21-194 เจ้าศากยะพระนามว่าวัปปะ



พระไตรปิฎก


๕. วัปปสูตร
ว่าด้วยเจ้าศากยะพระนามว่าวัปปะ

{๑๙๕}[๑๙๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุง
กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล เจ้าวัปปศากยะ A สาวกนิครนถ์เสด็จเข้าไปหาท่าน
พระมหาโมคคัลลานะถึงที่อยู่ ทรงไหว้แล้วประทับนั่ง ณ ที่สมควร ท่านพระมหา-
โมคคัลลานะได้กล่าวกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ดังนี้ว่า
“เจ้าวัปปะ บุคคลในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจา ใจ เพราะอวิชชา
สำรอกไป วิชชาเกิดขึ้น ท่านเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกข-
เวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพหรือไม่”
เจ้าวัปปะตรัสว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น คือ บุคคลในโลก
นี้พึงทำบาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่ง
ทุกขเวทนาพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพที่มีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุ” ท่านพระ
มหาโมคคัลลานะกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์สนทนาเรื่องค้างไว้เท่านี้
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น เข้าไปยังหอฉัน
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสถามท่านพระมหาโมคคัลลานะว่า
“โมคคัลลานะ บัดนี้ พวกเธอนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไร และเรื่อง
อะไรที่พวกเธอสนทนากันค้างไว้”
ท่านพระมหาโมคคัลลานะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทาน
วโรกาส ข้าพระองค์ได้กล่าวกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ว่า ‘วัปปะ บุคคล
ในโลกนี้พึงเป็นผู้สำรวมด้วยกาย วาจา ใจ เพราะอวิชชาสำรอกไป วิชชาเกิดขึ้น
ท่านเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา
ซึ่งจะพึงไปตามบุคคลใน สัมปรายภพนั้นหรือไม่’
เมื่อข้าพระองค์กล่าวอย่างนี้ เจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์
ได้กล่าวกับข้าพระองค์ว่า ‘ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าเห็นฐานะนั้น คือ ถ้าบุคคลทำ
บาปกรรมไว้ในปางก่อนซึ่งยังให้ผลไม่หมด อาสวะทั้งหลายที่เป็นปัจจัยแห่งเวทนาจะ
พึงไปตามบุคคลผู้มีบาปกรรมนั้นเป็นเหตุในสัมปรายภพ’ เรื่องนี้แลที่ข้าพระองค์
กับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์สนทนาค้างไว้ ก็พอดีพระผู้มีพระภาคเสด็จมาถึง
พระพุทธเจ้าข้า”
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับเจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ดังนี้ว่า
“วัปปะ ถ้าท่านจะพึงยอมรับข้อที่ควรยอมรับและคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อเรา
และท่านไม่รู้ความหมายแห่งภาษิตของเราข้อใด ท่านพึงซักถามเราในข้อนั้นยิ่งขึ้น
ไปว่า ‘พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร’ เราพึง
สนทนากันในเรื่องนี้ได้”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักยอมรับ
ข้อที่ควรยอมรับและจักคัดค้านข้อที่ควรคัดค้านต่อพระผู้มีพระภาค อนึ่ง ข้าพระองค์
ไม่รู้ความหมายแห่งภาษิตของพระผู้มีพระภาคข้อใด ข้าพระองค์จักซักถามพระผู้มี
พระภาคในข้อนั้นยิ่งขึ้นไปว่า ‘พุทธพจน์นี้เป็นอย่างไร เนื้อความแห่งพุทธพจน์นี้
เป็นอย่างไร’ ขอเราจงสนทนากันในเรื่องนี้เถิด”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน B เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางกายเป็นปัจจัย เมื่อ
บุคคลเว้นขาดจากการกระทำทางกายแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน
ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือ
ข้อปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ท่านย่อมเห็นฐานะที่เป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา
ซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางวาจาเป็นปัจจัย เมื่อ
บุคคลเว้นขาดจากการกระทำทางวาจาแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน
ย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือ
ข้อปฎิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล
ควรเรียกมาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ท่านย่อมเห็นฐานะ อันเป็นเหตุให้อาสวะที่เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา
ซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้น หรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะการกระทำทางใจเป็นปัจจัย เมื่อบุคคล
เว้นขาดจากการกระทำทางใจแล้ว อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน ย่อมไม่มี
แก่เขา เขาไม่ทำกรรมใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือข้อ
ปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป ฯลฯ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ท่านย่อมเห็นฐานะอัน เป็นเหตุให้อาสวะอันเป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา
