21-041 สมาธิภาวนา



พระไตรปิฎก


๑. สมาธิภาวนาสูตร
ว่าด้วยสมาธิภาวนา

{๔๑}[๔๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา A ๔ ประการนี้
สมาธิภาวนา ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
๒. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ
๓. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
๔. สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขใน ปัจจุบัน เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกามและอกุศลธรรมแล้ว บรรลุปฐมฌานที่มี
วิตก วิจาร ปีติ และสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป บรรลุ
ทุติยฌานมีความผ่องใสภายใน มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่
ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่ เพราะปีติจางคลายไป มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะสรรเสริญว่า ‘ผู้มีอุเบกขา มีสติ
อยู่เป็นสุข’ เพราะละสุขและทุกข์ได้ เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อนแล้ว บรรลุ
จตุตถฌานที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่ สมาธิภาวนานี้ที่
บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ B เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มนสิการถึงอาโลกสัญญา (ความกำหนดหมายในแสง
สว่าง) อธิษฐานทิวาสัญญา (ความกำหนดหมายว่ากลางวัน) ว่า กลางคืนเหมือน
กลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน มีใจสงัดไม่มีเครื่องร้อยรัด อบรมจิตให้สว่าง C อยู่
สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อได้ญาณทัสสนะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้รู้แจ้งเวทนาที่เกิดขึ้น รู้แจ้งเวทนาที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งเวทนา
ที่ดับไป รู้แจ้งสัญญาที่เกิดขึ้น … รู้แจ้งวิตกที่เกิดขึ้น รู้แจ้งวิตกที่ตั้งอยู่ รู้แจ้งวิตกที่
ดับไป สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อมเป็นไปเพื่อสติสัมปชัญญะ
สมาธิภาวนาที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ เป็นอย่างไร

คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีปกติเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปในอุปาทาน
ขันธ์ ๕ อยู่ว่า “รูปเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งรูปเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งรูปเป็น
อย่างนี้ เวทนาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งเวทนาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่งเวทนา
เป็นอย่างนี้ สัญญาเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสัญญาเป็นอย่างนี้ ความดับแห่ง
สัญญาเป็นอย่างนี้ สังขารเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารเป็นอย่างนี้ ความดับ
แห่งสังขารเป็นอย่างนี้ วิญญาณเป็นอย่างนี้ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้
ความดับแห่งวิญญาณเป็นอย่างนี้” สมาธิภาวนานี้ที่บุคคลเจริญทำให้มากแล้วย่อม
เป็นไปเพื่อความสิ้นอาสวะ
ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา ๔ ประการนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ก็คำนี้เรากล่าวไว้ในปุณณกปัญหาในปารายนวรรค หมายถึง
ข้อความนี้ว่า
บุคคลใดรู้สิ่งสูงต่ำ D ในโลก E
ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว F ในโลกไหน ๆ G
เรากล่าวว่า บุคคลเป็นผู้สงบ H
ไม่มีควันคือความโกรธ
ไม่มีกิเลสกระทบจิต ไม่มีความหวัง
ข้ามพ้นชาติและชราได้แล้ว
สมาธิภาวนาสูตรที่ ๑ จบ
เชิงอรรถ
A ดู ที.ปา. ๑๑/๓๐๗/๑๙๘-๑๙๙
B ญาณทัสสนะ ในที่นี้หมายถึงทิพพจักขุญาณ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๑/๓๔๒)
C อบรมจิตให้สว่าง ในที่นี้หมายถึงทำจิตให้สว่างด้วยทิพพจักขุญาณ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๑/๓๔๒)
D สิ่งสูงต่ำ ในที่นี้หมายถึงอัตภาพของผู้อื่นและอัตภาพของตน (องฺ.จตุกฺก.ฏีกา ๒/๔๑/๓๗๗)
E โลก ในที่นี้หมายถึงสัตว์โลก (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๑/๓๔๓)
F ไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว หมายถึงไม่มีกิเลสเป็นเหตุให้หวั่นไหว ๗ ประการ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ กิเลส และทุจริต (องฺ.ติก.อ. ๒/๓๒/๑๑๔)
G ในโลกไหน ๆ ในที่นี้หมายถึงขันธ์ อายตนะ ธาตุ และอารมณ์ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๑/๓๔๓)
H เป็นผู้สงบ หมายถึงสงบกิเลสที่เป็นข้าศึก (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๑/๓๔๓)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.