21-244 พรหมจรรย์มีสิกขาบทเป็นอานิสงส์



พระไตรปิฎก


๓. สิกขานิสังสสูตร
ว่าด้วยพรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์

{๒๔๕}[๒๔๕] ภิกษุทั้งหลาย เราอยู่ประพฤติพรหมจรรย์นี้มีสิกขาเป็นอานิสงส์ มี
ปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย
พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์ เป็นอย่างไร
คือ อภิสมาจาริกสิกขา A เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เพื่อ
ความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว
อภิสมาจาริกสิกขาเราบัญญัติแล้วแก่สาวกเพื่อความเลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส
เพื่อความเลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้วด้วยโดยวิธีใดๆ สาวกนั้นไม่ทำสิกขานั้น
ให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
โดยวิธีนั้น ๆ
อีกอย่างหนึ่ง อาทิพรหมจริยกสิกขา B เราบัญญัติแก่สาวกทั้งหลายเพื่อความ
สิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการ อาทิพรหมจริยกสิกขาเราบัญญัติแล้วแก่สาวก
ทั้งหลายเพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการโดยวิธีใดๆ สาวกนั้นไม่ทำ
สิกขานั้นให้ขาด ไม่ให้ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท
ทั้งหลายโดยวิธีนั้น ๆ พรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์ เป็นอย่างนี้แล
พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอด เป็นอย่างไร
คือ ธรรมทั้งหลาย C เราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เพื่อความสิ้น
ไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการ ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลายเพื่อ
ความสิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการโดยวิธีใด ๆ ธรรมทั้งหลายนั้นสาวกพิจารณา
ด้วยปัญญาโดยวิธีนั้น ๆ พรหมจรรย์มีปัญญาเป็นยอด เป็นอย่างนี้แล
พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่น เป็นอย่างไร
คือ ธรรมทั้งหลายเราแสดงแก่สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้เพื่อความสิ้นไปแห่ง
ทุกข์โดยชอบทุกประการ ธรรมทั้งหลายเราแสดงแล้วแก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความ
สิ้นไปแห่งทุกข์โดยชอบทุกประการโดยวิธีใด ๆ ธรรมทั้งหลายนั้นเป็นธรรมอันวิมุตติ
ถูกต้องแล้วโดยวิธีนั้น ๆ พรหมจรรย์มีวิมุตติเป็นแก่น เป็นอย่างนี้แล
พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตย เป็นอย่างไร
คือ สติภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักบำเพ็ญอภิสมาจาริกสิกขาที่ยังไม่บริบูรณ์
ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์อภิสมาจาริกสิกขาที่บริบูรณ์แล้วด้วยปัญญาในฐานะ
นั้น ๆ’ บ้าง สติที่ภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักบำเพ็ญอาทิพรหมจริยกสิกขาที่ยัง
ไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์ หรือจักอนุเคราะห์อาทิพรหมจริยกสิกขาที่บริบูรณ์แล้วด้วย
ปัญญาในฐานะนั้น ๆ’ บ้าง สติที่ภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักพิจารณาธรรมที่เรา
ไม่ได้พิจารณาด้วยปัญญา หรือจักอนุเคราะห์ธรรมที่เราพิจารณาแล้วด้วยปัญญาใน
ฐานะนั้น ๆ’ บ้าง สติที่ภิกษุตั้งไว้ดีภายในว่า ‘เราจักถูกต้องธรรมที่เราไม่ได้ถูกต้อง
ด้วยวิมุตติ หรือจักอนุเคราะห์ธรรมที่เราถูกต้องแล้วด้วยปัญญาในฐานะนั้น ๆ’ บ้าง
พรหมจรรย์มีสติเป็นอธิปไตย เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ข้อที่เรากล่าวว่า ‘เราประพฤติพรหมจรรย์มีสิกขาเป็นอานิสงส์
มีปัญญาเป็นยอด มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
สิกขานิสังสสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A อภิสมาจาริกสิกขา คือ หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับมารยาทและความเป็นอยู่ ที่ดีงามสำหรับชักนำความประพฤติความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ดีงามมีคุณค่าน่าเลื่อมใสยิ่งขึ้นไป ในที่นี้ หมายถึง อุตตมสมาจาริกสิกขา คือ มารยาทชั้นสูง เป็นชื่อของศีลบัญญัติ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๕/๔๔๔)
B อาทิพรหมจริยกสิกขา คือ หลักการศึกษาอบรมในฝ่ายบทบัญญัติหรือข้อปฏิบัติเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นพุทธอาณาเพื่อป้องกันความประพฤติเสียหายและวางโทษแก่ภิกษุผู้ล่วง ละเมิดโดยปรับอาบัติหนักบ้าง เบาบ้าง ในที่นี้หมายถึง มหาศีล ๔ (ปาราชิก ๔) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๕/๔๔๔)
C ธรรมทั้งหลาย ในที่นี้หมายถึงสัจธรรม(อริยสัจ) ๔ ประการ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๕/๔๔๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.