21-170 เจตนา
พระไตรปิฎก
๑. เจตนาสูตร
ว่าด้วยเจตนา
{๑๗๑}[๑๗๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อกาย A มีอยู่ สุขทุกข์ภายใน
ย่อมเกิดขึ้น เพราะกายสัญเจตนา B เป็นเหตุ เมื่อวาจามีอยู่ สุขทุกข์ภายในย่อมเกิดขึ้น
เพราะวจีสัญเจตนาเป็นเหตุ หรือเมื่อใจมีอยู่ สุขทุกข์ภายในย่อมเกิดขึ้น เพราะ
มโนสัญเจตนาเป็นเหตุ คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย
บุคคลปรุงแต่งกายสังขาร C อันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
บุคคลอื่นปรุงแต่งกายสังขารของบุคคลนั้นอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคล
นั้นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ปรุงแต่งกายสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลไม่รู้สึกตัว ปรุงแต่งกายสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลปรุงแต่งวจีสังขาร D อันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
บุคคลอื่นปรุงแต่งวจีสังขารของบุคคลนั้นอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคล
นั้นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ปรุงแต่งวจีสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลไม่รู้สึกตัว ปรุงแต่งวจีสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลปรุงแต่งมโนสังขาร E อันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง
บุคคลอื่นปรุงแต่งมโนสังขารของบุคคลนั้นอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคล
นั้นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ปรุงแต่งมโนสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
บุคคลไม่รู้สึกตัว ปรุงแต่งมโนสังขารอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นบ้าง
อวิชชาย่อมตกไปตามธรรมเหล่านี้ แต่เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ
กายอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นจึงไม่มี วาจาอันเป็นปัจจัยให้
สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นจึงไม่มี ใจอันเป็นปัจจัยให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้น
แก่บุคคลนั้นจึงไม่มี เขต ฯลฯ วัตถุ ฯลฯ อายตนะ ฯลฯ อธิกรณะ F อันเป็นปัจจัย
ให้สุขทุกข์ภายในเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น จึงไม่มี
ภิกษุทั้งหลาย ความได้อัตภาพ ๔ ประการ G นี้
ความได้อัตภาพ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนดำเนินไป มิใช่สัญเจตนาของ
ผู้อื่นดำเนินไป
๒. ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป มิใช่สัญเจตนา
ของตนดำเนินไป
๓. ความได้อัตภาพที่สัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป
๔. ความได้อัตภาพที่มิใช่สัญเจตนาของตนและมิใช่สัญเจตนาของผู้
อื่นดำเนินไป
ภิกษุทั้งหลาย ความได้อัตภาพ ๔ ประการนี้แล”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ท่านพระสารีบุตรได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทราบชัดเนื้อความแห่งธรรมที่พระองค์ตรัส
ไว้โดยย่อนี้ได้โดยพิสดารอย่างนี้ว่า บรรดาความได้อัตภาพ ๔ ประการนั้น ความได้
อัตภาพที่สัญเจตนาของตนดำเนินไป มิใช่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป นี้คือการจุติ
จากกายนั้นของสัตว์เหล่านั้น มีได้เพราะสัญเจตนาของตนเป็นเหตุ ความได้
อัตภาพที่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป มิใช่สัญเจตนาของตนดำเนินไป นี้คือการจุติ
จากกายนั้นของสัตว์เหล่านั้น มีได้เพราะสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นเหตุ ความได้
อัตภาพที่สัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไป นี้คือการจุติจากกาย
นั้นของสัตว์เหล่านั้น มีได้เพราะสัญเจตนาของตนและสัญเจตนาของผู้อื่นเป็นเหตุ
ความได้อัตภาพที่มิใช่สัญเจตนาของตนและมิใช่สัญเจตนาของผู้อื่นดำเนินไปนี้พึงเห็น
เทวดาพวกไหนที่ดำเนินไปด้วยอัตภาพนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร พึงเห็นเทวดาทั้งหลายผู้เข้าถึงชั้น
เนวสัญญานาสัญญายตนะ ด้วยอัตภาพนั้น”
ท่านพระสารีบุตรทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ
