25-555 การทะเลาะวิวาท



พระไตรปิฎก


๑๑. กลหวิวาทสูตร A
ว่าด้วยการทะเลาะวิวาท

(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
{๔๑๘} [๘๖๙] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากไหน
กิเลสเหล่านั้นมีมาจากไหน
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกเหตุนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๐] การทะเลาะ การวิวาท ความคร่ำครวญ
ความเศร้าโศก ความตระหนี่ ความถือตัว
ความดูหมิ่น และวาจาส่อเสียด มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก B
การทะเลาะ การวิวาท ประกอบในความตระหนี่
มีมาจากสิ่งเป็นที่รัก
เมื่อการวิวาทเกิดขึ้นแล้ว ก็มีวาจาส่อเสียดเกิดขึ้น
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๑] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีอะไรเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังนั้น มีอะไรเป็นต้นเหตุ
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๒] สิ่งเป็นที่รักในโลกมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
และชนเหล่าใดท่องเที่ยวไปในโลกเพราะความโลภ
ความโลภของชนเหล่านั้นมีความพอใจเป็นต้นเหตุ
ความหวังและความสำเร็จหวังใด จะมีแก่นรชนในภพหน้า
ความหวังและความสำเร็จหวังของนรชนนั้น
มีความพอใจนี้เป็นต้นเหตุ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๓] ฉันทะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความตัดสินใจมีมาจากไหน
อนึ่ง ความโกรธ ความเป็นคนพูดเท็จ
และความสงสัย มีมาจากอะไร
และธรรมเหล่าใดพระสมณะตรัสไว้แล้ว
ธรรมเหล่านั้นมีมาจากอะไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๔] ชนทั้งหลายในโลกพูดถึงสิ่งใดว่า น่าดีใจ น่าเสียใจ
ฉันทะก็จะมีขึ้นเพราะอาศัยสิ่งนั้น
ชนในโลกมองเห็นความเสื่อมและความเจริญในรูปทั้งหลายแล้ว
ย่อมทำการตัดสินใจ
[๘๗๕] ธรรมแม้เหล่านี้ คือ ความโกรธ
ความเป็นคนพูดเท็จ และความสงสัย
ย่อมมีในเมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่
บุคคลผู้มีสงสัยพึงศึกษาเพื่อทางแห่งญาณ C
และธรรมเหล่าใดพระสมณะทรงทราบแล้วตรัสไว้
ธรรมเหล่านั้น เมื่อความดีใจและความเสียใจทั้งสองมีอยู่ก็มีมา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๖] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านั้นจึงไม่มี
ขอพระองค์จงตรัสบอกเรื่องความไม่มีและความมีว่า
มีต้นเหตุมาจากสิ่งใดแก่ข้าพระองค์
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๗] ความดีใจและความเสียใจมีต้นเหตุมาจากผัสสะ
เมื่อผัสสะไม่มี ความดีใจและความเสียใจเหล่านี้จึงไม่มี
เราขอบอกเรื่องคือความไม่มีและความมีนี้ว่า
มีต้นเหตุมาจากผัสสะแก่เธอ
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๗๘] ผัสสะในโลกมีต้นเหตุมาจากไหน
และความยึดถือมีมาจากไหน
เมื่ออะไรไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่ออะไรไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๗๙] เพราะอาศัยนามและรูป ผัสสะจึงเกิดขึ้น
ความยึดถือมีต้นเหตุมาจากความปรารถนา
เมื่อความปรารถนาไม่มี ความยึดถือว่าเป็นของเราจึงไม่มี
เมื่อรูปไม่มี ผัสสะจึงไม่ถูกต้อง
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๐] เมื่อบุคคลดำเนินอย่างไร รูปจึงไม่มี
สุขและทุกข์จะไม่มีได้อย่างไร
สุขและทุกข์ย่อมไม่มีโดยวิธีการใด
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกวิธีการนั้นแก่ข้าพระองค์
ข้าพระองค์มีความตั้งใจว่า จะรู้วิธีการนั้น
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๑] บุคคลไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาปกติ
ไม่เป็นผู้มีสัญญาโดยสัญญาผิดปกติ
เป็นผู้ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ปราศจากสัญญาก็มิใช่
เมื่อบุคคลดำเนินอย่างนี้ รูปจึงไม่มี
เพราะส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้ามีต้นเหตุมาจากสัญญา
(พระพุทธเนรมิตทูลถามดังนี้)
