25-552 ปริพาชกชื่อว่าปสูระ



พระไตรปิฎก


๘. ปสูรสูตร A
ว่าด้วยปริพาชกชื่อว่าปสูระ

(พระผู้มีพระภาคตรัสแก่ปสูรปริพาชกในท่ามกลางพุทธบริษัทดังนี้)
{๔๑๕} [๘๓๑] สมณพราหมณ์เป็นอันมาก
ย่อมกล่าวความหมดจดในธรรมนี้เท่านั้น
ไม่กล่าวความหมดจดในธรรมเหล่าอื่น
บุคคลอาศัยศาสดาใดก็กล่าวศาสดานั้นว่าดีงาม
ในเพราะทิฏฐิของตนนั้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในปัจเจกสัจจะ B
[๘๓๒] สมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นคนอยากพูด
เข้าไปสู่บริษัทแล้ว จับคู่กล่าวหากันและกันว่า เป็นคนพาล
สมณพราหมณ์เหล่านั้นอาศัยสิ่งอื่นแล้ว
ย่อมกล่าวถ้อยคำขัดแย้งกัน
อยากได้ความสรรเสริญ ก็กล่าวยกตนว่า เป็นผู้ฉลาด
[๘๓๓] คนผู้ประกอบถ้อยคำ(เพื่อกล่าว) ในท่ามกลางบริษัท
เมื่ออยากได้ความสรรเสริญ ย่อมเป็นผู้ลังเลใจ
เป็นผู้เก้อเขินในเมื่อถูกคัดค้านตกไป
ย่อมโกรธเคืองเพราะคำนินทา แสวงหาข้อแก้ตัว
[๘๓๔] บริษัทผู้พิจารณาปัญหากล่าววาทะของเขาว่า เลว
ถูกคัดค้านให้ตกไปแล้ว
เขาเสื่อมวาทะไปแล้ว ย่อมคร่ำครวญเศร้าโศก
ทอดถอนใจว่า เขานำ(หน้า) เราไปแล้ว
[๘๓๕] การวิวาทเหล่านี้เกิดแล้วในหมู่สมณะ
ความยินดีและความยินร้าย มีอยู่ในการวิวาทเหล่านี้
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว พึงงดเว้นถ้อยคำขัดแย้งกัน
เพราะว่าไม่มีประโยชน์อื่นนอกจากการได้ความสรรเสริญ
[๘๓๖] ก็หรือว่า บุคคลกล่าววาทะในท่ามกลางบริษัท
ได้รับความสรรเสริญเพราะทิฏฐิของตนนั้น
เขาย่อมหัวเราะและฟูใจด้วยประโยชน์แห่งความชนะนั้น
เพราะได้บรรลุถึงประโยชน์ตามที่ใจคิดไว้แล้ว
[๘๓๗] ความลำพองตน ย่อมเป็นภูมิสำหรับย่ำยีของเขา
เขาจึงกล่าวคำถือตัวและคำดูหมิ่นกัน
บุคคลเห็นโทษนี้แล้ว ไม่ควรวิวาทกัน
เพราะผู้ฉลาดทั้งหลาย ไม่กล่าวความหมดจด
ด้วยความวิวาทกันนั้น
[๘๓๘] คนกล้าที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยของเสวยของพระราชา
เขาคึกคะนอง อยากพบคนกล้าฝ่ายตรงข้ามย่อมได้พบ ฉันใด
(เจ้าลัทธิย่อมได้พบเจ้าลัทธิ ฉันนั้น)
ผู้กล้าเอ๋ย เจ้าลัทธิอยู่ที่ใด เธอจงไปเสียจากที่นั้นเถิด
เพราะกิเลสที่เคยมีแต่ก่อนของตถาคตมิได้มีเพื่อการรบ
[๘๓๙] ชนเหล่าใดถือทิฏฐิแล้ววิวาทกัน
และกล่าวอ้างว่า นี้เท่านั้นจริง
เธอจงพูดกับชนเหล่านั้นว่า กิเลสที่เป็นข้าศึกกัน
เมื่อวาทะเกิดไม่มีในธรรมวินัยนี้
[๘๔๐] พระอรหันต์เหล่าใด กำจัดเสนาได้แล้ว
ไม่เอาทิฏฐิไปกระทบทิฏฐิ เที่ยวไป
พระอรหันต์เหล่าใดในธรรมวินัยนี้
ไม่มีความถือมั่นสิ่งนี้ว่า ยอดเยี่ยม
ปสูระเอ๋ย เธอจะพึงได้อะไร ในพระอรหันต์เหล่านั้น
[๘๔๑] อนึ่ง เธอตรึกอยู่มาแล้ว เธอคิดทิฏฐิทั้งหลายด้วยใจ
มาถึงการแข่งคู่กับเราผู้มีปัญญาเครื่องกำจัดแล้ว
ย่อมไม่สามารถเทียมทันได้เลย
ปสูรสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๕๙-๖๙/๑๙๕-๒๑๖
B ปัจเจกสัจจะ ในที่นี้หมายถึงสัจจะเฉพาะอย่าง
เช่น สัจจะที่ว่า โลกเที่ยง นี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นไม่จริง (ขุ.ม.(แปล) ๒๙/๕๙/๑๙๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!