ซึ่งจะพึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพ นั้นหรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ท่านเข้าใจเรื่องนั้นว่าอย่างไร คือ อาสวะ
เหล่าใดที่ก่อทุกข์ เดือดร้อน เกิดขึ้นเพราะอวิชชาเป็นปัจจัย เพราะอวิชชาสำรอกไป
วิชชาเกิดขึ้น อาสวะเหล่านั้นที่ก่อทุกข์ เดือดร้อนย่อมไม่มีแก่เขา เขาไม่ทำกรรม
ใหม่ด้วย รับผลกรรมเก่าแล้วทำให้สิ้นไปด้วย นี้คือข้อปฏิบัติที่ทำให้กิเลสสิ้นไป
ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อม
เข้ามาในตน อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน
ท่านย่อมเห็นฐานะอันเป็นเหตุให้อาสวะที่ เป็นปัจจัยแห่งทุกขเวทนา
พึงไปตามบุคคลในสัมปรายภพนั้นหรือไม่”
เจ้าวัปปศากยะกราบทูลว่า “ไม่เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “วัปปะ ภิกษุมีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว
ย่อมบรรลุธรรมเป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปทางตาแล้วไม่ดีใจ C
ไม่เสียใจ D มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู … ดมกลิ่นทางจมูก …
ลิ้มรสทางลิ้น … ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย … รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่ดีใจ
ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด E ย่อม
รู้ชัดว่า ‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า
‘เราเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ ย่อมรู้ชัดว่า ‘หลังจากตายแล้ว เวทนาทั้งปวงที่
ไม่น่าเพลิดเพลินไม่น่ายินดีในโลกนี้จักสงบเย็นลง’
วัปปะ เงาปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ ครั้งนั้น บุรุษถือจอบและตะกร้ามา เขาตัด
ต้นไม้นั้นที่โคน ครั้นแล้วขุดคุ้ยเอารากขึ้น ตัดไม่ให้เหลือแม้ขนาดเท่าต้นแฝก เขา
ตัดต้นไม้นั้นเป็นท่อนๆ ทำให้เป็นซีก ๆ แล้วผึ่งลมและแดด ครั้นผึ่งลมและแดด
แห้งแล้ว เผาทำให้เป็นขี้เถ้า โปรยในที่มีลมพัดจัดหรือลอยในแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยว
เมื่อเป็นเช่นนั้น เงาที่ปรากฏเพราะอาศัยต้นไม้ที่ถูกตัดรากถอนโคนเหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ แม้ฉันใด
ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีจิตหลุดพ้นโดยชอบอย่างนี้แล้ว ย่อมได้บรรลุธรรม
เป็นเครื่องอยู่เนืองนิตย์ ๖ ประการ เธอเห็นรูปทางตาแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ ฟังเสียงทางหู … ดมกลิ่นทางจมูก … ลิ้มรสทางลิ้น
… ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย … รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่ เธอเมื่อเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า
‘เราเสวยเวทนามีกายเป็นที่สุด’ เมื่อเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ย่อมรู้ชัดว่า ‘เรา
เสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด’ ย่อมรู้ชัดว่า ‘หลังจากตายแล้ว เวทนาทั้งปวงที่ไม่น่า
เพลิดเพลินไม่น่ายินดีในโลกนี้จักสงบเย็นลง”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว เจ้าวัปปศากยะ สาวกนิครนถ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษต้องการกำไร เลี้ยงลูกม้าไว้ขาย
แต่ไม่ได้กำไร ซ้ำยังต้องเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจยิ่งขึ้นไป แม้ฉันใด
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ต้องการกำไร เข้าคบหานิครนถ์ผู้โง่ก็ไม่ได้กำไร
ทั้งเหน็ดเหนื่อย ลำบากใจยิ่งขึ้นไป ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพระองค์นี้จักโปรย
ความเลื่อมใสในพวกนิครนถ์ผู้โง่เสียในที่ลมพัดจัดหรือลอยเสียในแม่น้ำอันมีกระแสเชี่ยว
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคชัดเจนไพเราะยิ่งนัก พระผู้มีพระภาค
ทรงประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่าง ๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดโดยตั้งใจว่า ‘คนมี
ตาดีจักเห็นรูปได้’ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพร้อมทั้งพระธรรมและพระ
สงฆ์เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”
วัปปสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A หมายถึงเป็นพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔)
B เดือดร้อน ในที่นี้หมายถึงความเร่าร้อนทั้งทางกายและทางใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔)
C ไม่ดีใจ หมายถึงไม่เกิดโสมนัสในอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา) ด้วยอำนาจราคะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔)
D ไม่เสียใจ หมายถึงไม่เกิดโทมนัสในอนิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา) ด้วยอำนาจปฏิฆะ (ความ ขัดใจ) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๔)
E มีกายเป็นที่สุด หมายถึงเวทนาที่เป็นไปในทวาร ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายยังเป็นไปอยู่ตราบเท่า ที่กายคือทวาร ๕ ยังเป็นไปอยู่ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๕/๔๑๕)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.