25-329 อุบาสก



พระไตรปิฎก


๕. อุปาสกสูตร
ว่าด้วยอุบาสก

{๕๕} [๑๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น อุบาสกชาวบ้านอิจฉานังคละคนหนึ่ง
ถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับ ด้วยกิจที่จะต้องทำบางอย่าง ครั้งนั้น อุบาสกนั้นครั้นทำ
กิจที่จะต้องทำในกรุงสาววัตถีเสร็จแล้ว จึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับ
อุบาสกนั้นดังนี้ว่า “นานเหลือเกิน อุบาสก ท่านจึงมีเหตุมา ณ ที่นี้ได้”
อุบาสกนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประสงค์จะเข้าเฝ้า
พระผู้มีพระภาคนานแล้ว พระพุทธเจ้าข้า แต่ว่าข้าพระองค์มัวขวนขวายกับกิจที่จะ
ต้องทำบางอย่าง จึงไม่สามารถเข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคได้”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
ความสุขย่อมมีแก่บุคคลผู้ไม่มีอะไร A
ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว B เป็นพหูสูต C
ท่านจงดูคนที่มีกิเลสเครื่องกังวลกำลังเดือดร้อนอยู่
เพราะคนที่มีความผูกพันกับคนอื่นย่อมเดือดร้อน
อุปาสกสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ไม่มีอะไร หมายถึงไม่มีอารมณ์อะไรในอารมณ์ทั้ง ๕ ที่จะต้องยึดถือด้วยตัณหาว่า “สิ่งนั้นเป็นของเรา”
อีกนัยหนึ่งหมายถึงไม่มีกิเลสเครื่องกังวลมีราคะเป็นต้น (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐)
B ผู้มีธรรมอันนับได้แล้ว หมายถึงผู้ทำกิจแสร็จแล้ว ได้แก่ บรรลุมรรค ๔ ผล ๔
ในที่นี้หมายถึงพระอรหันต์ (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๐-๑๒๑)
C พหูสูต ในที่นี้หมายถึงเป็นพหูสูตด้วยปฏิเวธพาหุสัจจะ(ความเป็นพหูสูตด้วยการรู้แจ้งธรรม) (ขุ.อุ.อ. ๑๕/๑๒๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!