21-172 พระมหาโกฏฐิตะ



พระไตรปิฎก


๓. มหาโกฏฐิตสูตร
ว่าด้วยพระมหาโกฏฐิตะ

{๑๗๓}[๑๗๓] ครั้งนั้นแล ท่านพระมหาโกฏฐิตะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่
ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ถามท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ A ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น B
ยังมีอยู่หรือ C”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะถามว่า “ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไป
ไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ D”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น
ทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่หรือ E”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
“ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่น
มีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ F”
“ผู้มีอายุ อย่ากล่าวอย่างนั้น”
ท่านพระมหาโกฏฐิตะกล่าวว่า “เมื่อผมถามว่า ‘ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖
ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นยังมีอยู่หรือ’ ท่านตอบว่า ‘อย่ากล่าว
อย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ
อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ’ ท่านก็ตอบว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะ
ผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่หรือ’
ท่านก็ตอบว่า ‘อย่ากล่าวอย่างนั้น’ เมื่อผมถามว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการ
ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นมีอยู่ก็มิใช่ไม่มีอยู่ก็มิใช่หรือ’ ท่านก็ตอบว่า อย่า
กล่าวอย่างนั้น’ ก็คำที่ท่านกล่าวแล้วนี้จะทราบความหมายได้อย่างไร”
ท่านพระสารีบุตรกล่าวตอบว่า “ผู้มีอายุ เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ
๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นยังมีอยู่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่
ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือ
ด้วยวิราคะ อะไรอื่นไม่มีอยู่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคล
กล่าวว่า ‘เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นทั้งมีอยู่
และไม่มีอยู่หรือ ชื่อว่าคิดปรุงแต่สิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง เมื่อบุคคลกล่าวว่า ‘เพราะ
ผัสสายตนะ ๖ ประการ ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ อะไรอื่นมีอยู่ก็มิใช่ ไม่มีอยู่ก็
มิใช่หรือ’ ชื่อว่าคิดปรุงแต่งสิ่งที่ไม่ควรคิดปรุงแต่ง ผู้มีอายุ ปปัญจธรรม G(สิ่งที่คิด
ปรุงแต่ง) ย่อมดำเนินไปตราบเท่าที่ผัสสายตนะ ๖ ดำเนินไป ผัสสายตนะ ๖ ก็
ดำเนินไปตราบเท่าที่ปปัญจธรรมดำเนินไป ผู้มีอายุ เพราะผัสสายตนะ ๖ ประการ
ดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ ปปัญจธรรมจึงดับสนิท ระงับไป”
มหาโกฏฐิตสูตรที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A ผัสสายตนะ หมายถึงที่เกิดผัสสะ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๓/๓๙๖)
B หมายถึงกิเลสมีประมาณน้อยอย่างอื่นจากผัสสายตนะ ๖ นั้น (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๓/๓๙๖)
C ลักษณะการถามอย่างนี้จัดเป็นการถามอย่างสัสสตวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าอัตตาและโลกเที่ยง) (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๓๐-๓๙/๑๑-๑๖)
D ลักษณะการถามแบบนี้จัดเป็นการถามอย่างอุจเฉทวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าหลังจากตายแล้วอัตตาขาดสูญ)(ดู ที.สี. (แปล) ๙/๘๔-๙๒/๓๔-๓๖)
E ลักษณะการถามแบบนี้จัดเป็นการถามอย่างเอกัจจสัสสตวาทะ (ลัทธิที่ถือว่าบางอย่างเที่ยง) (ดู ที.สี. (แปล) ๙/๓๘-๕๗/๑๖-๒๔)
F ลักษณะการถามแบบนี้ จัดเป็นการถามอย่างอมราวิกเขปวาทะ (ลัทธิที่พูดหลบเลี่ยง ไม่แน่นอนตายตัว)(ดู ที.สี. (แปล) ๙/๖๑-๖๖/๒๔-๒๘)
G ปปัญจธรรม ในที่นี้หมายถึงกิเลสที่ทำให้คิดปรุงแต่งยื้ดเยื้อ ได้แก่ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ (องฺ.จตุกฺก.อ.
๒/๑๗๓/๓๙๗)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.