21-158 ภิกษุณี



พระไตรปิฎก


๙. ภิกขุนีสูตร
ว่าด้วยภิกษุณี

{๑๕๙}[๑๕๙] สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น
ภิกษุณีรูปหนึ่ง เรียกชายคนหนึ่งมาบอกว่า “พ่อหนุ่มผู้เจริญ มานี่ ท่านจงเข้าไปหา
พระคุณเจ้าอานนท์ถึงที่อยู่ กราบเท้าท่านด้วยเศียรเกล้าตามคำของเรา เรียนว่า
‘ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นางขอกราบเท้า
พระคุณเจ้าอานนท์’ และจงเรียนอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอโอกาส ขอ
พระคุณเจ้าอานนท์ได้โปรดอนุเคราะห์เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของภิกษุณีด้วยเถิด”
บุรุษนั้นรับคำแล้ว เข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ไหว้แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร
ได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุณีชื่อนี้อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก นางขอกราบเท้า
พระคุณเจ้าอานนท์ด้วยเศียรเกล้า” และเรียนอย่างนี้ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอ
โอกาส ขอพระคุณเจ้าอานนท์ได้โปรดอนุเคราะห์ เข้าไปหาภิกษุณีนั้นยังสำนักของ
ภิกษุณีด้วยเถิด”
ท่านพระอานนท์รับโดยดุษณีภาพ
ครั้นเวลาเช้า ท่านพระอานนท์ครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวร A เข้าไปหา
ภิกษุณีนั้นยังสำนักของภิกษุณี ภิกษุณีนั้นเห็นท่านพระอานนท์มาแต่ไกล นอนคลุม
ศีรษะอยู่บนเตียง
ลำดับนั้น ในเวลาเช้า ท่านพระอานนท์เข้าไปหาภิกษุณีนั้นถึงที่อยู่ นั่งบน
อาสนะที่ปูลาดไว้ ได้กล่าวกับภิกษุณีนั้นดังนี้ว่า
“น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคลอาศัยอาหาร B แล้วพึงละอาหาร C เสีย
กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัยตัณหา D แล้วพึงละตัณหา E เสีย กายนี้เกิดขึ้น
เพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะแล้วพึงละมานะเสีย กายนี้เกิดขึ้นเพราะเมถุนและการ
ฆ่าปัจจัยแห่งเมถุนด้วยอริยมรรค พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว
น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคล
อาศัยอาหารแล้วพึงละอาหารเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น
น้องหญิง ภิกษุในธรรมวินัยนี้พิจารณาโดยแยบคายแล้วจึงฉันอาหาร ไม่ใช่เพื่อเล่น
ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่ฉันเพียงเพื่อความดำรงอยู่
ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์
พรหมจรรย์โดยคิดเห็นว่า ‘เราจักกำจัดเวทนาเก่าและจักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น
ความดำเนินไปแห่งกาย ความไม่มีโทษ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เรา’ เธออาศัย
อาหารแล้วภายหลังจึงละอาหารเสียได้
น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะอาหาร บุคคลอาศัย
อาหารแล้วพึงละอาหารเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัย
ตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังข่าวว่า ‘ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ F ปัญญาวิมุตติ G
อันไม่มีอาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ‘เมื่อไรหนอ แม้เราก็จักทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ
ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’
เธออาศัยตัณหา แล้วภายหลังจึงละตัณหาเสียได้
น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะตัณหา บุคคลอาศัย
ตัณหาแล้วพึงละตัณหาเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
น้องหญิง เรากล่าวไว้แล้วเช่นนี้แลว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะมานะ บุคคลอาศัย
มานะแล้วพึงละมานะเสีย‘ เพราะอาศัยเหตุอะไรเราจึงกล่าวไว้เช่นนั้น น้องหญิง
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ฟังข่าวว่า ‘ภิกษุชื่อนี้ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี
อาสวะเพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน’ เธอมีความคิด
อย่างนี้ว่า ‘ก็ท่านผู้มีอายุนั้นทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ
เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ไฉนเราจักทำให้แจ้ง
บ้างไม่ได้’ เธออาศัยมานะแล้วภายหลังจึงละมานะเสียได้
น้องหญิง ข้อที่เรากล่าวว่า ‘กายนี้เกิดขึ้นเพราะมานะ บุคคลอาศัยมานะ
แล้วพึงละมานะเสีย‘ เรากล่าวเพราะอาศัยเหตุนี้
น้องหญิง กายนี้เกิดขึ้นเพราะเมถุนและการฆ่าปัจจัยแห่งเมถุนด้วยอริยมรรค
พระผู้มีพระภาคตรัสไว้แล้ว”
ลำดับนั้นแล ภิกษุณีนั้นลุกจากเตียง ห่มผ้าเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง หมอบลง
แทบเท้าของท่านพระอานนท์ด้วยเศียรเกล้า ได้เรียนท่านพระอานนท์ว่า “ข้าแต่ท่าน
ผู้เจริญ ดิฉันเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด ได้ล่วงเกินไปแล้ว ขอพระคุณเจ้า
อานนท์โปรดยกโทษให้ดิฉันผู้ทำอย่างนี้ เพื่อให้สำรวมระวังต่อไป”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ช่างเถอะ น้องหญิง เธอเป็นคนเขลา คนหลง
ไม่ฉลาด จึงได้ล่วงเกินไปแล้ว เมื่อเธอผู้ทำอย่างนี้ เห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว
ทำคืนตามธรรม เรายกโทษให้เธอ น้องหญิง การที่บุคคลเห็นโทษแล้วทำคืนตาม
ธรรม สำรวมระวังต่อไปนี้เป็นความเจริญในอริยวินัย”
ภิกขุนีสูตรที่ ๙ จบ
เชิงอรรถ
A ครองอันตรวาสกถือบาตรและจีวร นี้มิใช่ว่าก่อนหน้านี้ พระอานนท์มิได้นุ่งสบง มิใช่ว่า พระอานนท์ ถือบาตรและจีวรไปโดยเปลือยกายส่วนบน ครองอันตรวาสก หมายถึงพระอานนท์ผลัดเปลี่ยนสบง หรือ ขยับสบงที่นุ่งอยู่ให้กระชับ ถือบาตรและจีวร หมายถึงถือบาตรด้วยมือ ถือจีวรด้วยกาย คือ ห่มจีวร อุ้มบาตรนั่นเอง (วิ.อ. ๑/๑๖/๑๘๐,ที.ม.อ. ๑๕๓/๑๔๓, ม.มู.อ. ๑/๖๓/๑๖๓, อุทาน.อ. ๖/๖๕)
B อาหาร ในที่นี้หมายถึงกวฬิงการาหาร (อาหารคือคำข้าว) ในปัจจุบัน (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕)
C อาหาร ในที่นี้หมายถึงอาหารคือกรรมในกาลก่อนหรือในอดีต (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕)
D ตัณหา ในที่นี้หมายถึงตัณหาปัจจุบัน ซึ่งเกิดขึ้นขณะนี้ ที่เกิดขึ้นแก่ผู้ให้ความอยากเกิดขึ้นในวิโมกข์อัน ยอดเยี่ยม (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕, องฺ.จตุกฺก.ฏีกา. ๒/๑๕๙/๔๒๒)
E ตัณหา ในที่นี้หมายถึงตัณหาที่เป็นมูลรากในวัฏฏะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๑๕๙/๓๘๕)
F เจโตวิมุตติ หมายถึงผลสมาธิ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๒/๘๔)
G ปัญญาวิมุตติ หมายถึงผลปัญญา (องฺ.ติก.อ. ๓๒/๑๒/๘๔)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.