21-076 พุทธกิจในกรุงกุสินารา
พระไตรปิฎก
๖. กุสินารสูตร
ว่าด้วยพุทธกิจในกรุงกุสินารา
{๗๖}[๗๖] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ระหว่างต้นรังทั้งคู่ ในสาลวันของ
เจ้ามัลละ ซึ่งเป็นทางเข้ากรุงกุสินารา ในสมัยเป็นที่ปรินิพพาน ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูล
รับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัยหรือเคลือบแคลงใน
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) เธอทั้งหลาย
จงถามเถิด อย่าได้มีความเดือดร้อนใจภายหลังว่า ‘พระศาสดาประทับอยู่ตรงหน้า
ของเราทั้งหลาย เราทั้งหลายยังไม่สามารถทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อหน้าได้”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ
แม้ครั้งที่ ๒ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า …
แม้ครั้งที่ ๓ พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ถ้าภิกษุแม้เพียงรูปเดียวพึงมีความสงสัย หรือเคลือบแคลง
ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา เธอทั้งหลายจงถามเถิด
อย่าได้มีความเดือดร้อนใจภายหลังว่า ‘พระศาสดาประทับอยู่ตรงหน้าของเราทั้งหลาย
เราทั้งหลายก็ยังไม่สามารถทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อหน้าได้”
แม้ครั้งที่ ๓ ภิกษุเหล่านั้นก็ยังพากันนิ่งอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
เป็นได้ที่เธอทั้งหลายไม่ถามเพราะความเคารพในพระศาสดา แม้เพื่อนจงบอกแก่
เพื่อนเถิด” เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ ภิกษุเหล่านั้นได้นิ่งเงียบ ลำดับนั้น
ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ ข้าพระองค์เลื่อมใส
อย่างนี้ว่า ‘ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุแม้แต่รูปเดียวไม่มีความสงสัยหรือเคลือบแคลงใน
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ เธอกล่าวเพราะความเลื่อมใส ในเรื่องนี้
ตถาคตเองก็มีความรู้เหมือนกันว่า ‘ในภิกษุสงฆ์นี้ ภิกษุแม้แต่รูปเดียวไม่มีความ
สงสัยหรือเคลือบแคลงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มรรค หรือในปฏิปทา’
อานนท์ ในจำนวนภิกษุ ๕๐๐ รูปนี้ ภิกษุผู้มีคุณธรรมชั้นต่ำสุด A เป็นโสดาบัน
ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิ B ในวันข้างหน้า”
กุสินารสูตรที่ ๖ จบ
เชิงอรรถ
A คำนี้พระพุทธองค์ตรัสหมายเอาพระอานนท์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๗๖/๓๖๐)
B สัมโพธิ ในที่นี้หมายถึงมรรคเบื้องสูง ๓ (คือ สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค) (สารตฺถ.ฏีกา ๑/๒๑/๕๕๙)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต