25-416 การเจริญเมตตา



พระไตรปิฎก


๒. เมตตสูตร
ว่าด้วยการเจริญเมตตา

{๒๐๐} [๒๒] แท้จริง พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว พระสูตรนี้ พระอรหันต์
กล่าวไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่ากลัวบุญเลย คำว่า ‘บุญ’ นี้ เป็นชื่อของความสุข
ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก น่าพอใจ เรารู้ชัดผลที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่ารัก
น่าพอใจของบุญที่เราทำไว้ตลอดกาลนาน เราเจริญเมตตาพรหมวิหารมาถึง ๗ ปี
จึงไม่มาเกิดในโลกนี้อีกถึง ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป A ทราบมาว่า เมื่อกัปพินาศไป เราบังเกิด
อยู่ในพรหมโลกชั้นอาภัสสระ เมื่อกัปเจริญขึ้นใหม่ เราบังเกิดอยู่ในพรหมวิมานที่ว่างเปล่า
ภิกษุทั้งหลาย ณ พรหมวิมานนั้น เราเป็นพรหม เป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไม่มีใครเทียบ
ได้ด้วยคุณธรรม เป็นผู้สามารถเห็นอดีต อนาคต และปัจจุบันได้อย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้
บังคับจิตให้เป็นไปในอำนาจของตนได้ ภิกษุทั้งหลาย เราเคยเป็นท้าวสักกะจอมเทพ
ถึง ๓๖ ชาติติดต่อกัน เคยเป็นพระเจ้าจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็นธรรมราชามีอำนาจ
แผ่ไปทั่วมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นผู้พิชิตชัยได้ทั้งภายในและภายนอก มีแว่นแคว้น
มั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง สมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ B นับได้หลายร้อยครั้ง
ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงการเกิดเป็นพระเจ้าแผ่นดินประเทศราชเลย
เรานั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมากถึง
เพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรมอะไรหนอ’
ภิกษุทั้งหลาย เราตอบตนเองได้ว่า ‘บัดนี้ เราเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก
ถึงเพียงนี้ด้วยผลของกรรมและวิบากของกรรม ๓ ประการ คือ
๑. ทาน (การให้) C
๒. ทมะ (การฝึกตน) D
๓. สัญญมะ (การสำรวม) E ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความดังกล่าวมานี้แล้ว ในพระสูตรนั้น จึงตรัส
คาถาประพันธ์ดังนี้ว่า
บัณฑิตพึงศึกษาบุญที่ดีเลิศ
มีความสุขเป็นกำไรเท่านั้น คือพึงบำเพ็ญทาน
ประพฤติธรรมสม่ำเสมอ และเจริญเมตตาจิต
บัณฑิตครั้นบำเพ็ญธรรม ๓ ประการ
อันเป็นเหตุเกิดความสุขเหล่านี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข ซึ่งไม่มีการเบียดเบียนกัน
แม้เนื้อความนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้ว ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้แล
เมตตสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A ๗ สังวัฏฏวิวัฏฏกัป หมายถึง ๗ มหากัป (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๖)
B รัตนะ ๗ ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว มณีแก้ว นารีแก้ว คหบดีแก้ว และปริณายกแก้ว (ที.สี.
(แปล) ๙/๒๕๘/๘๙, ที.ม. (แปล) ๑๐/๒๔๓-๒๕๑/๑๘๓-๑๘๗, ที.ปา. ๑๑/๑๙๙/๑๒๓, องฺ.สตฺตก. (แปล)
๒๓/๖๒/๑๒๐, ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๘)
C การให้ ในที่นี้หมายถึงการบริจาคไทยธรรมมีข้าวเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)
D การฝึกตน ในที่นี้หมายถึงการสำรวมอินทรีย์มีตาเป็นต้น และการข่มกิเลสมีราคะเป็นต้น (ขุ.อิติ.อ. ๒๒/๘๙)
E การสำรวม หมายถึงการสำรวมกาย วาจา (ขุ.อิติ.อ.๒๒/๘๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!