21-190 ธรรมที่เข้าถึงโสตประสาท



พระไตรปิฎก


๑. โสตานุคตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เข้าถึงโสตประสาท

{๑๙๑}[๑๙๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการแห่ง
ธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ A อัน
บุคคลพึงหวังได้ B
อานิสงส์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ
เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม
เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ C เมื่อตายไป
จะไปเกิดในหมู่เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏ
แก่เธอผู้มีความสุขในภพนั้น สติเกิดขึ้นช้า D ต่อมา เธอระลึกได้
จึงบรรลุคุณวิเศษ E เร็วพลัน ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการ
ที่ ๑ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ
แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
๒. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่เทพ
หมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มี
ความสุขอยู่ในภพนั้นเลย แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทาง
จิต แสดงธรรมแก่หมู่เทพ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘นี้คือธรรม
วินัยที่เราเคยประพฤติพรหมจรรย์’ สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอ
ระลึกได้ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดในเสียงกลอง เขาเดินทางไกล พึงได้
ยินเสียงกลอง เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า ‘ใช่เสียง
กลองหรือไม่หนอ’ ที่แท้ เขาพึงถึงความตกลงใจว่า ‘เป็นเสียง
กลองแน่นอน’ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๒
แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
๓. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่เทพ
หมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความ
สุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญทางจิตก็ไม่
ได้แสดงธรรมแก่หมู่เทพ แต่เทพบุตรแสดงธรรมในหมู่เทพ เธอมี
ความคิดอย่างนี้ว่า ‘นี้คือธรรมวินัยที่เราเคยประพฤติพรหมจรรย์’
สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอระลึกได้ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
เปรียบเหมือนบุรุษผู้ฉลาดต่อเสียงสังข์ เขาเดินทางไกล พึงได้ยิน
เสียงสังข์ เขาไม่พึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงว่า ‘ใช่เสียง
สังข์หรือไม่หนอ’ ที่แท้ เขาพึงถึงความตกลงใจว่า ‘เป็นเสียง
สังข์แน่นอน’ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ ๓
แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
๔. ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา
อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้น
ของภิกษุนั้นเป็นภาวะเข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก ขึ้นใจ แทง
ตลอดดีด้วยทิฏฐิ เธอหลงลืมสติ เมื่อตายไป จะไปเกิดในหมู่
เทพหมู่ใดหมู่หนึ่ง บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้
มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ ถึงความชำนาญ
ทางจิตก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่หมู่เทพ แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดง
ธรรมแก่หมู่เทพ แต่เทพบุตรผู้เป็นโอปปาติกะ F เตือนเทพบุตร ผู้
เป็นโอปปาติกะว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ท่านระลึกถึงธรรมวินัยที่พวก
เราเคยประพฤติพรหมจรรย์มาได้ไหม’ เธอกล่าวอย่างนี้ว่า ‘ระลึกได้
ระลึกได้ ท่านผู้นิรทุกข์’ สติเกิดขึ้นช้า ต่อมา เธอระลึกได้ จึง
บรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรม ฯลฯ จึงบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน
เปรียบเหมือนสหาย ๒ คนผู้เคยเล่นฝุ่นด้วยกันมาพบกันบาง
ครั้งบางคราวในที่บางแห่ง คนหนึ่งพึงกล่าวกับอีกคนหนึ่งอย่างนี้
ว่า ‘สหาย ท่านระลึกถึงกรรมนี้ได้บ้างไหม’ เขาจึงกล่าวอย่างนี้ว่า
ระลึกได้ ระลึกได้ สหาย’ ฉะนั้น ภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์
ประการที่ ๔ แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท คล่องปาก
ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
ภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ ๔ ประการนี้แห่งธรรมทั้งหลายที่เข้าถึงโสตประสาท
คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ อันบุคคลพึงหวังได้
โสตานุคตสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ หมายถึงทำให้ประจักษ์ชัดด้วยปัญญาทั้งโดยผลและโดยเหตุ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑)
B พึงหวังได้ หมายถึงจำต้องปรารถนา จำต้องได้อย่างแน่นอน (องฺ.ติก.อ. ๒/๗๐/๒๑๔, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๗๕/๑๕๓)
C หลงลืมสติ ในที่นี้หมายถึงการตายแบบปุถุชน มิได้หมายถึงการไม่มีสติเป็นเครื่องระลึกถึงพระพุทธพจน์(องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑)
D สติเกิดขึ้นช้า หมายถึงความระลึกได้ช้า ถึงพระพุทธพจน์ที่เคยเล่าเรียนมา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑)
E บรรลุคุณวิเศษ ในที่นี้หมายถึงบรรลุพระนิพพาน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑)
F หมายถึง เทพบุตรผู้เกิดก่อน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๙๑/๔๑๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.