เป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้จุติจากกายนั้นแล้วเป็นอาคามีกลับมาสู่ความเป็น
อย่างนี้ และอะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้จุติจากกายนั้นแล้วเป็น
อนาคามีผู้ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ยังละโอรัมภาคิย-
สังโยชน์ (สังโยชน์เบื้องต่ำ)ไม่ได้ แต่บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานอยู่ในปัจจุบัน
เขาชอบใจเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ติดใจเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น
และถึงความปลื้มใจกับเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในเนวสัญญา-
นาสัญญายตนฌานนั้น น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ชอบอยู่กับ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้ว
เป็นอาคามีกลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ H
บุคคลบางคนในโลกนี้ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ บรรลุเนวสัญญานาสัญญา-
ยตนฌานอยู่ในปัจจุบัน เขาชอบใจ พอใจเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นและถึง
ความปลื้มใจกับเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น เขาดำรงอยู่ในเนวสัญญา-
นาสัญญายตนฌานนั้น น้อมใจไปในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ชอบอยู่กับ
เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นโดยมาก ไม่เสื่อม เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ
เป็นผู้อยู่ร่วมกับพวกเทวดาชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภพ เขาจุติจากชั้นนั้นแล้ว
เป็นอนาคามี ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ I
สารีบุตร นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกในโลกนี้จุติจากกายนั้นแล้ว
เป็นอาคามี กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้สัตว์บางพวกใน
โลกนี้จุติจากกายนั้นแล้ว เป็นอนาคามีไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้”
เจตนาสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A กายในที่นี้หมายถึงกายทวาร ได้แก่ กายวิญญัติ (ความเคลื่อนไหวร่างกายให้รู้ความหมาย เช่น สั่นศีรษะ โบกมือ ขยิบตา ดีดนิ้ว) (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๑/๓๙๒)
B กายสัญเจตนา หมายถึงความจงใจทางกาย ที่เป็นปัจจัยให้เกิดกรรม ได้แก่ กายกรรม มี ๒๐ ประการ คือ กามาวจรกุศล ๘ อกุศล ๑๒ สุขเกิดขึ้นเพราะกุศลกรรม ๘ ประการเป็นปัจจัย ทุกข์เกิดขึ้นเพราะ อกุศลกรรม ๑๒ ประการเป็นปัจจัย วจีสัญเจตนาและมโนสัญเจตนา ก็มีนัยเช่นเดียวกัน (องฺ.จตุกฺก.อ.๒/๑๗๑/๓๙๒)
C กายสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางกาย หรือกายสัญเจตนา คือ ความจงใจทางกาย(องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑)
D วจีสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางวาจา ได้แก่ วิตกและวิจาร หรือวจีสัญเจตนา คือ ความจงใจทางวาจา (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๓/๑๐๑)
E มโนสังขาร หมายถึงสภาพปรุงแต่งการกระทำทางใจ ได้แก่ สัญญาและเวทนา หรือมโนสัญเจตนา คือ ความจงใจทางใจ (องฺ.ติกฺ.อ. ๒/๒๓/๑๐๑)
F คำว่า “เขต วัตถุ อายตนะ และอธิกรณะ” นี้เป็นชื่อของกุศลกรรมและอกุศลกรรม ซึ่งมีความหมายว่า ที่งอก ที่เกิด หรือที่ตั้งแห่งวิบากที่เป็นสุขทุกข์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๑/๓๙๔)
G ที.ปา. ๑๑/๓๑๒/๒๐๖
H กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ หมายถึงกลับมาสู่ความเป็นผู้มีขันธ์ ๕ อันเป็นกามาวจร คือ ไม่เกิดในภพนั้น และไม่เกิดในภพชั้นสูงขึ้นไป (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๑/๓๙๕)
I ไม่กลับมาสู่ความเป็นอย่างนี้ หมายถึงไม่กลับมาสู่ความเป็นผู้มีขันธ์ ๕ ไม่เกิดในภพเบื้องต่ำ คือ เกิด ในภพนั้นบ้าง เกิดในภพเบื้องสูงขึ้นไปบ้าง ปรินิพพานในภพชั้นนั้นนั่นแลบ้าง (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๗๑/๓๙๕)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต