25-509 พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด



พระไตรปิฎก


๓. ขัคควิสาณสูตร A
ว่าด้วยพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด

{๒๙๖} [๓๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลยกโทษในสัตว์ทุกจำพวก
ไม่เบียดเบียนสัตว์หนึ่งสัตว์ใดในบรรดาสัตว์เหล่านั้น
ไม่ต้องการบุตร(แล้ว) จะพึงต้องการสหายจากไหนเล่า
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด B
[๓๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ความรักย่อมมีแก่ผู้มีความเกี่ยวข้อง
ทุกข์นี้ย่อมเป็นไปตามความรัก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นโทษอันเกิดจากความรัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเมื่ออนุเคราะห์มิตร สหายผู้ใจดี
มีใจผูกพัน ย่อมทำประโยชน์ C ให้เสื่อมไปได้
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัยในความเชยชิด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กอไผ่กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวกันไว้ ฉันใด
ความห่วงใยในบุตรและทาระ
ก็กว้างใหญ่เกาะเกี่ยวไว้ ฉันนั้น
บุคคลเมื่อไม่เกี่ยวข้องเหมือนหน่อไผ่
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๓๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เนื้อในป่า มิได้ถูกผูกมัดไว้
ย่อมเที่ยวหาอาหารได้ตามความพอใจ ฉันใด
วิญญูชนเมื่อเพ่งเห็นธรรมที่ให้ถึงความเสรี D
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการปรึกษากัน
ในเรื่องที่อยู่ เรื่องการดำรงตน เรื่องการไป เรื่องการเที่ยวจาริก
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นการบวชที่ให้ถึงความเสรี
ที่พวกคนพาลไม่มุ่งหวัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ในท่ามกลางสหาย ย่อมมีการเล่น มีความยินดี
และในบุตรก็ย่อมมีความรักอันไพบูลย์
บุคคลเมื่อรังเกียจความพลัดพรากจากสิ่งเป็นที่รัก
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแผ่เมตตาไปทั้ง ๔ ทิศ ไม่ขัดเคือง
ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ E
ครอบงำอันตรายทั้งหลาย และไม่หวาดเสียว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
แม้บรรพชิตพวกหนึ่ง และคฤหัสถ์ที่กำลังครองเรือน
สงเคราะห์ได้ยาก F
บุคคลพึงเป็นผู้ขวนขวายน้อยทั้งในผู้อื่นและในบุตร
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าผู้กล้าหาญ
ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว G
ตัดเครื่องผูกพันของคฤหัสถ์แล้ว
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลพึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี H เป็นนักปราชญ์
ครอบงำอันตรายทั้งปวงได้แล้ว
พึงมีใจแช่มชื่น มีสติ เที่ยวไปกับสหายนั้นเถิด
[๔๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ถ้าบุคคลไม่พึงได้สหายผู้มีปัญญารักษาตน
เที่ยวไปด้วยกันได้ เป็นสาธุวิหารี เป็นนักปราชญ์
ก็พึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเถิด
เหมือนพระราชาทรงละทิ้งแคว้นที่ทรงชนะแล้ว
ทรงประพฤติอยู่พระองค์เดียว
และเหมือนช้างมาตังคะละทิ้งโขลงอยู่ตัวเดียวในป่า ฉะนั้น I
[๔๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เราสรรเสริญสหายสัมปทาโดยแท้
บุคคลควรคบสหายผู้ประเสริฐสุด (หรือ) ผู้เสมอกัน
ถ้าบุคคลไม่ได้สหายเหล่านี้ พึงเป็นผู้บริโภคปัจจัยอันไม่มีโทษ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลเห็นกำไลทอง ๒ วง อันสุกปลั่ง
ที่ช่างทองทำสำเร็จอย่างดี กระทบกันอยู่ที่ข้อมือแล้ว J
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๔๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งเปล่งอุทานดังนี้)
ด้วยอาการอย่างนี้ การกล่าววาจา K
หรือความเกี่ยวข้องกับเพื่อน พึงมีแก่เรา
บุคคลเมื่อเพ่งเห็นภัย L นี้ต่อไป
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
เพราะกามทั้งหลายสวยงาม
