25-541 วาเสฏฐมาณพทูลถามปัญหา



พระไตรปิฎก


๙. วาเสฏฐสูตร
ว่าด้วยวาเสฏฐมาณพทูลถามปัญหา

{๓๘๑} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนื้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้าน
อิจฉานังคละ สมัยนั้น พราหมณ์มหาศาลมีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก คือ จังกีพราหมณ์
ตารุกขพราหมณ์ โปกขรสาติพราหมณ์ ชาณุสโสณิพราหมณ์ โตเทยยพราหมณ์
และพราหมณมหาศาลมีชื่อเสียงอื่น ๆ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านอิจฉานังคละ
ครั้งนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพกำลังเดินเล่นพักผ่อน ระหว่างนั้น
ได้สนทนาถึงข้อความนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลชื่อว่าพราหมณ์ โดยวิธีอย่างไร”
ภารทวาชมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลที่เกิดมาดีทั้ง ๒ ฝ่าย คือ
ทั้งฝ่ายมารดาและฝ่ายบิดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่วบรรพบุรุรษ ไม่มีใคร
จะคัดค้านตำหนิได้เพราะอ้างถึงชาติตระกูล เพื่อนเอ๋ย เพราะเหตุดังกล่าวมานี้
บุคคลนั้นจึงชื่อว่า พราหมณ์”
วาเสฏฐมาณพกล่าวอย่างนี้ว่า “เพื่อนเอ๋ย บุคคลเป็นผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยวัตร
เพราะเหตุดังกล่าวมานี้จึงชื่อว่า พราหมณ์”
ภารทวาชมาณพไม่สามารถให้วาเสฏฐมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้ ฝ่าย
วาเสฏฐมาณพก็ไม่สามารถให้ภารทวาชมาณพยอมรับเหตุผลของตนได้เช่นกัน
ลำดับนั้น วาเสฏฐมาณพได้กล่าวเชิงปรึกษากับภารทวาชมาณพว่า “ภารทวาชะ
เพื่อนรัก พระสมณโคดมศากยบุตรพระองค์นี้เสด็จออกผนวชจากศากยตระกูล ประทับ
อยู่ที่ราวป่าอิจฉานังคละ ใกล้หมู่บ้านอิจฉานังคละ ก็ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์
อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า ‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็น
พระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’ ภารทวาชะเพื่อนรัก เราทั้งสองเข้าไปเฝ้าพระ
สมณโคดม ณ ที่ประทับกันเถิด แล้วเราจะทูลถามถึงเรื่องนี้กับพระองค์ จะได้จดจำ
ข้อความที่พระองค์ทรงพยากรณ์แก่เรา”
ภารทวาชมาณพรับคำวาเสฏฐมาณพว่า “อย่างนั้นก็ได้เพื่อน”
ต่อจากนั้น วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ
พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร วาเสฏฐมาณพได้กราบทูลพระผู้มี
พระภาคด้วยคาถาว่า
{๓๘๒} [๖๐๐] ข้าพระองค์ทั้งสองเป็นผู้ได้รับยกย่อง
และรับรองจากอาจารย์ว่า เป็นผู้ได้ศึกษาจบไตรเพท
ข้าพระองค์เป็นหัวหน้าศิษย์ของโปกขรสาติพราหมณ์
ส่วนภารทวาชมาณพนี้เป็นหัวหน้าศิษย์ของตารุกขพราหมณ์
[๖๐๑] ข้าพระองค์ทั้งสอง ศึกษาจบไตรเพท
ตามที่อาจารย์ผู้แตกฉานอบรมสั่งสอน
เป็นผู้เข้าใจตัวบท ชำนาญไวยากรณ์
ในพระเวทเทียบเท่าอาจารย์
[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดม ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นเกิดโต้เถียงกัน
ในเรื่องเหตุที่ทำให้บุคคลเป็นพราหมณ์
ภารทวาชมาณพกล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะชาติกำเนิด
ส่วนข้าพระองค์กล่าวว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์ เพราะกรรม
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุ
ขอพระองค์ทรงทราบอย่างนี้เถิด
[๖๐๓] ข้าพระองค์ทั้งสองนั้นไม่สามารถตกลงกันได้
จึงพากันมาทูลถามพระองค์ผู้ทรงปรากฏพระนามว่า
เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
[๖๐๔] ข้าพระองค์ทั้งสองประนมมือถวายนมัสการพระองค์
ผู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในโลก
เหมือนชนทั้งหลายประนมมือ
น้อมไหว้พระจันทร์วันเพ็ญโดยทั่วถึงกัน
[๖๐๕] ข้าพระองค์ทั้งสองขอทูลถามพระโคดมผู้มีพระจักษุ
ผู้เสด็จอุบัติดีแล้วในโลกว่า
บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด
หรือเพราะกรรมหนอ
ขอพระองค์โปรดตรัสบอกข้าพระองค์ทั้งสอง
ผู้ไม่รู้ให้รู้จักพราหมณ์ที่แท้จริงด้วยเถิด
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
[๖๐๖] วาเสฏฐะ เราจะพยากรณ์ถึงความพิสดาร
แห่งชาติกำเนิดของสัตว์ทั้งหลาย
ตามลำดับความเหมาะสมแก่เธอ
เพราะว่าสัตว์ทั้งหลายมีชาติกำเนิดแตกต่างกันหลายเผ่าพันธุ์
[๖๐๗] เธอทั้งหลายย่อมรู้จักหญ้าและต้นไม้
แต่หญ้าและต้นไม้ก็ไม่ยอมรับว่าเป็นหญ้าเป็นต้นไม้
หญ้าและต้นไม้นั้นมีสัณฐานสำเร็จมาแต่กำเนิด
เพราะธรรมชาติของมันต่างกัน
[๖๐๘] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักแมลง ตั๊กแตน
ตลอดจนถึงมดดำ มดแดง
สัตว์เหล่านั้นต่างมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๐๙] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์สี่เท้า ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๐] เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์เลื้อยคลาน
ที่ใช้ท้องแทนเท้า มีสันหลังยาว
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๑] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักปลา
และสัตว์น้ำประเภทอื่นที่เกิดเที่ยวหากินอยู่ในน้ำ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๒] ต่อไป เธอทั้งหลายจงรู้จักสัตว์ปีกที่บินไปในอากาศ
สัตว์เหล่านั้นมีรูปร่างสัณฐานไปตามกำเนิด
เพราะกำเนิดของสัตว์เหล่านั้นต่างกัน
[๖๑๓] ในหมู่มนุษย์ ไม่มีรูปร่างสัณฐานแตกต่างกันไป
ตามกำเนิดมากมาย เหมือนกำเนิดของสัตว์เหล่านี้เลย
[๖๑๔] คือ ไม่มีการกำหนดว่า เป็นพราหมณ์ เป็นกษัตริย์เป็นต้น
ด้วยผม ศีรษะ ใบหู นัยน์ตา ใบหน้า จมูก ริมฝีปาก คิ้ว
[๖๑๕] คอ บ่า ท้อง หลัง สะโพก อก
ซอกอวัยวะ อวัยวะสืบพันธุ์
[๖๑๖] มือ เท้า นิ้วมือ เล็บ แข้ง ขาอ่อน
ผิวพรรณ หรือเสียง
ในหมู่มนุษย์จึงไม่มีรูปร่างสัณฐาน
แตกต่างกันตามกำเนิดมากมาย
เหมือนในกำเนิดอื่น ๆ เลย
[๖๑๗] ในหมู่มนุษย์ไม่มีลักษณะเฉพาะตัวในสรีระของแต่ละคน
และในหมู่มนุษย์ การเรียกชื่อต่างกันว่า พราหมณ์ กษัตริย์ เป็นต้น
ท่านบัญญัติเรียกเพียงโวหาร
[๖๑๘] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ชาวนา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๑๙] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพ
ด้วยการช่างฝีมืออันเป็นศิลปะต่าง ๆ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ช่างศิลป์ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๐] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พ่อค้า ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๑] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า คนรับใช้ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๒] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยการลักทรัพย์ผู้อื่นเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า โจร ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๓] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามอาศัยลูกศรและศัสตราเลี้ยงชีพ
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ทหารอาชีพ ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๔] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามเลี้ยงชีพด้วยการเป็นปุโรหิต
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า ผู้เป็นที่เคารพบูชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๕] ในหมู่มนุษย์ ใครก็ตามปกครองท้องถิ่นและแว่นแคว้น
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นเรียกว่า พระราชา ไม่เรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๖] ผู้ถือกำเนิดจากมารดา (ที่เป็นพราหมณ์)
เราไม่เรียกว่า พราหมณ์
เขาเป็นเพียงผู้ชื่อว่า โภวาที เท่านั้น
เขายังมีกิเลสเครื่องกังวล
