21-159 พระสุคตและวินัยของพระสุคต



พระไตรปิฎก


๑๐. สุคตวินยสูตร
ว่าด้วยพระสุคตและวินัยของพระสุคต

{๑๖๐}[๑๖๐] ภิกษุทั้งหลาย พระสุคต A หรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลก
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลแก่คนหมู่มาก B เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
พระสุคต คือใคร
คือ ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ
เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่าง
ยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค C ภิกษุทั้งหลาย นี้คือพระสุคต
วินัยของพระสุคต เป็นอย่างไร
คือ พระสุคตนั้นย่อมทรงแสดงธรรมที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามใน
ท่ามกลาง และมีความงามในที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและ
พยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ภิกษุทั้งหลาย นี้คือวินัยของพระสุคต
ภิกษุทั้งหลาย พระสุคตหรือวินัยของพระสุคต เมื่อดำรงอยู่ในโลกอย่างนี้
พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูลคนหมู่มาก เพื่อสุขแก่คนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก
เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาผิดลำดับโดยบทพยัญชนะที่ สืบทอด
กันมาไม่ดี D แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาไม่ดี ก็เป็น
การสืบทอดขยายความไม่ดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไป
เพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๒. เป็นผู้ว่ายาก ประกอบด้วยธรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่ายาก ไม่
อดทน ไม่รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒
ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ E ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ไม่
ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตร
ก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
๔. เป็นเถระ เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม F
ทอดธุระ G ในปวิเวก H ไม่ปรารภความเพียร I เพื่อถึงธรรม
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง
ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ
เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้มักมาก เป็นผู้ย่อหย่อน
เป็นผู้นำในโอกกมนธรรม ทอดธุระในปวิเวก ไม่ปรารภความ
เพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อ
ทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อม
เป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไปแห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมสูญหายไป
แห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ
ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ธรรม ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้
๑. เล่าเรียนสูตรที่เล่าเรียนกันมาดีโดยบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี
แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดีก็เป็นการสืบทอดขยาย
ความดี นี้เป็นธรรมประการที่ ๑ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น
ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๒. เป็นคนว่าง่าย ประกอบด้วยธรรรมเครื่องทำความเป็นผู้ว่าง่าย
อดทน รับคำพร่ำสอนโดยเคารพ นี้เป็นธรรมประการที่ ๒ ย่อม
เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๓. เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา
ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป
สูตรก็ไม่ขาดรากฐาน มีที่พึ่งอาศัย นี้เป็นธรรมประการที่ ๓ ย่อม
เป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
๔. เป็นเถระ เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน หมดธุระใน
โอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรม
ที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยัง
ไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุผู้เป็นเถระ
เหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็เป็นผู้ไม่มักมาก เป็นผู้ไม่ย่อหย่อน
หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียร
เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้
แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง นี้เป็นธรรมประการที่ ๔ ย่อมเป็น
ไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ ประการนี้แลย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่
เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม
สุคตวินยสูตรที่ ๑๐ จบ
อินทริยวรรคที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A พระสุคต หมายถึงพระนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายหลายนัย ดังนี้ คือ (๑) เสด็จไปงาม คือ บริสุทธิ์ ได้แก่ ดำเนินไปด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ (๒) เสด็จไปยังสถานที่ดี คือ อมตนิพพาน (๓) เสด็จ ไปโดยชอบ คือ ไม่กลับมาหากิเลสที่ทรงละได้แล้ว (๔) ตรัสไว้โดยชอบ คือ ตรัสพระวาจาที่ควรในฐานะที่ควรเท่านั้น (วิ.อ. ๑/๑/๑๐๘)
B เกื้อกูลแก่คนหมู่มาก หมายถึงพระสุคตเมื่อดำรงอยู่ในโลก ทำให้เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้สมบัติ ๓ อย่าง คือ (๑) มนุษยสมบัติ สมบัติในมนุษย์ (๒) เทวสมบัติ สมบัติในสวรรค์ (๓) นิพพานสมบัติ สมบัติคือพระนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๕๓/๕๘, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๕๓/๕๗)
C ดูเชิงอรรถที่ ๒ ข้อ ๓๓ (สีหสูตร) หน้า ๕๒ ในเล่มนี้
D หมายถึงบทบาลีที่สืบทอดกันผิดระเบียบ (องฺ.ทุก.อ. ๒/๒๐/๒๘)
E เรียนจบคัมภีร์ (อาคตาคมา) ในที่นี้หมายถึงเรียนจบพระพุทธพจน์ คือ พระไตรปิฎก ๕ นิกาย ได้แก่
ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย (องฺ.ติก.อ. ๒/๒๐/๙๘)
F โอกกมนธรรม ในที่นี้หมายถึงนิวรณ์ ๕ คือ (๑) กามฉันทะ ความพอใจในกาม (๒) พยาบาท ความ
คิดร้าย (๓) ถีนมิทธะ ความหดหู่และเซื่องซึม (๔) อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ (๕) วิจิกิจฉา
ความลังเลสงสัย (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
G ทอดธุระ หมายถึงทอดทิ้งหน้าที่ในวิเวก ๓ ประการ คือ กายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก (องฺ.ทุก.อ.
๒/๔๕/๕๓)
H ปวิเวก หมายถึงอุปธิวิเวกคือสภาวะอันเป็นที่ตั้ง ที่ทรงไว้แห่งทุกข์ คือ กาม กิเลส เบญจขันธ์ และ
อภิสังขาร กล่าวคือนิพพาน (องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓)
I ไม่ปรารภความเพียร หมายถึงไม่ทำความเพียร ๒ อย่าง คือ ความเพียรทางกายและความเพียรทางจิต
(องฺ.ทุก.อ. ๒/๔๕/๕๓, องฺ.ทุก.ฏีกา ๒/๔๕/๕๑)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.