มีรสอร่อย น่ารื่นเริงใจ
ยั่วยวนจิตด้วยอารมณ์หลายรูปแบบ
บุคคลเห็นโทษในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
คำว่า ‘กาม’ นี้ เป็นอันตราย เป็นดุจฝี เป็นอุปัทวะ
เป็นโรค เป็นดุจลูกศร และเป็นภัย
บุคคลเห็นภัยนี้ในกามคุณแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลครอบงำภัยทั้งปวงเหล่านี้ คือ
ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหาย
ลม แดด เหลือบ และสัตว์เลื้อยคลานแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าละทิ้งหมู่ มีขันธ์ Mเกิดดีแล้ว
มีดอกบัว (คือธรรม) เป็นผู้ยิ่งใหญ่
อยู่ในป่าตามความชอบใจได้
เหมือนนาคะ N ละทิ้งโขลงแล้วอยู่ในป่าได้ตามชอบใจ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลสัมผัสวิมุตติใด ซึ่งเกิดขึ้นตามสมัย
วิมุตตินั้น เป็นไปไม่ได้สำหรับบุคคล
ผู้ยินดีการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ
บุคคลใคร่ครวญถ้อยคำของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้า
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์แห่งพระอาทิตย์แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า)ประพฤติล่วงทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม O
ถึงนิยาม P ได้เฉพาะมรรค Q แล้ว
เป็นผู้มีญาณเกิดขึ้นแล้ว ไม่ต้องให้ผู้อื่นแนะนำ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เป็นผู้ไม่โลภ
ไม่หลอกลวง ไม่กระหาย ไม่มีความลบหลู่
กำจัดกสาวะ(กิเลสดุจน้ำย้อม) และโมหะได้แล้ว
ไม่มีความหวัง R ในโลกทั้งปวง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงละเว้นสหายชั่วผู้ไม่เห็นประโยชน์
ผู้ตั้งอยู่ในธรรมที่ผิด
ไม่พึงคบคนผู้ขวนขวาย S และผู้ประมาทด้วยตนเอง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
บุคคลพึงคบมิตรผู้เป็นพหูสูต ทรงธรรม
ผู้ยิ่งใหญ่ มีปฏิภาณ รู้จักประโยชน์แล้ว
พึงกำจัดความสงสัยได้
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๕๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ชื่นชมการเล่น
ความยินดี และความสุขในโลก ไม่ใส่ใจ
งดเว้นจากฐานะแห่งการประดับตกแต่ง พูดคำจริง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งบุตร ภรรยา บิดา มารดา
ทรัพย์ ธัญชาติ พวกพ้อง และกาม ตามส่วนแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
กามนี้เป็นเครื่องข้อง มีความสุขน้อย
ในกามนี้มีความยินดีน้อย มีทุกข์มาก
ผู้มีปัญญารู้ว่า กามนี้เป็นดุจขอเหล็กแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ทำลายสังโยชน์แล้ว
เหมือนสัตว์น้ำทำลายข่าย
และเหมือนไฟไหม้เชื้อมอดหมดไปไม่กลับมา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ภิกษุเป็นผู้ไม่สอดส่ายจักษุ
และไม่เป็นผู้มีเท้าอยู่ไม่สุข
คุ้มครองอินทรีย์ รักษาใจได้แล้ว
ไม่ชุ่มด้วยกิเลส ไฟกิเลสมิได้เผา
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปลงเครื่องหมายคฤหัสถ์แล้ว
ครองผ้ากาสาวะ ออกบวช
เหมือนต้นทองหลางที่ใบร่วงหล่นแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด T
[๖๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ทำความยินดีในรส ไม่โลเล
ผู้ที่ไม่ต้องเลี้ยงคนอื่น เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก
มีใจไม่ผูกพันในตระกูลต่าง ๆ
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๖] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละนิวรณ์ ๕ อย่าง
ขจัดอุปกิเลส U แห่งจิตทั้งปวงได้แล้ว
ไม่อิงอาศัย ตัดความรัก และความชังได้แล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๗] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละทิ้งสุขและทุกข์
โสมนัส โทมนัสก่อน ๆ ได้แล้ว
ได้อุเบกขาและสมถะอันสะอาดแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๘] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ตั้งความเพียร
เพื่อบรรลุประโยชน์อย่างยิ่ง V
