21-182 สิ่งที่ได้ฟัง



พระไตรปิฎก


๓. สุตสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ได้ฟัง

{๑๘๓}[๑๘๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถานที่ให้
เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์
แห่งแคว้นมคธ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่
บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระโคดม ข้าพเจ้ามีวาทะ A อย่างนี้ มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าว
ถึงสิ่งที่ตนเห็นว่า ‘เราได้เห็นอย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งกล่าว
ถึงสิ่งที่ตนได้ฟังว่า ‘เราได้ฟังอย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น ผู้ใดผู้หนึ่ง
กล่าวถึงสิ่งที่ตนรู้ว่า ‘เราได้รู้อย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น ผู้ใดผู้หนึ่ง
กล่าวถึงสิ่งที่ตนรู้แจ้งว่า ‘เราได้รู้แจ้งอย่างนี้’ ย่อมไม่มีโทษเพราะการพูดนั้น
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้เห็นเป็นสิ่ง
ควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้เห็นเป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ เราไม่กล่าวว่า
‘ทุกสิ่งที่ได้ฟังเป็นสิ่งควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้ฟังเป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’
เราไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้ทราบเป็นสิ่งควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่ได้ทราบ
เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ เราไม่กล่าวว่า ‘ทุกสิ่งที่รู้แจ้งเป็นสิ่งควรกล่าว’ และไม่กล่าวว่า
‘ทุกสิ่งที่รู้แจ้งเป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’
พราหมณ์ เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้เห็น อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรม
เสื่อมไป เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้เห็นเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึง
สิ่งใดที่ได้เห็น อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้เห็นเช่นนี้
เป็นสิ่งควรกล่าว’
เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้ฟัง อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรา
กล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ฟังเช่นนี้เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้ฟัง
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ฟังเช่นนี้เป็นสิ่งควรกล่าว’
เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่ได้ทราบ อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป
เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ทราบเช่นนี้ เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใด
ที่ได้ทราบ อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่ได้ทราบเช่นนี้
เป็นสิ่งควรกล่าว’
เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่รู้แจ้ง อกุศลธรรมเจริญขึ้น กุศลธรรมเสื่อมไป เรา
กล่าวว่า ‘สิ่งที่รู้แจ้งเช่นนี้ เป็นสิ่งไม่ควรกล่าว’ แต่เมื่อบุคคลกล่าวถึงสิ่งใดที่รู้แจ้ง
อกุศลธรรมเสื่อมไป กุศลธรรมเจริญขึ้น เรากล่าวว่า ‘สิ่งที่รู้แจ้งเช่นนี้เป็นสิ่งควรกล่าว”
ครั้งนั้นแล วัสสการพราหมณ์ผู้เป็นมหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธชื่นชม ยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วลุกจากที่นั่งจากไป
สุตสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A วาทะ ในที่นี้หมายถึงลัทธิ ความเชื่อ เช่น คำว่า นัตถิกวาทะ ลัทธิที่ถือว่า ไม่มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สัตว์ บริสุทธิ์หรือเศร้าหมอง (ที.สี.อ. ๑๖๘/๑๔๖)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.