25-432 วิตก



พระไตรปิฎก


๒. ทุติยวรรค หมวดที่ ๒
๑. วิตักกสูตร ว่าด้วยวิตก

{๒๑๖} [๓๘] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตก A และวิเวกวิตก B ย่อมแผ่ซ่าน
ไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นอันมาก ตถาคตพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียน วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยังตถาคตผู้พอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีในความไม่เบียดเบียนเป็นอันมากว่า “เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิต
หวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนั่นแลแผ่ซ่านไปยัง
ตถาคตผู้พอใจความสงัด ยินดีความสงัดเป็นอันมากว่า ‘สิ่งใดเป็นอกุศล สิ่งนั้นเรา
ละได้แล้ว’ เพราะเหตุดังกล่าวนั้น แม้เธอทั้งหลายก็จงพอใจความไม่เบียดเบียน
ยินดีความไม่เบียดเบียนอยู่เถิด เธอทั้งหลายซึ่งพอใจความไม่เบียดเบียน ยินดีความ
ไม่เบียดเบียนอยู่ วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า “เราทั้งหลายจะไม่
เบียดเบียนสัตว์ใด ๆ ทั้งที่ยังมีจิตหวาดสะดุ้งหรือมีจิตมั่นคงด้วยการทำนี้”
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพอใจความสงัด ยินดีความสงัดอยู่เถิด เมื่อเธอ
ทั้งหลายซึ่งพอใจความสงัด ยินดีความสงัด วิตกนี้นั้นแลจะแผ่ซ่านไปเป็นอันมากว่า
“อะไรคืออกุศล อกุศลอะไรที่เราทั้งหลายยังละไม่ได้ เราทั้งหลายจะละอกุศลอะไร”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
วิตก ๒ ประการ คือ เขมวิตกที่ทรงยกขึ้นแสดงเป็นข้อที่ ๑
วิเวกวิตกที่ทรงประกาศเป็นข้อที่ ๒
ย่อมแผ่ซ่านไปยังตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงพิชิตมาร
มุนีผู้บรรเทาความมืด ผู้ถึงฝั่ง
ผู้แสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่
ผู้ถึงคุณอันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายพึงถึง
ผู้มีความชำนาญ ผู้ไม่มีอาสวะ ผู้ข้ามวัฏฏทุกข์อันเป็นยาพิษ
ผู้น้อมไปในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
ผู้ทรงไว้ซึ่งร่างกายสุดท้ายนั้นแล
เรากล่าวว่า เป็นผู้ละมาร เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งชรา
บุรุษ (ผู้มีตาดี) ยืนอยู่บนยอดภูเขาศิลาล้วน
พึงเห็นหมู่ชนได้โดยรอบ แม้ฉันใด
พระผู้มีพระภาคผู้มีพระปัญญาดี มีสมันตจักขุ C
หมดความโศกแล้ว เสด็จขึ้นสู่ปราสาทคือธรรม
ทรงพิจารณาเห็นหมู่ชนผู้ตกอยู่ในความเศร้าโศก
และถูกชาติชราครอบงำได้ชัดเจน D ฉันนั้น
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
วิตักกสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A เขมวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยเมตตา กรุณา และมุทิตา หรือหมายถึงอพยาบาทวิตก และ
อวิหิงสาวิตก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔-๑๖๘)
B วิเวกวิตก หมายถึงความตรึกที่ประกอบด้วยผลสมาบัติ หรือความตรึกที่ประกอบด้วยวิเวก ๓ ประการ คือ
กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก และประกอบด้วยวิเวก ๕ ประการ คือ ตทังควิเวก วิกขัมภนวิเวก สมุจเฉทวิเวก
ปฏิปัสสัทธิวิเวก นิสสรณวิเวก (ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๖๔)
C สมันตจักขุ หมายถึงสัพพัญญุตญาณ (ที.ม.อ. ๒/๗๐/๖๖, ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓)
D ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๘/๑๓, ที.ม. (แปล) ๑๐/๗๐/๔๐, ม.มู. (แปล) ๑๒/๒๘๒/๓๐๖-๓๐๗, ม.ม. (แปล)
๑๓/๓๓๘/๔๐๘, สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๗๒/๒๓๑, ขุ.ม. (แปล) ๒๙/๑๕๖/๔๓๐, ขุ.จู. (แปล) ๓๐/๗๕/๓๐๔
และดู ขุ.อิติ.อ. ๓๘/๑๗๓ ประกอบ

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!