21-040 ปัญหาของอุทายิพราหมณ์



พระไตรปิฎก


๑๐. อุทายิสูตร
ว่าด้วยปัญหาของอุทายิพราหมณ์

{๔๐}[๔๐] ครั้งนั้นแล อุทายิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้
สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “แม้ท่านพระโคดมก็ทรงสรรเสริญยัญของพวก
ข้าพระองค์หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ เราไม่ได้สรรเสริญยัญไปเสียทุกอย่าง
และเราก็ไม่ได้ติเตียนยัญไปเสียทั้งหมด เราไม่สรรเสริญยัญ A ที่มีกิริยา คือ ยัญที่มี
การฆ่าโค ๑ ยัญที่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑ ยัญที่ทำให้สัตว์
ต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อน ๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระอรหันต์หรือท่านผู้
บรรลุอรหัตตมรรคย่อมไม่เกี่ยวข้องกับยัญที่มีกิริยาอย่างนั้น
พราหมณ์ แต่เราสรรเสริญยัญที่ไม่มีกิริยา คือ นิจทานและอนุกูลยัญ คือ
ยัญที่ไม่มีการฆ่าโค ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าแพะ แกะ ๑ ยัญที่ไม่มีการฆ่าไก่ สุกร ๑
ยัญที่ไม่ทำให้สัตว์ต่าง ๆ ได้รับความเดือดร้อน ๑ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพระ
อรหันต์หรือท่านผู้บรรลุอรหัตตมรรคย่อมเกี่ยวข้องกับยัญที่ไม่มีกิริยาอย่างนี้”
ท่านผู้ประพฤติพรหมจรรย์ สำรวมระวัง
ย่อมเกี่ยวข้องกับยัญ B ที่จัดเตรียมไว้อย่างดี
ไม่มีกิริยา เหมาะสมกับเวลาเช่นนั้น
ท่านผู้รู้ผู้ฉลาดในบุญ
มีกิเลสเปรียบเหมือนหลังคาอันเปิดแล้ว
ล่วงเลยตระกูลและคติ C ในโลก
ย่อมสรรเสริญยัญชนิดนี้
ถ้าบุคคลทำการบูชาในปกติทาน
หรือในมตกทานตามสมควร
มีจิตเลื่อมใส บูชาในนาที่ดี
คือท่านพรหมจารีทั้งหลาย
ยัญที่บุคคลบูชาดีแล้ว
เซ่นสรวงดีแล้ว สมบูรณ์ดี
ทำไว้ในทักขิไณยบุคคล
ยัญย่อมแพร่หลาย และเทวดาก็เลื่อมใส
บัณฑิตผู้เป็นนักปราชญ์ มีศรัทธา D
มีใจพ้นแล้ว E บูชายัญอย่างนี้แล้ว
ย่อมเข้าถึงโลกที่ปราศจากความเบียดเบียน เป็นสุข
อุทายิสูตรที่ ๑๐ จบ
จักกวรรคที่ ๔ จบ
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. จักกสูตร
๒. สังคหสูตร
๓. สีหสูตร
๔. อัคคัปปสาทสูตร
๕. วัสสการสูตร
๖. โทณสูตร
๗. อปริหานิยสูตร
๘. ปฏิลีนสูตร
๙. อุชชยสูตร
๑๐. อุทายิสูตร
เชิงอรรถ
A ยัญในที่นี้หมายถึงมหายัญ ๕ ประการของพราหมณ์(ดูเชิงอรรถที่ ๓ ข้อ ๓๙ (อุชชยสูตร) หน้า ๖๕ ในเล่มนี้)
B ยัญ ในที่นี้หมายถึงเครื่องไทยธรรม เป็นยัญที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๐/๓๔๑)
C ตระกูลและคติ ในที่นี้หมายถึงวัฏฏะ ๓ คือ กิเลสวัฏฏะ, กัมมวัฏฏะ, วิปากวัฏฏะ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๐/๓๔๑)
D ศรัทธา หมายถึงมีศรัทธาเชื่อมั่นต่อพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๐/๓๔๒)
E มีใจพ้นแล้ว หมายถึงพ้นจากความตระหนี่ในลาภเป็นต้น หรือมีใจสละแล้ว (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๔๐/๓๔๒, องฺ.ฉกฺก.อ. ๓/๓๗/๑๑๘)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.