แต่เราเรียกผู้ที่ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ไม่ถือมั่นเท่านั้นว่า พราหมณ์ A
[๖๒๗] ผู้ตัดสังโยชน์ได้หมดสิ้น ไม่สะดุ้ง
ผู้ล่วงพ้นกิเลสเครื่องข้องได้ ผู้ปราศจากโยคะ
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๘] ผู้ตัดชะเนาะ เชือกหนัง และเงื่อน
พร้อมทั้งสายรัดได้ ถอดลิ่มสลัก เป็นผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๒๙] ผู้ไม่ประทุษร้าย อดกลั้นคำด่า
การฆ่า และการจองจำได้
มีขันติเป็นพลัง มีขันติเป็นกำลังพล
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๐] ผู้ไม่มักโกรธ มีศีล มีวัตร
ไม่มีตัณหาเครื่องฟูขึ้น ฝึกตนได้แล้ว
มีสรีระเป็นร่างกายสุดท้าย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๑] ผู้ใดไม่ติดในกามทั้งหลาย
เหมือนน้ำไม่ติดอยู่บนใบบัว
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดอยู่บนปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๒] ผู้ใดในธรรมวินัยนี้ รู้ชัดความสิ้นทุกข์ของตน
ปลงภาระได้แล้ว ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๓] ผู้มีปัญญาลึกซึ้ง เป็นนักปราชญ์
ฉลาดในทางและมิใช่ทาง
บรรลุประโยชน์สูงสุด
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๔] ผู้ไม่คลุกคลีกับคน ๒ จำพวก
คือ คฤหัสถ์ และบรรพชิต
ไม่มีความอาลัยเที่ยวไป มีความปรารถนาน้อย
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๕] ผู้ใดละวางโทษทัณฑ์ในสัตว์ทั้งหลาย
ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ยังหวาดสะดุ้ง และสัตว์ที่มั่นคง
ไม่ฆ่าเอง ไม่ใช้ให้คนอื่นฆ่า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๖] ผู้ไม่มุ่งร้ายในหมู่คนผู้มุ่งร้าย
ผู้สงบในหมู่คนผู้ชอบหาเรื่องใส่ตน
ผู้ไม่ถือมั่นในหมู่คนผู้ถือมั่น
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๗] ผู้ใดทำราคะ โทสะ โมหะ มานะ และมักขะให้ตกไป
เหมือนเมล็ดพันธุ์ผักกาดตกไปจากปลายเหล็กแหลม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๓๘] ผู้กล่าวคำที่ไม่หยาบคาย สื่อความหมายได้
เป็นคำจริง ไม่เป็นเหตุให้ใคร ๆ ขัดเคือง
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๓๙] ผู้ใดในโลกนี้ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
ไม่ว่ายาวหรือสั้น เล็กหรือใหญ่ งามหรือไม่งาม
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๐] ผู้ใดไม่มีความหวังในโลกนี้และโลกหน้า
ปราศจากความหวัง ปราศจากโยคะ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๑] ผู้ใดไม่มีความอาลัย หมดความสงสัยเพราะรู้ชัด
หยั่งลงสู่อมตะ บรรลุแล้ว
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๒] ผู้ใดในโลกนี้ละบุญและบาปทั้งสองได้
พ้นจากกิเลสเครื่องข้องได้ ไม่เศร้าหมอง
ปราศจากกิเลสดุจธุลี เป็นผู้บริสุทธิ์
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๓] ผู้บริสุทธิ์ดุจจันทร์แจ่ม
มีจิตผ่องใส ไม่ขุ่นมัว
เป็นผู้สิ้นความยินดีในภพ
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๔๔] ผู้ใดก้าวพ้นทางอ้อม B ทางหล่ม C
สงสาร และโมหะได้แล้ว
ข้ามไปถึงฝั่งแล้ว เจริญฌาน
ไม่หวั่นไหว หมดความสงสัย
ดับเย็น เพราะไม่ถือมั่น
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๕] ผู้ใดในโลกนี้ละกามได้แล้ว
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นกามและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๖] ผู้ใดในโลกนี้ละตัณหาได้เด็ดขาด
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เป็นผู้สิ้นตัณหาและภพ
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๗] ผู้ละกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นของมนุษย์ได้ D
ล่วงพ้นกิเลสเครื่องประกอบอันเป็นทิพย์ได้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากโยคะทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๘] ผู้ละทั้งความยินดี E และความไม่ยินดี F
