21-193 โกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม
พระไตรปิฎก
๔. สาปุคิยาสูตร
ว่าด้วยโกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม
{๑๙๔}[๑๙๔] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ในนิคมของโกฬิยราชสกุลชื่อสาปุคะ
แคว้นโกฬิยะ A ครั้งนั้นแล โกฬิยบุตรชาวสาปุคิยนิคม B จำนวนมาก
เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ท่านพระอานนท์ได้กล่าวกับโกฬิยบุตร ชาวสาปุคิยนิคมดังนี้ว่า
“ท่านพยัคฆปัชชะ C ทั้งหลาย องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ (ความบริสุทธิ์) ๔
ประการพระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระ
องค์นั้นตรัสไว้ชอบแล้ว เพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและ
ปริเทวะ (ความเศร้าโศกและความคร่ำครวญ) เพื่อดับทุกข์ (ความทุกข์กาย) และ
โทมนัส (ความทุกข์ใจ) เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน
องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
๒. องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
๓. องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
๔. องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้มีศีล ฯลฯ D สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย
นี้เรียกว่า สีลปาริสุทธิ
ความพอใจ E ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่
ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในสีลปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักยังสีลปาริสุทธิเห็นปานนั้น
ที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองสีลปาริสุทธิที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้น ๆ
ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ F บรรลุจตุตถฌานอยู่ นี้เรียกว่า
จิตตปาริสุทธิ
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่
ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในจิตตปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักบำเพ็ญจิตตปาริสุทธิ
เห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองจิตตปาริสุทธิที่บริบูรณ์
ไว้ในฐานะนั้น ๆ ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความ
เพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า ‘นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกข-
นิโรธคามินีปฏิปทา’ นี้เรียกว่า ทิฏฐิปาริสุทธิ
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่ท้อถอย
สติสัมปชัญญะในทิฏฐิปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักบำเพ็ญทิฏฐิปาริสุทธิเห็นปานนั้นที่ยังไม่
บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองทิฏฐิปาริสุทธิ์ที่บริบูรณ์ไว้ในฐานะนั้นๆ
ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิ
องค์ความเพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกนี้แลเป็นผู้ประกอบองค์ความเพียรเพื่อสีลปาริสุทธิ ประกอบ
องค์ความเพียรเพื่อจิตตปาริสุทธิ ประกอบองค์ความเพียรเพื่อทิฏฐิปาริสุทธิแล้ว
ย่อมคลายจิตในธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด G ย่อมเปลื้องจิตในธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความเปลื้องแล้วย่อมถูกต้องสัมมาวิมุตติ H นี้เรียกว่า วิมุตติปาริสุทธิ
ความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความขะมักเขม้น ความไม่
ท้อถอย สติและสัมปชัญญะในวิมุตติปาริสุทธินั้นว่า ‘เราจักบำเพ็ญวิมุตติปาริสุทธิ
เห็นปานนั้นที่ยังไม่บริบูรณ์ให้บริบูรณ์หรือจักประคับประคองวิมุตติปาริสุทธิที่บริบูรณ์
ไว้ในฐานะนั้น ๆ ด้วยปัญญา’ ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย นี้เรียกว่า องค์ความ
เพียรเพื่อวิมุตติปาริสุทธิ
ท่านพยัคฆปัชชะทั้งหลาย องค์ความเพียรเพื่อปาริสุทธิ ๔ ประการนี้แล
พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัส
ไว้ชอบแล้วเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อ
ดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำให้แจ้งนิพพาน”
สาปุคิยาสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๗ (สุปปวาสาสูตร) หน้า ๙๕ ในเล่มนี้
B หมายถึงชนผู้อยู่ในนิคมชื่อว่า สาปุคะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓)
C เป็นชื่อเรียกชาวโกฬิยะ เพราะบรรพบุรุษของชาวโกฬิยะนี้สร้างบ้านเรือนอยู่ในพยัคฆปัชชนคร (นครทาง เสือผ่าน) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓)
D ดูข้อความเต็มในข้อ ๓๗ (อปริหานิยสูตร) หน้า ๖๐ ในเล่มนี้
E ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๙๓ (ทุติยสมาธิสูตร) หน้า ๑๔๑ ในเล่มนี้
F ดูเนื้อความเต็มในข้อ ๑๖๓ (อสุภสูตร) หน้า ๒๒๙ ในเล่มนี้
G ธรรมที่เป็นเหตุแห่งความกำหนัด หมายถึงอิฏฐารมณ์ (อารมณ์ที่น่าปรารถนา)อันเป็นปัจจัยให้เกิดราคะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓)
H สัมมาวิมุตติ หมายถึงอรหัตตผลวิมุตติ วิมุตติคืออรหัตตผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๔/๔๑๓)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต