21-198 ตัณหา



พระไตรปิฎก


๙. ตัณหาสูตร
ว่าด้วยตัณหา

{๑๙๙}[๑๙๙] ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป
ซ่านไป เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่ง
เหมือนกลุ่มด้ายอันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่
ให้ล่วงพ้นอบาย A ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ตัณหาเช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป เกาะเกี่ยว
อยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย
อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้น
อบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้ นั้นเป็นอย่างไร
คือ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจก B ภายใน
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการนี้อาศัยขันธปัญจกภายนอก
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน อะไรบ้าง คือ
๑. เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็น’
๒. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้’ จึงมี
๓. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนั้น’ จึงมี
๔. ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี
๕. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยง’ จึงมี
๖. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยง’ จึงมี
๗. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็น’ จึงมี
๘. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้’ จึงมี
๙. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้น’ จึงมี
๑๐. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี
๑๑. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นบ้าง’ จึงมี
๑๒. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้บ้าง’ จึงมี
๑๓. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นบ้าง’ จึงมี
๑๔. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นบ้าง’ จึงมี
๑๕. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็น’ จึงมี
๑๖. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนี้’ จึงมี
๑๗. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้น’ จึงมี
๑๘. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่น’ จึงมี
นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก อะไรบ้าง คือ
๑. เมื่อมีตัณหาว่า ‘เราเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’
๒. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๓. ตัณหาว่า ‘เราเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๔. ตัณหาว่า ‘เราเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๕. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๖. ตัณหาว่า ‘เราเป็นผู้ไม่เที่ยงด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๗. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๘. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๙. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๐. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๑. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๒. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๓. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๔. ตัณหาว่า ‘เราพึงเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้บ้าง’ จึงมี
๑๕. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๖. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนี้ด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๗. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นอย่างนั้นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
๑๘. ตัณหาว่า ‘เราจักเป็นโดยประการอื่นด้วยขันธปัญจกนี้’ จึงมี
นี้คือตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายนอก
ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการอาศัยขันธปัญจกภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ
อาศัยขันธปัญจกภายนอก ด้วยประการฉะนี้ รวมเรียกว่า ตัณหาวิจริต ๓๖ ประการ
ตัณหาวิจริตเห็นปานนี้ ที่เป็นอดีต ๓๖ ประการ อนาคต ๓๖ ประการ ปัจจุบัน
๓๖ ประการ รวมเป็นตัณหาวิจริต C ๑๐๘ ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุทั้งหลาย ตัณหานี้นั้นแล เช่นดังข่าย ท่องเที่ยวไป แผ่ไป ซ่านไป
เกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ต่างๆ เป็นเครื่องปกคลุมหุ้มห่อโลกนี้ ซึ่งยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย
อันยุ่งเหยิง ขอดเป็นปมเหมือนหญ้ามุงกระต่ายและหญ้าปล้อง ไม่ให้ล่วงพ้นอบาย
ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏไปได้”
ตัณหาสูตรที่ ๙ จบ
เชิงอรรถ
A อบาย ในที่นี้หมายถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน แดนเปรต และอสุรกาย (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๙/๔๓๔)
B ขันธปัญจก หมายถึงหมวดห้าแห่งขันธ์ ได้แก่ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และ วิญญาณขันธ์ (อภิ.วิ. (แปล) ๓๕/๑/๑)
C ตัณหาวิจริต ๑๐๘ มีวิธีการคำนวณ ดังนี้ คือ ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายใน ตัณหาวิจริต ๑๘ ประการ อันอาศัยเบญจขันธ์ภายนอก รวมเป็น ๓๖ ประการ คูณด้วยกาล ๓ คือ ปัจจุบัน อดีต อนาคต เท่ากับ ๑๐๘

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.