25-553 มาคันทิยพราหมณ์
พระไตรปิฎก
๙. มาคันทิยสูตร A
ว่าด้วยมาคันทิยพราหมณ์
(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่มาคันทิยพราหมณ์พร้อมภรรยาดังนี้)
{๔๑๖} [๘๔๒] เพราะเห็นนางตัณหา นางอรดี และนางราคา
ก็ไม่ได้มีความพอใจในเมถุนธรรมเลย
จักมีความพอใจเพราะเห็นเรือนร่าง
ที่เต็มไปด้วยปัสสาวะและอุจจาระนี้ได้อย่างไรเล่า
เราไม่ปรารถนาจะถูกต้องเรือนร่างนางแม้ด้วยเท้า
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๓] หากท่านไม่ปรารถนานารีผู้เป็นอิตถีรัตนะเช่นนี้
ที่พระราชาผู้เป็นจอมคนจำนวนมากพากันปรารถนา
ท่านจะกล่าวทิฏฐิ ศีล วัตร ชีวิต
และการอุบัติขึ้นในภพว่าเป็นเช่นไร
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๔] การตกลงใจในธรรมทั้งหลายแล้วถือมั่นว่า
เรากล่าวสิ่งนี้ ดังนี้ ย่อมไม่มีแก่เรา
เราเห็นโทษในทิฏฐิทั้งหลาย จึงไม่ยึดมั่น
เมื่อเลือกเฟ้น จึงได้เห็นความสงบภายใน
(มาคันทิยพราหมณ์ทูลถามดังนี้)
[๘๔๕] ทิฏฐิเหล่าใดที่ตกลงใจกำหนดไว้แล้ว
มุนีไม่ยึดมั่นทิฏฐิเหล่านั้นแล
กล่าวเนื้อความใดว่า ความสงบภายใน
เนื้อความนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายประกาศไว้อย่างไรหนอ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๖] นักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ B
เพราะความไม่มีสุตะ C เพราะความไม่มีญาณ D
เพราะความไม่มีศีล E เพราะความไม่มีวัตรนั้นก็หามิได้ F
นักปราชญ์สลัดทิ้งธรรมเหล่านี้ได้แล้ว
ไม่ยึดมั่น เป็นผู้สงบ ไม่อาศัยแล้ว ไม่พึงหวังภพ
(มาคันทิยพราหมณ์กราบทูลดังนี้)
[๘๔๗] หากนักปราชญ์ไม่กล่าวความหมดจดเพราะทิฏฐิ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะสุตะ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะญาณ
ไม่กล่าวความหมดจดเพราะศีลและวัตร
บุคคลย่อมถึงความสงบภายใน เพราะความไม่มีทิฏฐิ
เพราะความไม่มีสุตะ เพราะความไม่มีญาณ
เพราะความไม่มีศีล เพราะความไม่มีวัตรนั้น ก็หามิได้
ข้าพเจ้าจึงเข้าใจธรรมของท่านว่า เป็นเรื่องงมงายแน่นอน
เพราะสมณพราหมณ์บางพวกถึงความหมดจดได้เพราะทิฏฐิ
(พระผู้มีพระภาคตรัสว่า มาคันทิยะ)
[๘๔๘] เพราะอาศัยทิฏฐิทั้งหลายท่านจึงถามเนือง ๆ
ได้มาถึงความลุ่มหลงในทิฏฐิทั้งหลายที่ท่านถือมั่นไว้แล้ว
และท่านก็มิได้เห็นสัญญาแม้น้อยหนึ่งจากธรรมนี้
เพราะฉะนั้น ท่านจึงประสบแต่ความงมงาย
[๘๔๙] ผู้ใดสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา หรือด้อยกว่าเขา
ผู้นั้นพึงต้องวิวาทกันด้วยความถือตัวนั้น
บุคคลไม่หวั่นไหวในเพราะความถือตัว ๓ อย่าง
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
จึงไม่มีแก่บุคคลนั้น
[๘๕๐] บุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอะไรว่า จริง
หรือบุคคลผู้เป็นพราหมณ์นั้นพึงโต้เถียงว่า เท็จ ด้วยเหตุอะไร
ความสำคัญว่า เราเสมอเขา เราเลิศกว่าเขา (หรือด้อยกว่าเขา)
ย่อมไม่มีในพระอรหันต์ใด
พระอรหันต์นั้นพึงตอบโต้วาทะด้วยเหตุอะไรเล่า
[๘๕๑] บุคคลละที่อาศัยแล้ว ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย
มุนีไม่ทำความเยื่อใยในกาม ว่างจากกามทั้งหลาย
ไม่มุ่งหมายอัตภาพต่อไป ไม่พึงกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