[๘๘๒] ข้าพระองค์ได้ทูลถามธรรมใดแล้ว
พระองค์ก็ได้ตรัสตอบธรรมนั้นแก่ข้าพระองค์แล้ว
ข้าพระองค์ขอทูลถามธรรมอื่นอีก
ขอเชิญพระองค์โปรดตรัสบอกธรรมนั้นด้วยเถิด
สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่าเป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์ D
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นหรือหนอว่า เป็นธรรมอันเลิศ
หรือว่าสมณพราหมณ์บางพวก กล่าวถึงความหมดจดอย่างอื่นว่า
เยี่ยมกว่าอรูปสมาบัตินี้
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๘๘๓] สมณพราหมณ์บางพวกอ้างตนว่า เป็นบัณฑิตในโลกนี้
พากันกล่าวความหมดจดของยักษ์
ด้วยอรูปสมาบัติเท่านั้นว่า เป็นธรรมอันเลิศ
บรรดาสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณพราหมณ์อีกพวกหนึ่งก็อ้างตนว่า เป็นผู้ฉลาด
พากันกล่าวความสงบในความไม่มีอะไรเหลือ
[๘๘๔] มุนีผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณานั้น รู้จักสมณพราหมณ์
ผู้เป็นเจ้าลัทธิเหล่านี้ว่า เป็นผู้เข้าไปอาศัยทิฏฐิ
และรู้จักทิฏฐิเป็นที่อาศัย
นักปราชญ์ครั้นรู้จักแล้ว ก็หลุดพ้นไม่ถึงการวิวาท
ไม่กลับมาในภพน้อยภพใหญ่
กลหวิวาทสูตรที่ ๑๑ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๗-๑๑๒/๒๙๗-๓๓๗
B สิ่งเป็นที่รัก มีความหมาย ๒ อย่าง คือ
(๑) สัตว์ หมายถึงมารดา บิดา พี่ น้อง บุตร ธิดา เป็นต้น
(๒) สังขาร หมายถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่ชอบใจ
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๙๘/๓๐๑-๓๐๒)
C ญาณ ในที่นี้หมายถึงญาณ ๑๖ (โสฬสญาณ)
ความหยั่งรู้ที่เกิดขึ้นแก่ผู้เจริญวิปัสสนาตามลำดับตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด คือ
(๑) นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป)
(๒) ปัจจยปริคคหญาณ (ญาณกำหนดรู้ปัจจัยของนามและรูป)
(๓) สัมมสนญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยพิจารณาเห็นนามและรูปโดยไตรลักษณ์)
(๔) อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความเกิดและความดับ)
(๕) ภังคานุปัสสนาญาณ (ญาณอันตามเห็นความสลายเห็นว่าสังขารทั้งปวงล้วนจะต้องสลายไปหมด)
(๖) ภยตูปัฏฐานญาณ (ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องสลายไปไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น)
(๗) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณอันคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษ)
(๘) นิพพิทานุปัสสนาญาณ(ญาณอันคำนึงเห็นด้วยความหน่าย)
(๙) มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณอันคำนึงด้วยใคร่จะพ้นไปเสีย เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้ว
ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น)
(๑๐) ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ(ญาณอันคำนึงพิจารณาหาทาง เพื่อมองหาอุบายที่จะปลดเปลื้องออก)
(๑๑) สังขารุเปกขาญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร ไม่ยินดียินร้ายต่อสังขารทั้งหลาย)
(๑๒) สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม ได้แก่การหยั่งรู้อริยสัจ)
(๑๓) โคตรภูญาณ (ญาณหยั่งรู้ที่เป็นหัวต่อแห่งการข้ามพ้นจากภาวะปุถุชน เข้าสู่ภาวะอริยบุคคล)
(๑๔) มัคคญาณ ญาณในอริยมรรค (ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น)
(๑๕) ผลญาณ ญาณในอริยผล (ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้น ๆ)
(๑๖) ปัจจเวกขณญาณ (ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน สำรวจรู้มรรคผล
กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่และนิพพาน) (ขุ.ป. (แปล) ๓๑/๑-๖๕/๗-๑๐๙,
วิสุทฺธิ. ๒/๖๖๒-๘๐๔/๒๕๐-๓๕๐)
D ยักษ์ ในที่นี้หมายถึงสัตว์ นรชน มานพ บุรุษ บุคคล ผู้มีชีวิต ผู้เกิด ผู้เป็นไปตามกรรม มนุษย์
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๑๐/๓๓๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!