มีจิตไม่ย่อหย่อน ไม่ประพฤติเกียจคร้าน
มีความบากบั่นมั่นคง เข้าถึงเรี่ยวแรงและกำลังแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๖๙] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่ละการหลีกเร้น W และฌาน
ประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรมเป็นนิตย์
พิจารณาเห็นโทษในภพแล้ว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๐] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ปรารถนาความสิ้นตัณหา
ไม่ประมาท ไม่โง่เขลา คงแก่เรียน มีสติ
ผู้มีสังขาตธรรม ผู้แน่นอน มีความมุ่งมั่น
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๑] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ไม่สะดุ้งในเพราะเสียง เหมือนราชสีห์
ไม่ติดข่าย X เหมือนลม
ไม่เปียกน้ำ Y เหมือนบัว
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๒] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
พญาสีหราชมีเขี้ยวเป็นกำลัง
ข่มขี่ ครอบงำเนื้อทั้งหลายเที่ยวไป ฉันใด
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าก็มีปัญญาเป็นกำลัง
ครอบงำบุคคลทั้งหลายด้วยปัญญา
ใช้เสนาสนะอันสงัด
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๓] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) เสพอาศัยเมตตา กรุณา
มุทิตา และอุเบกขา อันเป็นวิมุตติตามกาล
สัตว์โลกทั้งปวงมิได้เกลียดชัง
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๔] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
(พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า) ละราคะ โทสะ และโมหะ
ทำลายสังโยชน์ได้แล้ว
ไม่สะดุ้งในเวลาสิ้นชีวิต
จึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
[๗๕] (พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์หนึ่งกล่าวดังนี้)
ทุกวันนี้ มิตรทั้งหลายมีประโยชน์เป็นเหตุ
จึงคบและเสพด้วย
มิตรที่ไม่มุ่งประโยชน์หาได้ยาก
มนุษย์ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน ไม่สะอาด Z
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าจึงประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด
ขัคควิสาณสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A คาถาที่ ๓๕-๗๕ เป็นคำที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าแต่ละองค์กล่าวไว้ คือ
พระผู้มีพระภาคตรัสเล่าประวัติในอดีตชาติของพระปัจเจกสัมพุทธเจ้าว่า
พระปัจเจกสัมพุทธเจ้าองค์นั้น ๆ ได้กล่าวคาถาว่าอย่างนั้น ๆ ให้พระอานนท์ฟัง
(ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘) และดูเทียบ ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑-๑๖๑/๓๙๓-๔๙๙
B ประพฤติอยู่ผู้เดียวเหมือนนอแรด หมายถึงประพฤติตามจริยา ๘ อย่าง คือ
(๑) ความประพฤติในอิริยาบถ ๔
(๒) ความประพฤติในอายตนะภายในและภายนอก
(๓) ความประพฤติในสติปัฏฐาน ๔
(๔) ความประพฤติในสมาธิคือฌาน ๔
(๕) ความประพฤติในอริยสัจ ๔
(๖) ความประพฤติในอริยมรรค ๔
(๗) ความประพฤติในสามัญญผล ๔
(๘) ความประพฤติเพื่อประโยชน์แก่โลก
และสามารถละตัณหาได้ ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ละกิเลสได้สิ้นเชิง
ดำเนินทางสายเอกกล่าวคือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕
พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ และตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
เหมือนแรดมีนอเดียว ไม่มีนอที่สอง
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๑/๓๙๕-๔๐๑, ขุ.สุ.อ. ๑/๓๕/๖๐-๖๑)
C ประโยชน์ มี ๓ อย่าง คือ
(๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกนี้)
(๒) สัมปรายิกัตถะ (ประโยชน์ในโลกหน้า)
(๓) ปรมัตถะ (ประโยชน์ยอดเยี่ยม) (ขุ.สุ.อ.๑/๓๗/๖๙)
D ความเสรี มี ๒ อย่าง (๑) ธัมมเสรี ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔
อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และอริยมรรคมีองค์ ๘
