25-516 อาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา



พระไตรปิฎก


๑๐. อาฬวกสูตร
ว่าด้วยอาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหา

{๓๑๐} ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ เขตเมืองอาฬวี
ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับกล่าวดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๒ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๓ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำว่า “ได้ท่าน” แล้วเสด็จออกไป อาฬวกยักษ์
กล่าวอีกว่า “จงเข้ามา สมณะ” พระผู้มีพระภาคทรงรับคำอีกว่า “ได้ท่าน”
แล้วเสด็จเข้าไป
แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กล่าวกับพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “จงออกไป
สมณะ” พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เราจะไม่ออกไปอีกแล้ว ท่านจะทำอะไรก็เชิญเถิด”
อาฬวกยักษ์กล่าวว่า “สมณะ ข้าพเจ้าจะขอตั้งปัญหาถามท่าน ถ้าท่านตอบ
ข้าพเจ้าไม่ได้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจท่านให้แหลก
สลาย หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของท่านเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ยักษ์เอ๋ย เรายังไม่เห็นใครสักคนเลยในโลก พร้อมทั้ง
เทวโลก มารโลก พรหมโลก และหมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและ
มนุษย์ ผู้จะสามารถควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้งเสีย จะขยี้หัวใจเราให้แหลกสลาย
หรือไม่ก็จะจับเท้าทั้งสองของเราเหวี่ยงไปตกที่ฝั่งแม่น้ำคงคาฟากโน้นได้ เอาเถอะ
เชิญท่านถามปัญหาตามที่ท่านสงสัยเถิด”
ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า
{๓๑๑} [๑๘๓] อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
อะไรเล่าเป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่อย่างไร นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ
[๑๘๔] (พระผู้มีพระภาคตรัสตอบดังนี้)
ศรัทธาเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจที่ประเสริฐสุดของคนในโลกนี้
ธรรม A ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้
สัจจะเท่านั้น เป็นรสที่ดีกว่ารสทั้งหลาย
บุคคลมีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา B
นักปราชญ์จึงกล่าวว่ามีชีวิตประเสริฐ C
[๑๘๕] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้อย่างไร
จะข้ามห้วงมหรรณพได้อย่างไร
จะล่วงพ้นทุกข์ได้อย่างไร
และจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร
[๑๘๖] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนจะข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา
จะข้ามห้วงมหรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท
จะล่วงพ้นทุกข์ได้ด้วยความเพียร
และจะบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
[๑๘๗] (อาฬวกยักษ์ถามดังนี้)
คนทำอย่างไรจึงจะได้ปัญญา
ทำอย่างไรจึงจะได้ทรัพย์
ทำอย่างไรจึงจะได้เกียรติ
ทำอย่างไรจึงจะผูกใจหมู่มิตรไว้ได้
และทำอย่างไรเมื่อตายแล้วจะไม่เศร้าโศก
[๑๘๘] (พระผู้พระภาคตรัสตอบดังนี้)
คนต้องการบรรลุนิพพาน
เชื่อฟังคำสั่งสอนของพระอรหันต์
ไม่ประมาท รู้จักพินิจพิจารณา
ตั้งใจฟังด้วยดี ย่อมได้ปัญญา
[๑๘๙] คนปฏิบัติตนตรงต่อเวลา เอาธุระ
มีความขยันย่อมหาทรัพย์ได้
ย่อมได้เกียรติด้วยความสัตย์จริง
ผู้ให้ย่อมผูกใจหมู่มิตรไว้ได้
[๑๙๐] คนผู้อยู่ครองเรือน มีศรัทธา
ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้คือ
สัจจะ ธรรมะ ธิติ และจาคะ
ตายแล้วย่อมไม่เศร้าโศก
[๑๙๑] เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นดูเถิดว่า
ในโลกนี้ เหตุให้ได้เกียรติที่ยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี
เหตุให้มีปัญญาที่ยิ่งไปกว่าทมะ D ก็ดี
เหตุให้ผูกมิตรสหายไว้ได้ที่ยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี
เหตุให้หาทรัพย์ได้ที่ยิ่งไปกว่าขันติ E ก็ดี มีอยู่หรือไม่
[๑๙๒] (อาฬวกยักษ์กราบทูลดังนี้)
วันนี้ ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงประโยชน์ที่จะพึงได้ในโลกหน้าแล้ว
ยังต้องถามสมณพราหมณ์เหล่าอื่นอีกทำไม
[๑๙๓] พระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับที่เมืองอาฬวี
เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์โดยแท้
ในวันนี้ข้าพระองค์ได้ทราบชัดถึงบุคคล
ที่ใคร ๆ ถวายทานแล้วมีผลมาก
[๑๙๔] ข้าพระองค์นั้นขอนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระธรรมที่พระองค์ตรัสไว้ดีแล้ว
และพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีแล้ว
เที่ยวประกาศธรรมไปทุกหนทุกแห่ง
ตามหมู่บ้านหรือตามหัวเมืองน้อยใหญ่
อาฬวกสูตรที่ ๑๐ จบ
เชิงอรรถ
A ธรรม ในที่นี้หมายถึงกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ
(สํ.ส.อ. ๑/๗๓/๙๔, ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๒)
B มีความเป็นอยู่ด้วยปัญญา หมายถึงที่เป็นคฤหัสถ์ ก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับคฤหัสถ์
คือ ขยันทำการงาน นับถือพระรัตนตรัย ให้ทาน รักษาศีล ๕ และศีล ๘
และที่เป็นบรรพชิตก็ยินดีข้อปฏิบัติสำหรับบรรพชิต คือ รักษาศีลไม่ให้ขาด
และเจริญภาวนา (ขุ.สุ.อ. ๑/๑๘๔/๒๖๔)
C สํ.ส. (แปล) ๑๕/๗๓/๘๐
D คำว่า “ธรรม” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ทมะ”
ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงปัญญาที่ได้จากการฟัง
และปัญญานี้เองเป็นเหตุให้ได้ปัญญาที่เป็นทั้งโลกิยะและโลกุตตระ
(ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๐-๑๙๑/๒๖๗-๒๖๘)
E คำว่า “ธิติ” ในข้อ ๑๙๐ กับคำว่า “ขันติ”
ในข้อ ๑๙๑ มีความหมายเดียวกัน คือ หมายถึงวิริยะ(ความเพียร)
(ขุ.สุ.อ. ๑/๑๙๑/๒๖๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!