25-493 วิชชา ๓



พระไตรปิฎก


๑๐. เตวิชชสูตร A
ว่าด้วยวิชชา ๓

{๒๗๙} [๙๙] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม
เราหาบัญญัติเรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่ผู้
อื่นเรียกกันไม่
ก็เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม เราหาบัญญัติ
เรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่ผู้อื่นเรียกกันไม่
มีอธิบายอย่างไร คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ คือ ๑ ชาติบ้าง
๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง
๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง
๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอัน
มากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัป B เป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏฏะและวิวัฏฏกัป
เป็นอันมากบ้างว่า ‘ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และมีอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิด
ในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็มีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ
มีอาหาร เสวยสุขทุกข์และอายุอย่างนั้น ๆ จุติจากภพนั้นจึงมาเกิด
ในภพนี้’ ภิกษุนั้นระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ พร้อมทั้งลักษณะทั่วไป
และชีวประวัติอย่างนี้ เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๑ นี้แล้ว ความ
มืดมิดคืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่าง A คือวิชชาได้เกิดขึ้น
แก่เธอ เปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความ
เพียรอุทิศกายและใจ
๒. ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและ
ชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์
เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ‘หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นผิด และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นผิด หลังจากตาย
แล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบ
กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะ มีความ
เห็นชอบ และชักชวนผู้อื่นให้ทำกรรมตามความเห็นชอบ หลังจาก
ตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์’ เธอเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ
กำลังเกิด ทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดี
ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม
อย่างนี้ เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้แล้ว B ความมืดมิดคืออวิชชา
เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจ
๓. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ อันไม่
มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ใน
ปัจจุบัน เธอชื่อว่าได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้แล้ว C ความมืดมิดคืออวิชชา
เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือน
แสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรอุทิศกายและใจ
ภิกษุทั้งหลาย เราบัญญัติเรียกผู้บรรลุวิชชา ๓ ว่าเป็นพราหมณ์ โดยธรรม
เราหาบัญญัติเรียกบุคคลอื่นว่า เป็นพราหมณ์ โดยเหตุเพียงการกล่าวอ้างตามที่
ผู้อื่นเรียกกันไม่ อย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บุคคลใดรู้ปุพเพนิวาสญาณ เห็นทั้งสวรรค์และอบาย
บรรลุธรรมที่สิ้นความเกิด
เป็นมุนี อยู่จบพรหมจรรย์เพราะรู้ยิ่ง
เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ โดยวิชชา ๓ นี้
เราเรียกบุคคลนั้นว่า ได้วิชชา ๓
หาเรียกบุคคลอื่นว่า ได้วิชชา ๓ ตามที่ผู้อื่นเรียกกันไม่
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เตวิชชสูตรที่ ๑๐ จบ
ปัญจมวรรค จบ
ติกนิบาต จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ องฺ.ติก. (แปล) ๒๐/๕๙/๒๒๕-๒๒๙
B สังวัฏฏกัป คือกัปฝ่ายเสื่อม ได้แก่ ช่วงระยะเวลาที่โลกกำลังพินาศ วิวัฏฏกัป
คือกัปฝ่ายเจริญ ได้แก่ ช่วงระยะเวลาเวลาที่โลกกลับฟื้นขึ้นมาใหม่
(ตามนัย วิ.อ. ๑/๑๒/๑๕๘)
C ความมืดมิด (ตมะ) ในที่นี้หมายถึงโมหะ ที่เรียกว่า มืดมิด
เพราะปิดบังมิให้ระลึกชาติได้ แสงสว่าง(อาโลกะ) ในที่นี้หมายถึงวิชชา
ที่เรียกว่า แสงสว่าง เพราะทำให้เกิดแสงสว่างทำลายความมืดมิดได้
วิชชาขั้นที่ ๑ นี้ได้แก่ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
คือความรู้เป็นเครื่องระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในกาลก่อน
(องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๕๗)
D วิชชาที่ ๒ นี้ได้แก่ทิพพจักขุญาณ คือ ความรู้ที่สามารถเล็งเห็นหมู่สัตว์
ที่เป็นไปต่าง ๆ กัน เพราะอำนาจกรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าจุตูปปาตญาณ
เป็นญาณคือแสงสว่างที่ทำลายความมืดมิดคืออวิชชาที่ปิดบังการ
จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย
(องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๔, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๕๙)
E วิชชาที่ ๓ นี้ ได้แก่ อรหัตตมัคคญาณ
เป็นญาณคือความรู้เป็นเหตุละสังโยชน์ได้ทั้ง ๑๐ ประการ หรือ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาสวักขยญาณ เป็นญาณคือแสงสว่างที่ทำลาย
ความมืดมิดคืออวิชชาที่ปิดบัง อริยสัจ ๔ ประการ
(องฺ.ติก.อ. ๒/๕๙/๑๖๖, ขุ.อิติ.อ. ๙๙/๓๖๐)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!