25-441 ภิกษุผู้ตื่นอยู่



พระไตรปิฎก


๑๐. ชาคริยสูตร
ว่าด้วยภิกษุผู้ตื่นอยู่

{๒๒๕} [๔๗] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเป็นผู้ตื่น A อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และควรเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบเนือง ๆ ซึ่งกัมมัฏฐานนั้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุเป็นผู้ตื่น อยู่อย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส และเป็นผู้เห็นแจ้งสมควรแก่กาลในกุศลธรรมทั้งหลาย ในการ
ประกอบกัมมัฏฐานนั้นอยู่ พึงหวังได้ผลอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ อรหัตตผล
ในปัจจุบัน หรือเมื่อยังมีอุปาทานเหลืออยู่ก็จักเป็นอนาคามี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
เธอทั้งหลายที่หลับอยู่ จงรีบตื่น
ที่ตื่นอยู่ จงฟังคำของเรานี้
ความเป็นผู้ตื่นจากความหลับเป็นคุณประเสริฐ
เพราะภัย B ย่อมไม่มีแก่ผู้ตื่นอยู่
ผู้ที่ตื่นอยู่ มีสติสัมปชัญญะ มีจิตตั้งมั่น
เบิกบาน ผ่องใส พิจารณาธรรมโดยชอบตามกาลที่เหมาะสม
มีสมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น C พึงกำจัดความมืดได้
เพราะฉะนั้นแล ภิกษุควรประพฤติธรรมเป็นเหตุให้ตื่น
มีความเพียร มีปัญญารักษาตน มีปกติได้ฌาน
ตัดสังโยชน์ในชาติและชราได้แล้ว
ก็จะบรรลุสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยมในอัตภาพนี้แน่นอน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
ชาคริยสูตรที่ ๑๐ จบ
เชิงอรรถ
A เป็นผู้ตื่น หมายถึงเป็นผู้มีความเพียรเป็นเครื่องตื่น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๖)
B ภัย ในที่นี้หมายถึง (๑) อัตตานุวาทภัย (ภัยเกิดจากการติเตียนตนเอง) (๒) ปรานุวาทภัย (ภัยเกิดจาก
การถูกผู้อื่นติเตียน) (๓) ทัณฑภัย (ภัยเกิดจากการถูกลงอาชญา) (๔) ทุคคติภัย (ภัยเกิดจากทุคติ) และ
(๕) วัฏฏภัยมีชาติ เป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)
C สมาธิเป็นธรรมผุดขึ้น หมายถึงสัมมัปปธานที่ให้สำเร็จกิจ ๔ (ขุ.อิติ.อ. ๔๗/๑๙๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!