25-334 พระภัททิยเถระ



พระไตรปิฎก


๑๐. ภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระภัททิยเถระ

{๖๔} [๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวัน สมัยนั้น ท่าน
พระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร A เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุจำนวนมากได้ฟังท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
ภิกษุเหล่านั้น ครั้นได้ฟังแล้ว จึงมีความคิดอย่างนี้ว่า “ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตร ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับ
ความสุขในราชสมบัติเมื่อครั้งเป็นฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น
เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า
‘สุขหนอ สุขหนอ”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นพากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะ
กาฬิโคธาบุตรเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทาน
เนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระภัททิยะไม่ยินดี
ประพฤติพรหมจรรย์แน่ ๆ เพราะเคยได้รับความสุขในราชสมบัติ เมื่อครั้งเป็น
ฆราวาสแล้ว ท่านคงหวนระลึกถึงความสุขนั้น เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี
หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี ก็เปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ”
{๖๕} ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุรูปหนึ่งมาตรัสว่า “ภิกษุ เธอจง
ไปเรียกภิกษุชื่อภัททิยะมาหาเราว่า ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน” ภิกษุ
นั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว เข้าไปหาท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรถึงที่อยู่
ได้กล่าวกับท่านพระภัททิยะดังนี้ว่า “ท่านภัททิยะ พระศาสดามีรับสั่งหาท่าน”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรรับคำของภิกษุนั้นแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านดังนี้ว่า
“ภัททิยะ ทราบว่า เธอเมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี
ก็เปล่งอุทานว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’ จริงหรือ”
ท่านพระภัททิยะ กาฬิโคธาบุตรทูลตอบว่า “จริง พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “ภัททิยะ ก็เธอมองเห็นประโยชน์อะไร เมื่ออยู่
ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ
สุขหนอ”
ท่านพระภัททิยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สมัยเมื่อข้าพระองค์เป็น
ฆราวาส เสวยความสุขในราชสมบัติ ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายในวัง
ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกวัง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดี
ทั้งภายในเมือง ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งภายนอกเมือง ได้รับการ
อารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งในชนบท ได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีทั้งนอกชนบท
ข้าพระองค์นั้นถึงจะได้รับการอารักขาคุ้มครองอย่างดีเช่นนี้ ก็ยังกลัว ยังหวาดหวั่น
ระแวง สะดุ้งอยู่ แต่เวลานี้ ข้าพระองค์เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่ควงไม้ก็ดี หรืออยู่
ในเรือนว่างก็ดี เพียงผู้เดียวก็ไม่กลัว ไม่หวาดหวั่น ไม่ระแวง ไม่สะดุ้ง มีความ
ปรารถนาน้อย ไม่ขนลุกขนพอง ดำรงชีวิตด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ มีจิตอิสระดุจมฤค B
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นประโยชน์อย่างนี้ เมื่ออยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่
ควงไม้ก็ดี หรืออยู่ในเรือนว่างก็ดี จึงเปล่งอุทานเนือง ๆ ว่า ‘สุขหนอ สุขหนอ’
พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน C
ผู้ใดไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ Dภายในจิต
และล่วงพ้นความเป็นภพและอภพ E ต่าง ๆ ได้แล้ว
ทวยเทพไม่สามารถจะมองเห็นผู้นั้น
ผู้ปราศจากภัย มีความสุข ไม่เศร้าโศก F
ภัททิยสูตรที่ ๑๐ จบ
มุจจลินทวรรคที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A พระภัททิยะ เป็นพระโอรสของพระนางกาฬิโคธาซึ่งเป็นเจ้าหญิงสากิยาราชเทวี
ท่านบวชได้ไม่นานก็บำเพ็ญวิปัสสนาจนได้บรรลุอภิญญา ๖ สมาทานธุดงค์
๑๓ ประการ ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านเกิดในตระกูลสูง(ขุ.อุ.อ.๒๐/๑๖๘)
B มีจิตอิสระดุจมฤค หมายถึงมีความโล่งใจ เหมือนเนื้อทรายที่อยู่ในป่า
ห่างไกลจากมนุษย์ จะยืน เดิน นั่ง นอน ก็โล่งใจ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)
C พุทธอุทานนี้ ทรงเปล่งแสดงอานุภาพวิเวกสุขที่ล่วงวิสัยของปุถุชน
ว่าเป็นสุขที่ปราศจากภัยและความโศกเศร้า (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๑)
D กิเลสเป็นเหตุให้กำเริบ หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
E ภพ หมายถึงสมบัติ(ความถึงพร้อม) วุฑฒิ(ความเจริญ)
สัสสตะ(ความเที่ยงแท้) ปุญญะ(บุญ) สุคติ(ภูมิที่ไปดี) ขุททกะ(สิ่งเล็กน้อย)
อภพหมายถึงวิปัตติ(ความวิบัติ) หานิ(ความเสื่อม) อุจเฉทะ(ความขาดสูญ)
บาป(ความชั่ว) มหันตะ(สิ่งใหญ่ ๆ) (ขุ.อุ.อ. ๒๐/๑๗๒)
F ดูเทียบ วิ.จู. (แปล) ๗/๓๓๒/๑๗๓

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!