดจดได้เห็นว่าแท้จริงในทิฏฐินั้น
[๙๑๘] พราหมณ์พิจารณาแล้ว ย่อมไม่เข้าถึงความกำหนด
ไม่แล่นไปด้วยทิฏฐิ ทั้งไม่ผูกพันด้วยตัณหาหรือทิฏฐิเพราะญาณ
พราหมณ์นั้นครั้นรู้แล้วก็วางเฉยทิฏฐิสมมติที่เกิดจากปุถุชน
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[๙๑๙] มุนีสลัดกิเลสเครื่องร้อยรัดในโลกนี้แล้ว
เมื่อคนทั้งหลายเกิดวิวาทกันแล้ว
ก็ไม่เข้าไปเป็นฝักเป็นฝ่าย
เมื่อคนทั้งหลายไม่สงบ มุนีนั้นเป็นผู้สงบ วางเฉย ไม่ถือมั่น
แต่สมณพราหมณ์เหล่าอื่นพากันถือมั่น
[๙๒๐] มุนีละอาสวะเก่า F ไม่ก่ออาสวะใหม่ G
ไม่ดำเนินไปตามความพอใจ
ทั้งไม่มีปกติกล่าวด้วยความเชื่อมั่น
มุนีนั้นเป็นนักปราชญ์ พ้นขาดแล้วจากทิฏฐิทั้งหลาย
ติเตียนตนเองไม่ได้ ไม่ติดอยู่ในโลก
[๙๒๑] มุนีนั้น เป็นผู้กำจัดเสนา H ในธรรมทั้งปวง
คือในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรืออารมณ์ที่รับรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง
มุนีนั้นเป็นผู้ปลงภาระ I ลงแล้ว พ้นขาดแล้ว
ไม่มีความกำหนด ไม่เข้าไปยินดี
ไม่มีความปรารถนา
มหาวิยูหสูตรที่ ๑๓ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๐-๑๔๙/๓๖๒-๓๙๗
B หมายถึงมีนินทา หรือสรรเสริญ อีกนัยหนึ่ง มีชนะ หรือพ่ายแพ้
(ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๓/๔๐๐)
C ภูมิแห่งการไม่วิวาท ในที่นี้หมายถึงอมตนิพพาน (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๑/๓๖๕)
D ทิฏฐิสมมติ หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๓๒/๓๖๖, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๔/๔๐๐)
E กรรมที่มีโทษและกรรมที่ไม่มีโทษ หมายถึงอกุศลทั้งปวง ได้แก่ อกุศลกรรมบถ ๑๐
ประการ และโลกิยกุศลได้แก่ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
(ขุ.สุ.อ. ๒/๙๐๗/๔๐๑, ที.ปา.อ. ๓/๓๑๒/๒๒๐)
F อาสวะเก่า หมายถึงกิเลสเกิดขึ้นเพราะปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ในอดีต (ขุ.ม. (แปล)๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
G อาวสวะใหม่ หมายถึงกิเลสที่เกิดขึ้นปรารภรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ในปัจจุบัน (ขุ.ม. (แปล)๒๙/๑๔๘/๓๙๔, ขุ.สุ.อ. ๒/๙๒๐/๔๐๔)
H เสนา ในที่นี้หมายถึงเสนามาร คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นต้น
(ขุ.สุ.อ. ๒๙/๑๔๙/๒๗๗)
I ภาระ หมายถึงสิ่งที่ต้องนำพา มี ๓ คือ
(๑) ขันธภาระ ได้แก่ ขันธ์ ๕
(๒) กิเลสภาระ ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น
(๓) อภิสังขารภาระ ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และอาเนญชาภิสังขาร
(ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๑๔๙/๓๙๘)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต