25-318 ผู้ไม่ตวาดว่า หึ หึ



พระไตรปิฎก


๔. นิหุหุงกสูตร
ว่าด้วยผู้ไม่ตวาดว่า หึ หึ

{๔๑} [๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค เมื่อแรกตรัสรู้ ประทับอยู่ ณ ควงต้นอชปาลนิโครธ A
ใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เขตตำบลอุรุเวลา สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคประทับนั่งโดย
บัลลังก์เดียว เสวยวิมุตติสุขอยู่เป็นเวลา ๗ วัน ครั้นล่วงไป ๗ วัน พระผู้มีพระภาค
ก็ทรงออกจากสมาธินั้น
ครั้งนั้น พราหมณ์หุหุกชาติ B ผู้หนึ่ง ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้สนทนาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
ยืนอยู่ ณ ที่สมควร พราหมณ์นั้นได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “พระโคดม
ผู้เจริญ บุคคลชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ด้วยเหตุเพียงไรหนอ และธรรมเหล่าไหนที่ทำ
บุคคลให้เป็นพราหมณ์”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนั้นแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานนี้
ในเวลานั้นว่า
พุทธอุทาน
พราหมณ์ใดลอยบาปธรรมได้แล้ว ไม่ตวาดผู้อื่นว่า หึ หึ
ไม่มีกิเลสดุจน้ำฝาด สำรวมตน
เรียนจบเวท C อยู่จบพรหมจรรย์
พราหมณ์นั้นไม่มีกิเลสเครื่องฟู D ขึ้นในอารมณ์ไหน ๆ ในโลก
ควรกล่าวพรหมวาทะ E ได้โดยธรรม F
นิหุหุงกสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A นิโครธ แปลว่า ต้นไทร ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Banyan” หรือ “Indian Fig-tree”
ไม้จำพวกไทร หรือ กร่างของอินเดีย พวกคนเลี้ยงแพะชอบมานั่งที่ร่มเงา
ของต้นนิโครธนี้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อชปาลนิโครธ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๓,
Pali-English Dictionary, P.355, Edited
by T.W. RHYS DAVIDS and WILLIAM STEDE)
B พราหมณ์หุหุกชาติ เป็นพราหมณ์โดยชาติกำเนิด พราหมณ์นี้มีทิฏฐิว่า
“สิ่งที่เห็นแล้วเป็นมงคล” ชอบเที่ยวตวาดว่า หึหึ เพราะความถือตัวและ
เพราะความโกรธ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๕)
C เรียนจบเวท หมายถึงบรรลุนิพพานด้วยเวทกล่าวคือมัคคญาณทั้ง ๔
(โสดาปัตติมัคคญาณ สกทาคามิมัคคญาณ สกทาคามิมัคคญาณ
อนาคามิมัคคญาณ อรหัตตมัคคญาณ) (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
D กิเลสเครื่องฟูขึ้น หมายถึงราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฏฐิ (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
E พรหมวาทะ ในที่นี้หมายถึงวาทะว่า “เราเป็นพราหมณ์” (ขุ.อุ.อ. ๔/๕๗)
F ดูเทียบ วิ.ม. (แปล) ๔/๔/๗

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Got anything to say? Go ahead and leave a comment!