25-366 นักบวชพวกละ 7 คน



พระไตรปิฎก


๒. สัตตชฏิลสูตร A
ว่าด้วยนักบวชพวกละ ๗ คน

{๑๓๒} [๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทในปุพพารามของนาง
วิสาขามิคารมาตา เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก
จากที่หลีกเร้น ประทับนั่งอยู่ที่ซุ้มประตูภายนอก ลำดับนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศล
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่สมควร
สมัยนั้น ชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก ๗ คน เอกสาฎก ๗ คน
และปริพาชก ๗ คนผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ เดินผ่านไป
ไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้ทอดพระเนตรเห็นชฎิล ๗ คน นิครนถ์ ๗ คน อเจลก
๗ คน เอกสาฎก ๗ คน และปริพาชก ๗ คนผู้มีขนรักแร้ เล็บ และขนยาว
ถือเครื่องบริขารต่าง ๆ เดินผ่านไปไม่ไกลจากพระผู้มีพระภาค จึงเสด็จลุกจากที่
ประทับนั่ง ทรงห่มพระภูษาเฉวียงพระอังสาข้างหนึ่ง ทรงจดพระชานุมณฑลเบื้องขวา
ลงที่พื้นดิน ทรงประคองอัญชลีไปทางนักบวชเหล่านั้น แล้วทรงประกาศพระนาม
๓ ครั้งว่า “ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือ
พระราชาปเสนทิโกศล ท่านเจ้าข้า ข้าพเจ้าคือพระราชาปเสนทิโกศล”
ลำดับนั้น เมื่อนักบวชเหล่านั้นจากไปไม่นาน พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไป
เฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกนักบวชเหล่านั้นคงเป็น
พระอรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรคเหล่าใดเหล่าหนึ่งในโลกเป็นแน่”
{๑๓๓} พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “มหาบพิตร พระองค์เป็นคฤหัสถ์ เป็นกามโภคี
ครอบครองเรือนบรรทมเบียดพระโอรสและพระชายา ใช้สอยพระภูษาและเครื่อง
สำอางจากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้ ทรงยินดีเงินและทอง
ยากที่จะทรงรู้ได้ว่า ‘คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตตมรรค’
มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ความสะอาด B พึงรู้ได้ด้วยการเจรจา C และความสะอาดนั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร กำลัง D พึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ปัญญา พึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
{๑๓๔} พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง
ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคตรัสเรื่องนี้ดียิ่งนักว่า มหาบพิตร พระองค์เป็น
คฤหัสถ์ เป็นกามโภคี ครอบครองเรือนบรรทมเบียดพระโอรสและพระมเหสี ทรงใช้
สอยพระภูษาและเครื่องสำอางจากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอม และเครื่องลูบไล้
ทรงยินดีเงินและทอง ยากที่จะทรงรู้ได้ว่า ‘คนพวกนี้เป็นพระอรหันต์ หรือเป็นผู้
บรรลุอรหัตตมรรค’
มหาบพิตร ศีล พึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ความสะอาด พึงรู้ได้ด้วยเจรจา และความสะอาดนั้นแลพึงรู้ได้โดย
ใช้เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร กำลัง พึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
มหาบพิตร ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่พึงรู้ได้โดยใช้เวลาเล็กน้อย ผู้ใส่ใจจึงรู้ได้ ผู้ไม่ใส่ใจหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้ไร้ปัญญาหารู้ได้ไม่
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นักบวชเหล่านั้น เป็นคนของข้าพระองค์ เป็นบุรุษสอดแนม
เป็นสายลับเที่ยวสอดแนมไปยังชนบทแล้วพากันกลับมา ข้าพระองค์จะรู้เรื่องราว
หลังจากที่คนเหล่านั้นสืบมา บัดนี้ คนเหล่านั้นคงจะชำระล้างละอองธุลีนั้นแล้ว
อาบสะอาดดี ลูบไล้ผิวดีแล้ว ตัดผมโกนหนวด นุ่งห่มผ้าขาว เอิบอิ่ม เพียบพร้อม
ด้วยกามคุณ ๕ บำเรออินทรีย์ทั้งหลายอยู่”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
บรรพชิตไม่พึงพยายามในบาปกรรมทั้งปวง
ไม่พึงเป็นคนของผู้อื่น
ไม่พึงอาศัยผู้อื่นเป็นอยู่
และไม่พึงใช้ธรรมเป็นเครื่องค้าขาย E
สัตตชฏิลสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเทียบ สํ.ส. (แปล) ๑๕/๑๒๒/๑๔๑-๑๔๓
B ความสะอาด หมายถึงวาจาสะอาด (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๖)
C การเจรจา แปลจากบาลีว่า “สํโวหาเรน” ซึ่งมีความหมายหลายนัยดังนี้ คือ
(๑) หมายถึงพาณิชกรรม(การค้าขาย) (ดู สุตตนิบาต ข้อ ๖๒๐ หน้า ๖๔๘)
(๒) หมายถึงเจตนา (ดู ที.ปา. ๑๑/๓๑๓/๒๐๖)
หมายถึง บัญญัติ (ดู อภิ.สงฺ. (แปล) ๓๔/๑๓๑๓/๓๓๐)
หมายถึงการเจรจา (ดู สํ.ส. (แปล) ๑๕/๒๕/๒๙)
ในที่นี้หมายถึง การเจรจา (ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๖, สํ.ส.อ. ๑/๑๒๒/๑๔๓)
D กำลัง ในที่นี้หมายถึงกำลังคือญาณ ผู้ที่ไม่มีกำลังคือญาณ เมื่อมีภัยเกิดขึ้น
ก็ไม่เห็นสิ่งที่ควรยึดเหนี่ยว และสิ่งที่จะต้องทำ ได้แต่หนีภัยไปอย่างเดียว
(ขุ.อุ.อ.๕๒/๓๕๖)
E ความหมายของพุทธอุทานนี้ คือ บรรพชิตไม่พึงพยายามทำตนดุจราชบุรุษ
เช่น รับทำงานเดินข่าว เป็นบุรุษสอดแนม เป็นต้น ไม่พึงเป็นเสวก
(ข้าราชการในราชสำนัก)ด้วยรูปแบบของบรรพชิต ไม่พึงมีผู้อื่นเป็น
ที่พึ่ง แต่พึงมีตนเป็นที่พึ่งของตน และไม่พึงแสดงธรรมเพราะต้องการทรัพย์
(ขุ.อุ.อ. ๕๒/๓๕๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!