21-191 ฐานะที่พึงรู้ด้วยฐานะ



พระไตรปิฎก


๒. ฐานสูตร
ว่าด้วยฐานะที่พึงรู้ด้วยฐานะ

{๑๙๒}[๑๙๒] “ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้อันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔
ประการ
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน
ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มี
ปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
๒. ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์นั้นแลพึงรู้ได้
โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการ
หารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
๓. กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
๔. ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่
เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ร่วมกัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีปกติทำให้ขาด
ทำให้ทะลุ ทำให้ด่าง ทำให้พร้อย ไม่ทำต่อเนื่อง ไม่ประพฤติต่อเนื่องในศีลทั้งหลาย
ตลอดกาลนานแล ท่านผู้นี้เป็นผู้ทุศีล ไม่ใช่เป็นผู้มีศีล’
อนึ่ง บุคคลในโลกนี้เมื่ออยู่ร่วมกัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีปกติไม่ทำให้ขาด
ไม่ทำให้ทะลุ ไม่ทำให้ด่าง ไม่ทำให้พร้อย มีปกติทำต่อเนื่อง ประพฤติต่อเนื่องใน
ศีลทั้งหลายตลอดกาลนานแล ท่านผู้นี้เป็นผู้มีศีล ไม่ใช่เป็นผู้ทุศีล’
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘ศีลพึงรู้ได้ด้วยการอยู่ร่วมกัน และศีลนั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้
เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้
ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์
นั้นแลพึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการ
หารู้ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร
เราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว
เป็นอย่างหนึ่ง พูดกับคนสองคนเป็นอย่างหนึ่ง พูดกับคนสามคนเป็นอย่างหนึ่ง
พูดกับคนหลายคนเป็นอย่างหนึ่ง ท่านผู้นี้พูดคราวหลังต่างไปจากพูดคราวก่อน
ท่านผู้นี้มีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ หามีถ้อยคำบริสุทธิ์ไม่’
อนึ่ง บุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้พูดกันตัวต่อตัว
เป็นอย่างไร พูดกับคนสองคน สามคน หลายคนก็อย่างนั้น ท่านผู้นี้พูดคราวหลัง
ก็ไม่ต่างจากพูดคราวก่อน ท่านผู้นี้มีถ้อยคำบริสุทธิ์ หามีถ้อยคำไม่บริสุทธิ์ไม่’
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘ความบริสุทธิ์พึงรู้ได้ด้วยถ้อยคำ และความบริสุทธิ์นั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่’ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวเช่นนี้แลว่า ‘กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้
ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เราจึง
กล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้ประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือ
ความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่พิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนี้เอง
การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นในโลกสันนิวาสตามความเป็นจริง ในการได้อัตภาพตาม
ความเป็นจริง โลกธรรม ๘ คือ (๑) ได้ลาภ (๒) เสื่อมลาภ (๓) ได้ยศ (๔) เสื่อมยศ
(๕) นินทา (๖) สรรเสริญ (๗) สุข (๘) ทุกข์ หมุนเวียนไปตามโลก และโลกก็
หมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘’ บุคคลนั้นประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์
หรือความเสื่อมเพราะโรค ย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ ร่ำไร ทุบอกคร่ำครวญ ถึง
ความเลอะเลือน
ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ประสบความเสื่อมญาติ ความเสื่อมโภคทรัพย์ หรือ
ความเสื่อมเพราะโรค ย่อมพิจารณาเห็นอย่างนี้ว่า ‘โลกสันนิวาสนี้เป็นอย่างนี้เอง
การได้อัตภาพนี้เป็นอย่างนั้นในโลกสันนิวาสตามความเป็นจริง ในการได้อัตภาพ
ตามความเป็นจริง โลกธรรม ๘ คือ (๑) ได้ลาภ (๒) เสื่อมลาภ (๓) ได้ยศ
(๔) เสื่อมยศ (๕) นินทา (๖) สรรเสริญ (๗) สุข (๘) ทุกข์ หมุนเวียนไปตามโลก
และโลกก็หมุนเวียนไปตามโลกธรรม ๘’ บุคคลนั้นประสบความเสื่อมญาติ ความ
เสื่อมโภคทรัพย์ หรือความเสื่อมเพราะโรค ย่อมไม่เศร้าโศก ไม่ลำบากใจ ไม่ร่ำไร
ไม่ทุบอกคร่ำครวญ ไม่ถึงความเลอะเลือน
ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กำลังพึงรู้ได้ในคราวมีอันตราย และกำลังนั้นแลพึงรู้ได้
โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
เรากล่าวไว้เช่นนี้แลว่า ‘ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแล
พึงรู้ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้
ได้ไม่ ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เพราะอาศัยเหตุอะไร เรา
จึงกล่าวไว้เช่นนั้น
คือ บุคคลบางคนในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีการ
แสวงหาปัญหา A อย่างไร เตรียมปัญหา B อย่างไร และถามปัญหาอย่างไร ท่านผู้นี้
มีปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ไม่อ้างบทที่มี
ความหมาย ลึกซึ้ง สงบ ประณีต ที่สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด อันบัณฑิตพึงรู้ได้
ท่านผู้นี้กล่าวธรรมอันใด ก็ไม่สามารถจะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย
จำแนก ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นทั้งโดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มี
ปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา’
บุคคลเมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีการแสวงหาปัญหาอย่างไร
ฯลฯ ท่านผู้นี้มีปัญญาทราม ไม่ใช่มีปัญญา’ เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีตาดียืนอยู่
ริมฝั่งห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวเล็ก ๆ ผุดอยู่ เขาพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ปลาตัวนี้มี
กิริยาผุดเป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลานี้ตัวเล็ก
ไม่ใช่ตัวไหญ่’ ฉะนั้น
ส่วนบุคคลในโลกนี้เมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้มีการแสวงหา
ปัญหาอย่างไร เตรียมปัญหาอย่างไร และถามปัญหาอย่างไร ท่านผู้นี้มีปัญญา
ไม่ใช่มีปัญญาทราม ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะท่านผู้นี้ อ้างบทที่มีความหมาย
ลึกซึ้ง สงบ ประณีต สามัญชนคาดไม่ถึง ละเอียด บัณฑิตพึงรู้ได้ และท่านผู้นี้
กล่าวธรรมใด ก็สามารถที่จะบอก แสดง บัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก
ทำให้ง่ายซึ่งเนื้อความแห่งธรรมนั้นทั้งโดยย่อหรือโดยพิสดาร ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่
ใช่มีปัญญาทราม”
บุคคลเมื่อสนทนากัน จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ท่านผู้นี้แสวงหาปัญหาอย่างไร ฯลฯ
ท่านผู้นี้มีปัญญา ไม่ใช่มีปัญญาทราม’ เปรียบเหมือนบุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ริมฝั่ง
ห้วงน้ำ พึงเห็นปลาตัวใหญ่ผุดอยู่ เขาพึงทราบอย่างนี้ว่า ‘ปลาตัวนี้มีกิริยาผุด
เป็นอย่างไร ทำให้เกิดคลื่นเพียงไหน และมีความเร็วเพียงไร ปลานี้ตัวใหญ่ ไม่ใช่
ตัวเล็กฉะนั้น
ข้อที่เรากล่าวว่า “ปัญญาพึงรู้ได้ด้วยการสนทนา และปัญญานั้นแลพึงรู้
ได้โดยใช้เวลานาน ไม่ใช่นิดหน่อย ผู้มนสิการจึงรู้ได้ ผู้ไม่มนสิการหารู้ได้ไม่
ผู้มีปัญญาจึงรู้ได้ ผู้มีปัญญาทรามหารู้ได้ไม่‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
ภิกษุทั้งหลาย ฐานะ ๔ ประการนี้แลอันบุคคลพึงรู้ได้ด้วยฐานะ ๔ ประการนี้”
ฐานสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A แสวงหาปัญหา หมายถึงการพิจารณาเนื้อความที่ตนปรารถนาจะรู้
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๒/๔๑๒, องฺ.จตุกฺก. ฏีกา ๒/๑๙๒/๔๕๔)
B หมายถึงนำจิตไปด้วยอำนาจการตระเตรียมปัญหา หรือการตกแต่งปัญหา
(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๒/๔๑๒)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.