21-187 อุปกมัณฑิกาบุตร



พระไตรปิฎก


๘. อุปกสูตร
ว่าด้วยอุปกมัณฑิกาบุตร

{๑๘๘}[๑๘๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ครั้งนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตร A เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้วจึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้ามีวาทะ B อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ผู้ใดผู้หนึ่ง
กล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้นโดยประการ
ทั้งปวง เมื่อไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้นโดยประการทั้งปวง ย่อมถูกติเตียนกล่าวโทษ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุปกะ ถ้าบุคคลกล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อเขากล่าว
ติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้น เมื่อไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้น ย่อมถูกติเตียน
กล่าวโทษ ท่านนั่นแล กล่าวติเตียนผู้อื่น เมื่อท่านกล่าวติเตียนผู้อื่น ย่อมไม่ให้
กุศลกรรมเกิดขึ้น เมื่อไม่ให้กุศลกรรมเกิดขึ้น ย่อมถูกติเตียนกล่าวโทษ”
อุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุคคลพึงจับปลาที่พอ
ผุดขึ้นเท่านั้นด้วยแหใหญ่ แม้ฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน พอกล่าวขึ้น
เท่านั้น พระผู้มีพระภาคก็ทรงจับด้วยบ่วงคือวาทะอันใหญ่”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อุปกะ เราบัญญัติไว้ว่า ‘นี้เป็นอกุศล’ บท พยัญชนะ
และธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า ‘นี้เป็นอกุศลแม้เพราะเหตุนี้’
อนึ่ง เราบัญญัติไว้ว่า ‘อกุศลนี้นั่นแลควรละเสีย’ บท พยัญชนะ และธรรมเทศนา
ของตถาคตในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า ‘อกุศลนี้ควรละเสียแม้เพราะเหตุนี้’
อนึ่ง เราบัญญัติไว้ว่า ‘นี้เป็นกุศล’ บท พยัญชนะ และธรรมเทศนาของตถาคต
ในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า ‘นี้เป็นกุศลแม้เพราะเหตุนี้’ อนึ่ง เราบัญญัติไว้ว่า ‘กุศลนี้
นั่นแลควรเจริญ’ บท พยัญชนะ และธรรมเทศนาของตถาคตในข้อนั้นประมาณมิได้ว่า
‘กุศลนี้ควรเจริญแม้เพราะเหตุนี้”
ลำดับนั้นแล อุปกมัณฑิกาบุตรชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ลุก
จากที่นั่งถวายอภิวาททำประทักษิณ C แล้ว เข้าไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้กราบทูลการสนทนากับพระผู้มีพระภาคทั้งหมดแด่พระเจ้า
แผ่นดินมคธพระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร
ครั้นเมื่ออุปกมัณฑิกาบุตรกราบทูลอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธพระนามว่า
อชาตศัตรู เวเทหิบุตรกริ้ว ไม่ทรงพอพระทัย ได้ตรัสกับอุปกมัณฑิกาบุตรว่า “เจ้าเด็ก
ลูกชาวนาเกลือนี้อวดดี ปากกล้า บังอาจ จักสำคัญพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา-
สัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่าควรรุกราน เจ้าอุปกะจงไปเสีย จงพินาศไป อย่ามาให้เรา
เห็นหน้าอีก”
อุปกสูตรที่ ๘ จบ
เชิงอรรถ
A ผู้เป็นอุปัฏฐากของพระเทวทัต (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๘/๔๐๗)
B ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๑๘๓ (สุตสูตร) หน้า ๒๕๙ ในเล่มนี้
C ทำประทักษิณ หมายถึงเดินเวียนขวา โดยการประนมมือเวียนไปทางขวาตามเข็มนาฬิกา ๓ รอบ มีผู้ที่ ตนเคารพอยู่ทางขวา เสร็จแล้วหันหน้าไปทางผู้ที่ตนเคารพ เดินถอยหลังจนสุดสายตา คือ จนมองไม่เห็น ผู้ที่ตนเคารพนั้น คุกเข่าลงกราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้วลุกขึ้นเดินจากไป (วิ.อ. ๑/๑๕/๑๗๖-๑๗๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.