25-507 การกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ



พระไตรปิฎก


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย สุตตนิบาต
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
๑. อุรควรรค หมวดว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ
๑. อุรคสูตร ว่าด้วยการกำจัดกิเลสดุจงูลอกคราบ

{๒๙๔} [๑] ภิกษุผู้กำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นได้
เหมือนหมองูกำจัดพิษงูที่แผ่ซ่านไปด้วยยากำจัดพิษ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ A ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๒] ภิกษุผู้ตัดราคะ B พร้อมทั้งอนุสัยกิเลสได้ทั้งหมด
เหมือนคนลงไปตัดดอกปทุมที่งอกขึ้นในสระจนหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๓] ภิกษุตัดตัณหาที่ท่วมทับสัตว์โลก เป็นไปรวดเร็ว
ให้เหือดแห้งไปทีละน้อย ๆ จนหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๔] ภิกษุผู้กำจัดมานะได้หมดสิ้น
เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดสะพานไม้อ้อที่อ่อนกำลังให้ทะลายไปหมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๕] ภิกษุผู้ใช้ปัญญาค้นคว้าอยู่
ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย C
เหมือนพราหมณ์ค้นหาดอกมะเดื่อบนต้นไม่พบ ฉะนั้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสกำเริบภายในจิต
และล่วงพ้นความเจริญและความเสื่อมมีประการต่าง ๆ ได้
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๗] ภิกษุผู้ระงับวิตกทั้งหลายได้
กำหนดวิตกทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในตนได้ด้วยดี
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๘] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
ล่วงพ้นปปัญจธรรม D ได้ทั้งหมด
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๙] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมด E ในโลกว่า มีภาวะผันแปร
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๐] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโลภะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๑] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากราคะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๒] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโทสะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๓] ภิกษุผู้ไม่ทำความเพียรตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป
รู้สิ่งทั้งหมดในโลกว่า มีภาวะผันแปร เป็นผู้ปราศจากโมหะ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๔] ภิกษุผู้ไม่มีอนุสัยกิเลส F ใด ๆ
และถอนรากอกุศลธรรม G ได้หมดสิ้น
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๕] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากความกระวนกระวายใด ๆ
อันเป็นปัจจัยเพื่อมาสู่ฝั่งใน
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๖] ภิกษุผู้ไม่มีกิเลสที่เกิดจากตัณหานุสัยดุจป่าใด ๆ
ซึ่งเป็นเหตุกำหนดความผูกพันไว้ในภพ
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
[๑๗] ภิกษุผู้ละนิวรณ์ H ๕ ได้
ข้ามพ้นความสงสัยได้แล้ว ปราศจากกิเลสเพียงดังลูกศร
ชื่อว่าละฝั่งในได้ ดุจงูลอกคราบทิ้งไป ฉะนั้น
อุรคสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ฝั่งใน หมายถึงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ประการ คือ
(๑) สักกายทิฏฐิ (ความเห็นว่าเป็นอัตตาของตน)
(๒) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
(๓) สีลัพพตปรามาส (ความถือมั่นศีลและวัตร)
(๔) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม)
(๕) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ) (ขุ.สุ.อ. ๑/๑/๑๒)
B ราคะ ในที่นี้หมายถึงกามคุณ ๕ (ขุ.สุ.อ.๑/๑/๑๖)
C ไม่พบแก่นสารในภพทั้งหลาย หมายถึงไม่พบนิจจภาวะ(ภาวะเที่ยง)
หรืออัตตภาวะ(ภาวะที่เป็นอัตตา)ในกามภพ รูปภพ อรูปภพ สัญญีภพ อสัญญีภพ
เนวสัญญีนาสัญญีภพ เอกโวการภพ จตุโวการภพ และปัญจโวการภพ
(ขุ.สุ.อ. ๑/๕/๑๘)
D ปปัญจธรรม หมายถึงกิเลสเครื่องเนิ่นช้า มี ๓ อย่าง
คือ ตัณหา มานะ และทิฏฐิ (ขุ.สุ.อ.๑/๘/๒๐)
E สิ่งทั้งหมด ในที่นี้หมายถึงขันธ์ ธาตุ และอายตนะ (ขุ.สุ.อ. ๑/๙/๒๐)
F อนุสัยกิเลส หมายถึงกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ ประการ คือ
(๑) กามราคะ (ความกำหนัดในกาม) (๒) ปฏิฆะ (ความกระทบกระทั่งในใจ)
(๓) ทิฏฐิ (ความเห็นผิด) (๔) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
(๕) มานะ (ความถือตัว) (๖) ภวราคะ (ความกำหนัดในภพ)
(๗) อวิชชา (ความไม่รู้) (ขุ.สุ.อ.๑/๑๔/๒๑)
G รากอกุศลธรรม หมายถึงราคะ โทสะ และโมหะ (ขุ.สุ.อ.๑/๑๔/๒๒)
H นิวรณ์ หมายถึงธรรมเป็นเครื่องกั้นความดี มี ๕ ประการ คือ
(๑) กามฉันทะ (ความพอใจในกาม)
(๒) พยาบาท (ความคิดร้าย)
(๓) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม)
(๔) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่าน และร้อนใจ)
(๕) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย) (ขุ.สุ.อ.๑/๑๗/๒๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!