[๘๕๒] บุคคลผู้เป็นนาคะ สงัดจากทิฏฐิเหล่าใด
พึงเที่ยวไปในโลก ไม่พึงพูดจายึดถือทิฏฐิเหล่านั้น
ดอกบัวก้านมีหนามเกิดในน้ำ
ไม่แปดเปื้อนด้วยน้ำและโคลนตม ฉันใด
มุนีผู้กล่าวเรื่องความสงบ ก็ไม่ยินดี
ไม่แปดเปื้อนในกามและโลก ฉันนั้น
[๘๕๓] มุนีผู้จบเวทนั้น ย่อมไม่ไปด้วยทิฏฐิ
ไม่ถึงความถือตัวด้วยอารมณ์ที่รับรู้
มุนีนั้นผู้ไม่มีตัณหาและทิฏฐินั้น ไม่ถูกกรรมและสุตะนำไป
มุนีนั้นไม่ถูกตัณหาและทิฏฐินำเข้าไปในที่อาศัยทั้งหลาย
[๘๕๔] มุนีผู้เว้นจากสัญญาแล้ว ย่อมไม่มีกิเลสเครื่องร้อยรัด
มุนีผู้หลุดพ้นด้วยปัญญาแล้ว ย่อมไม่มีความลุ่มหลง
ชนเหล่าใดยังยึดถือสัญญาและทิฏฐิ
ชนเหล่านั้นย่อมเที่ยวกระทบกระทั่งกันในโลก
มาคันทิยสูตรที่ ๙ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๐-๘๒/๒๑๗-๒๔๕
B ทิฏฐิ ในที่นี้หมายถึงสัมมาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ คือ
(๑) ทานที่ให้แล้วมีผล
(๒) ยัญที่บูชาแล้วมีผล
(๓) การเซ่นสรวงมีผล
(๔) ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วมีอยู่
(๕) โลกนี้มี
(๖) โลกหน้ามี
(๗) มารดามีคุณ
(๘) บิดามีคุณ
(๙) สัตว์เป็นโอปปาติกะมีอยู่
(๑๐) สมณพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ รู้แจ้งโลกนี้และ
โลกหน้า ด้วยตนเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งมีอยู่ในโลก (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
C สุตะ ในที่นี้หมายถึงเสียงจากผู้อื่น คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน
อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
D ญาณ หมายถึงกัมมัสสกตาญาณ (ญาณที่เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน)
หมายถึงสัจจานุโลมิกญาณ (ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ)
และหมายถึงอภิญญาญาณ (ญาณคือความรู้อย่างยิ่งยวด) มี ๖ คือ
(๑) อิทธิวิธิ
(๒) ทิพพโสต
(๓) เจโตปริยญาณ
(๔) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
(๕) ทิพพจักขุ
(๖) อาสวักขยญาณ และสมาปัตติญาณ (ญาณในสมาบัติ ๘)
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
E ศีล ในที่นี้หมายถึงปาติโมกขสังวร (สำรวมในพระปาติโมกข์)
(ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔)
F วัตร ในที่นี้หมายถึงธุดงค์ ๘ ข้อ คือ
(๑) อารัญญิกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่ในป่าเป็นวัตร)
(๒) ปิณฑปาติกังคธุดงค์ (สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร)
(๓) ปังสุกูลิกังคธุดงค์ (สมาทานการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร)
(๔) เตจีวริกังคธุดงค์ (สมาทานการทรงไตรจีวรเป็นวัตร)
(๕) สปทานจาริกังคธุดงค์ (สมาทานการเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอกเป็นวัตร)
(๖) ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ (สมาทานห้ามภัตที่ถวายภายหลังเป็นวัตร)
(๗) เนสัชชิกังคธุดงค์ (สมาทานการนั่งเป็นวัตร)
(๘) ยถาสันถติกังคธุดงค์ (สมาทานการอยู่
ในเสนาสนะตามที่เขาจัดให้เป็นวัตร (ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๗๔/๒๒๔-๒๒๕)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต