21-184 สัจจะที่เป็นเหตุให้ไม่สำคัญตนว่าเป็นสมณะ



พระไตรปิฎก


๕. สมณสัจจสูตร
ว่าด้วยสัจจะที่เป็นเหตุให้ไม่สำคัญตนว่าเป็นสมณะ

{๑๘๕}[๑๘๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล ปริพาชกผู้มีชื่อเสียงหลายท่าน คือ อันนภาระ วรธร
สกุลุทายี และปริพาชกที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ อาศัยอยู่ที่อารามของปริพาชก ริมฝั่ง
แม่น้ำสัปปินี
ครั้นในเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น A เข้าไปยังอาราม
ของปริพาชก ริมฝั่งแม่น้ำสัปปินี
ขณะนั้นแล ปริพาชกผู้เป็นอัญเดียรถีย์เหล่านั้นกำลังประชุมสนทนาเรื่องนี้ว่า
“สัจจะของพราหมณ์เป็นอย่างนี้ สัจจะของพราหมณ์เป็นอย่างนี้”
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปหาปริพาชกทั้งหลายถึงที่พำนัก ประทับ
นั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้ ได้ตรัสถามปริพาชกเหล่านั้นว่า “ปริพาชกทั้งหลาย
บัดนี้พวกท่านนั่งประชุมสนทนากันด้วยเรื่องอะไรหนอ เรื่องอะไรที่พวกท่านสนทนา
กันค้างไว้”
ปริพาชกทั้งหลายทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ณ สถานที่นี้ พวกข้าพเจ้า
มาชุมนุมกันตั้งประเด็นสนทนากันเรื่องนี้ว่า ‘สัจจะของพราหมณ์เป็นอย่างนี้ สัจจะ
ของพราหมณ์เป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้
อันเราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วจึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม
สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พราหมณ์ B ในธรรมวินัยนี้ กล่าวอย่างนี้ว่า ‘สัตว์ทั้งปวงไม่ควร
ถูกฆ่า’ พราหมณ์เมื่อกล่าวอย่างนี้ ชื่อว่าพูดจริง ไม่ใช่พูดเท็จ
เพราะการพูดนั้น เขาจึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นสมณะ’ ไม่สำคัญตน
ว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา’
ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้เสมอเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ด้อย
กว่าเขา’ และเขารู้สัจจะในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติเพื่อความเอ็นดู
อนุเคราะห์สัตว์ทั้งหลาย
๒. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘กาม C ทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรผันไปเป็นธรรมดา’ พราหมณ์เมื่อพูดอย่างนี้ ชื่อว่าพูด
จริง ไม่ใช่พูดเท็จ เพราะการพูดนั้น เขาจึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
สมณะ’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
ผู้ประเสริฐกว่าเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้เสมอเขา’ ไม่สำคัญตน
ว่า ‘เป็นผู้ด้อยกว่าเขา’ และเขารู้สัจจะในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติ
เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับกามทั้หลาย
๓. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ภพ D ทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มี
ความแปรผันไปเป็นธรรมดา’ พราหมณ์เมื่อพูดอย่างนี้ ชื่อว่าพูด
จริง ไม่ใช่พูดเท็จ เพราะการพูดนั้น เขาจึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
สมณะ’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นพราหมณ์’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็น
ผู้ประเสริฐกว่าเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้เสมอเขา’ ไม่สำคัญตน
ว่า ‘เป็นผู้ด้อยกว่าเขา’ และเขารู้สัจจะในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติ
เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับภพทั้งหลาย
๔. พราหมณ์กล่าวอย่างนี้ว่า ‘ไม่มีเรา E เป็นที่กังวลของใคร ๆ ในที่
ไหน ๆ และไม่มีผู้อื่น F เป็นที่กังวลของเราในที่ไหน ๆ‘G พราหมณ์
เมื่อพูดอย่างนี้ ชื่อว่าพูดจริง ไม่ใช่พูดเท็จ เพราะการพูดนั้น เขา
จึงไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นสมณะ’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นพราหมณ์’
ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ประเสริฐกว่าเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้
เสมอเขา’ ไม่สำคัญตนว่า ‘เป็นผู้ด้อยกว่าเขา’ และเขารู้สัจจะ
ในข้อปฏิบัตินั้น จึงปฏิบัติปฏิปทาที่ไม่ให้กังวล
ปริพาชกทั้งหลาย สัจจะของพราหมณ์ ๔ ประการนี้แล อันเราทำให้แจ้งด้วย
ปัญญาอันยิ่งเองแล้ว จึงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม”
สมณสัจจสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๓๐ (ปริพพาชกสูตร) หน้า ๔๖ ในเล่มนี้
B พราหมณ์ ในที่นี้หมายถึงพระขีณาสพ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๕/๔๐๕)
C กาม ในที่นี้หมายถึงวัตถุกามและกิเลสกาม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๕/๔๐๕)
D ภพ หมายถึงกามภพ รูปภพ และอรูปภพ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๕/๔๐๕)
E เรา มาจากคำว่า อหํ แปลว่า ตัวเรา ตามนัยอรรถกถาที่แก้ว่า “อตฺตโน อตฺตานํ อัตตาของเรา” (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๕/๔๐๕)
F ผู้อื่น แปลตามอรรถกถาที่แก้ว่า “ปรสฺส จ อตฺตานํ อัตตาของผู้อื่น” (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๕/๔๐๕)
G ข้อความนี้ว่า “ไม่มีเรา…ในที่ไหนๆ” อรรถกถาเรียกข้อความประโยคนี้เป็น
สุญญตา ๔ เงื่อน (จตุกฺกโกฏิกา สุญฺญตา) คือ
(๑) เพราะไม่มีอัตตาของเรา
(๒) อัตตาของเราจึงไม่เป็นที่กังวลของผู้อื่น
(๓) เพราะไม่มีอัตตาของผู้อื่น
(๔) อัตตาของผู้อื่นจึงไม่เป็นที่กังวลของเรา (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๘๕/๔๐๕-๔๐๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.