เป็นผู้เยือกเย็น หมดอุปธิกิเลส
ครอบงำโลกทั้งหมด เป็นผู้แกล้วกล้า
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๔๙] ผู้ใดรู้การจุติและการอุบัติ
ของสัตว์ทั้งหลายโดยประการทั้งปวง
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่ติดข้อง ไปดีแล้ว
และตรัสรู้แล้วว่า พราหมณ์
[๖๕๐] ผู้ใดมีคติที่เทวดา คนธรรพ์ และมนุษย์ก็รู้ไม่ได้
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นอรหันตขีณาสพว่า พราหมณ์
[๖๕๑] ผู้ใดไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
เราเรียกผู้นั้นซึ่งเป็นผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล
หมดความยึดมั่นถือมั่นว่า พราหมณ์
[๖๕๒] ผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ผู้ชำนะแล้ว
ผู้ไม่หวั่นไหว ผู้ชำระแล้ว และผู้ตรัสรู้แล้ว
เราเรียกว่า พราหมณ์
[๖๕๓] ผู้ใดระลึกอดีตชาติได้ เห็นสวรรค์และอบาย
บรรลุภาวะที่สิ้นสุดการเกิด
เราเรียกผู้นั้นว่า พราหมณ์
[๖๕๔] อันที่จริง ชื่อและโคตรที่เขากำหนดให้กันนั้น
เป็นเพียงสมมติบัญญัติในโลก
ชื่อและโคตรปรากฏอยู่ได้เพราะรู้ตามกันมา
ญาติสาโลหิตกำหนดไว้ในการเกิดนั้น ๆ
[๖๕๕] ชื่อและโคตรที่กำหนดเรียกกันนี้
เป็นความเห็นที่ฝังแน่นอยู่ในใจมานานของคนผู้ไม่รู้ความจริง
เมื่อไม่รู้จึงกล่าวว่า บุคคลเป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิด
[๖๕๖] บุคคลจะชื่อว่า เป็นพราหมณ์เพราะชาติกำเนิดก็หามิได้
จะชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะชาติกำเกิดก็หามิได้
แต่ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะกรรม
ชื่อว่ามิใช่พราหมณ์เพราะกรรม
[๖๕๗] บุคคลชื่อว่าเป็นชาวนาเพราะกรรม
ชื่อว่าเป็นช่างศิลป์ เป็นพ่อค้า เป็นคนรับใช้ ก็เพราะกรรม
[๖๕๘] ชื่อว่าเป็นโจร เป็นทหารอาชีพ เป็นปุโรหิต
แม้กระทั่งเป็นพระราชา ก็เพราะกรรมทั้งนั้น
[๖๕๙] บัณฑิตผู้มีปกติเห็นปฏิจจสมุปบาท
ฉลาดในกรรมและวิบาก
ย่อมเห็นกรรมตามความเป็นจริงอย่างนี้
[๖๖๐] สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
หมู่สัตว์เป็นไปตามกรรม
สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเครื่องผูกพัน
เปรียบเหมือนรถที่แล่นไปมีหมุดเป็นเครื่องตรึงไว้ ฉะนั้น
[๖๖๑] บุคคลจะเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรมอันประเสริฐนี้
คือ ตบะ พรหมจรรย์ สัญญมะ ทมะ G
กรรมอันประเสริฐนี้นำความเป็นพราหมณ์ที่สูงสุดมาให้
[๖๖๒] บุคคลสมบูรณ์ด้วยวิชชา ๓
มีความสงบ สิ้นภพใหม่แล้ว
วาเสฏฐะ เธอจงรู้อย่างนี้ว่า
บุคคลนั้นเป็นทั้งพรหม และท้าวสักกะของบัณฑิตผู้รู้แจ้งอยู่
{๓๘๓} เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว วาเสฏฐมาณพและภารทวาชมาณพได้
กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พระภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะ
ยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่านพระโคดมจงทรงจำพวกข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วาเสฏฐสูตรที่ ๙ จบ
เชิงอรรถ
A ดูธรรมบทข้อ ๓๙๖-๔๒๓ หน้า ๑๕๘ ในเล่มนี้
B ทางอ้อม ในที่นี้หมายถึงราคะ (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
C ทางหล่ม ในที่นี้หมายถึงกิเลส (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๔๔/๒๙๙)
D ดูเชิงอรรถที่ ๑ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
E ดูเชิงอรรถที่ ๓ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
F ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๖๖ ในเล่มนี้
G ตบะ หมายถึงการสำรวมอินทรีย์
พรหมจรรย์ หมายถึงการประพฤติธรรมอันประเสริฐ
สัญญมะ หมายถึงมีศีล
ทมะ หมายถึงมีปัญญา (ขุ.สุ.อ. ๒/๖๖๑/๓๐๒)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!