21-243 อาปัตติภัย



พระไตรปิฎก


๒. อาปัตติภยสูตร
ว่าด้วยอาปัตติภัย

{๒๔๔}[๒๔๔] ภิกษุทั้งหลาย อาปัตติภัย (ภัยที่เกิดจากการต้องอาบัติ) ๔ ประการนี้
อาปัตติภัย ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติปาราชิกทั้งหลายว่า
เป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น
พึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติปาราชิกก็จักไม่ต้อง หรือผู้ต้องแล้ว
จักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม A’ เปรียบเหมือนพวกราชบุรุษจับ
โจรผู้ประพฤติชั่วได้แล้วแสดงแก่พระราชาด้วยกราบทูลว่า ‘ขอเดชะ
ชายผู้นี้เป็นโจรผู้ประพฤติชั่วต่อพระองค์ ขอพระองค์จงลงพระ
ราชอาญาแก่เขา’ พระราชาจึงรับสั่งอย่างนี้ว่า ‘ท่านทั้งหลายจงไป
จงใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนี้เอาแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนผม
นำตระเวนไปตามถนนและตรอกพร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดัง
น่ากลัว นำออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศใต้
แห่งพระนคร’ พวกราชบุรุษใช้เชือกเหนียวมัดบุรุษนั้นเอาแขนไพล่
หลังอย่างแน่นหนาแล้วโกนผม นำตระเวนไปตามถนนและตรอก
พร้อมกับแกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัว นำออกทางประตูด้าน
ทิศใต้แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร ในที่นั้นมีชายคน
หนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ชายผู้นี้
ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน จนต้องถูกตัดศีรษะ พวกราชบุรุษจึงจับ
ใช้เชือกเหนียวมัดแขนไพล่หลังอย่างแน่นหนา โกนผม นำตระเวน
ไปตามถนนและตรอกพร้อมกับ แกว่งบัณเฑาะว์เสียงดังน่ากลัว
นำออกทางประตูด้านทิศใต้แล้วตัดศีรษะทางด้านทิศใต้แห่งพระนคร
เขาไม่ควรทำกรรมชั่วร้ายเช่นนี้จนต้องถูกตัดศีรษะเลย’
๒. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติสังฆาทิเสสทั้งหลาย
ว่าเป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุหรือภิกษุณี
นั้นพึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติสังฆาทิเสสก็จักไม่ต้อง หรือผู้
ต้องแล้วจักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม B’ เปรียบเหมือนชายนุ่งผ้าดำ
สยายผม ห้อยสากไว้ที่คอ เข้าไปในกลุ่มชนแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควร
แก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้า
จะทำสิ่งนั้น’ ในที่นั้น มีชายคนหนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร กล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชายผู้นี้ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน
ควรแก่การห้อยสาก เขานุ่งผ้าดำ สยายผม ห้อยสากไว้ที่คอ
เข้าไปในกลุ่มชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้า
ได้กระทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสาก ท่านทั้งหลาย
พอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควรทำกรรมชั่ว
น่าติเตียน ควรแก่การห้อยสากเช่นนั้นเลย’
๓. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติปาจิตตีย์ทั้งหลายว่า
เป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุหรือภิกษุณีนั้น
พึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติปาจิตตีย์ก็จักไม่ต้อง หรือผู้ต้อง
แล้วจักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม๑’ เปรียบเหมือนชายผู้นุ่งผ้าดำ
สยายผม ห้อยห่อขี้ม้าไว้ที่คอ เข้าไปในกลุ่มชนแล้วพึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่การ
ห้อยห่อขี้ม้า ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำ
สิ่งนั้น’ ในที่นั้น มีชายคนหนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควร กล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ชายผู้นี้ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่
การห้อยห่อขี้ม้า เขานุ่งผ้าดำ สยายผม ห้อยห่อขี้ม้าไว้ที่คอ เข้า
ไปในกลุ่มชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้า
ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรแก่การห้อยห่อขี้ม้า ท่านทั้งหลาย
พอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควรทำกรรม
ชั่ว ควรแก่การห้อยห่อขี้ม้าเช่นนั้นเลย’
๔. ภิกษุหรือภิกษุณีบางรูปเข้าไปตั้งสัญญาในอาบัติปาฏิเทสนียะ
ทั้งหลายว่าเป็นภัยอย่างแรงกล้า การเข้าไปตั้งสัญญาของภิกษุ
หรือภิกษุณีนั้นพึงหวังได้ว่า ‘ผู้ยังไม่ต้องอาบัติปาฏิเทสนียะก็จัก
ไม่ต้อง หรือ ผู้ต้องแล้วจักทำคืนตามสมควรแก่ธรรม C’ เปรียบ
เหมือนชายผู้นุ่ง ผ้าดำ สยายผม เข้าไปในกลุ่มชนแล้วพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน
ควรตำหนิ ท่านทั้งหลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำ
สิ่งนั้น’ ในที่นั้น มีชายคนหนึ่งยืนอยู่ ณ ที่สมควรกล่าวอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ ชายผู้นี้ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน เขานุ่งผ้าดำ
สยายผม เข้าไปในกลุ่มชนแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญทั้ง
หลาย ข้าพเจ้า ได้ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรตำหนิ ท่านทั้ง
หลายพอใจให้ข้าพเจ้าทำสิ่งใด ข้าพเจ้าจะทำสิ่งนั้น เขาไม่ควร
ทำกรรมชั่ว น่าติเตียน ควรตำหนิเช่นนั้นเลย’
ภิกษุทั้งหลาย อาปัตติภัย ๔ ประการนี้แล
อาปัตติภยสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A ทำคืนตามสมควรแก่ธรรม หมายถึงสละความเป็นพระภิกษุตามสมควรแก่โทษคืออาบัติปาราชิก หรือ ดำรงอยู่ในภูมิสามเณร (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๔/๔๔๔)
B หมายถึงเข้าอยู่ประพฤติวุฏฐานวิธี คือ ระเบียบปฏิบัติสำหรับออกจากครุกาบัติ ในที่นี้หมายเอาอาบัติ สังฆาทิเสส มีทั้งหมด ๔ อย่าง คือ ปริวาส มานัติ อัพภาน และปฏิกัสสนา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๔/๔๔๔)
C หมายถึงแสดงอาบัติหรือปลงอาบัติ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๒๔๔/๔๔๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.