(๒) บุคคลเสรี คือ ผู้ที่มีธัมมเสรี (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๒๕/๔๑๗)
E ยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ หมายถึงยินดีปัจจัยตามที่ได้(ยถาลาภสันโดษ)
ยินดีตามกำลัง(ยถาพลสันโดษ) ยินดีตามสมควร(ยถาสารุปปสันโดษ)
เช่นได้จีวรไม่ว่าจะหยาบ ละเอียด เศร้าหมอง ประณีต คงทน หรือ เก่าก็ตาม
ก็ยินดีด้วยสันโดษทั้ง ๓ นั้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๒/๘๒, ขุ.จู.อ. ๑๒๘/๑๑๗)
F สงเคราะห์ได้ยาก หมายถึงเป็นผู้ถูกความไม่สันโดษครอบงำ (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๓/๘๔)
G เครื่องหมายคฤหัสถ์ คือ ผม หนวด ผ้าขาว เครื่องประดับ ดอกไม้
ของหอม เครื่องลูบไล้ สตรี บุตร ทาส เป็นต้น (ขุ.สุ.อ. ๑/๔๔/๘๕)
H ดูเชิงอรรถที่ ๔ หน้า ๑๓๕ ในเล่มนี้
I ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๕/๔๖๔/๓๕๕, ขุ.ชา. (แปล) ๒๗/๑๗-๑๙/๓๐๓
และดูธรรมบทข้อ ๓๒๘-๓๒๙ หน้า ๑๓๕-๑๓๖ ในเล่มนี้
J หมายถึงเกิดความเบื่อหน่ายด้วยพิจารณาเห็นว่าคนอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก
ย่อมกระทบกระะทั่งกันได้ ด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ ดุจกำไลมือกระทบกัน
(ขุ.สุ.อ. ๑/๔๘/๙๑) และดู ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๔/๔๓๘
K การกล่าววาจา ในที่นี้หมายถึงติรัจฉานกถา ๓๒ ประการ มีเรื่องพระราชา
เรื่องโจร เป็นต้น (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๕/๔๓๙)
L ภัย หมายถึงชาติภัย ชราภัย พยาธิภัย มรณภัย ราชภัย โจรภัย เป็นต้น
(ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๓๕/๔๔๐)
M ขันธ์ ในที่นี้หมายถึงอเสขสีลขันธ์ (กองแห่งศีลของพระอเสขะ)
(ขุ.สุ.อ.๑/๕๓/๙๙)
N นาคะ ที่เป็นชื่อของช้าง เพราะช้างไดรับการฝึกให้อยู่ในระเบียบที่มนุษย์ต้องการได้
เพราะช้างไม่กลับมาสู่ ระดับเดิมที่ยังไม่ได้ฝึก หรือเพราะช้างมีสรีระใหญ่
ที่เป็นชื่อของพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะท่านฝึกตนในศีล ที่พระอริยะใคร่
เพราะท่านไม่กลับมาสู่ภูมิที่ไม่ได้ฝึก เพราะท่านไม่ทำความชั่ว
หรือเพราะท่านมีคุณอันยิ่งใหญ่ (ขุ.สุ.อ.๑/๕๓/๙๘)
O ทิฏฐิอันเป็นเสี้ยนหนาม ในที่นี้หมายถึงทิฏฐิ ๖๒ เป็นเสี้ยนหนามต่อสัมมาทิฏฐิ
(ขุ.สุ.อ.๑/๕๕/๑๐๒)
P ถึงนิยาม ในที่นี้หมายถึงบรรลุมรรค ๔ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓)
Q มรรค ในที่นี้หมายถึงอริยมรรคมีองค์ ๘ (ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๑๔๑/๔๕๓)
R ไม่มีความหวัง หมายถึงไม่มีตัณหา (ขุ.สุ.อ.๑/๕๖/๑๐๕)
S ขวนขวาย หมายถึงเกี่ยวข้องในธรรมผิดด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ ๑๐ ประการ
(ขุ.สุ.อ.๑/๕๗/๑๐๖)
T ข้อความคล้ายกันกับสุตตนิบาตข้อ ๔๔ หน้า ๕๐๙ ในเล่มนี้
U อุปกิเลส หมายถึงอกุศลธรรมที่เข้าไปเบียดเบียนจิต มี ๑๖ คือ
(๑) อภิชฌาวิสามโลภะ คิดเพ่งเล็งอยากได้
(๒) พยาบาท คิดร้ายเขา
(๓) โกธะ ความโกรธ
(๔) อุปนาหะ ความผูกโกรธ
(๕) มักขะ ความลบหลู่คุณท่าน
(๖) ปลาสะ ความตีเสมอ
(๗) อิสสา ความริษยา
(๘) มัจฉริยะ ความตระหนี่
(๙) มายา มารยา
(๑๐) สาเถยยะ ความโอ้อวดหลอกเขา
(๑๑) ถัมภะ ความหัวดื้อ
(๑๒) สารัมภะ ความแข่งดี
(๑๓) มานะความถือตัว
(๑๔) อติมานะ ความถือตัวว่ายิ่งกว่าเขา
(๑๕) มทะ ความมัวเมา
(๑๖) ปมาทะ ความประมาท (ขุ.สุ.อ.๑/๖๖/๑๑๗)
V ประโยชน์อย่างยิ่ง หมายถึงนิพพาน (ขุ.สุ.อ.๑/๖๘/๑๒๑)
W การหลีกเร้น ในที่นี้หมายถึงกายวิเวก (สงัดกาย) (ขุ.สุ.อ.๑/๖๙/๑๒๒)
X ข่าย หมายถึง ตัณหาและทิฏฐิ (ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๓)
Y ไม่เปียกน้ำ ในที่นี้หมายถึงไม่ติดด้วยอำนาจตัณหาและทิฏฐิ
(ขุ.จู (แปล) ๓๐/๑๕๗/๔๙๕)
Z ไม่สะอาด หมายถึงกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมไม่สะอาด
(ขุ.สุ.อ.๑/๗๕/๑๓๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!