21-030 ปริพาชก
พระไตรปิฎก
๑๐. ปริพพาชกสูตร
ว่าด้วยปริพาชก
{๓๐}[๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ภูเขาคิชฌกูฏ เขตกรุง
ราชคฤห์ สมัยนั้นแล ปริพาชกหลายท่านที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน อาศัยอยู่ใน
ปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสิปปินี คือ อันนภารปริพาชก วธรปริพาชก สกุลุทายี-
ปริพาชก และปริพาชกท่านอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกัน ครั้นในเวลาเย็น
พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้น A เข้าไปยังปริพาชการาม ริมฝั่งแม่น้ำสิปปินี
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ได้ตรัสกับปริพาชกเหล่านั้นดังนี้ว่า
“ปริพาชกทั้งหลาย ธรรมบท ๔ ประการนี้ที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กัน
ว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง
จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
ธรรมบท ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. อนภิชฌาเป็นธรรมบทที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็น
อริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูก
ลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
๒. อพยาบาทเป็นธรรมบท ฯลฯ
๓. สัมมาสติเป็นธรรมบท ฯลฯ
๔. สัมมาสมาธิเป็นธรรมบทที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน รู้กันว่าเป็น
อริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูก
ลบล้าง จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
ปริพาชกทั้งหลาย ธรรมบท ๔ ประการนี้แลที่รู้กันว่าล้ำเลิศ รู้กันมานาน
รู้กันว่าเป็นอริยวงศ์ เป็นของเก่า ไม่ถูกลบล้างแล้ว ไม่เคยถูกลบล้าง ไม่ถูกลบล้าง
จักไม่ถูกลบล้าง ไม่ถูกสมณพราหมณ์ผู้รู้คัดค้าน
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืน B อนภิชฌาที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้มีอภิชฌา มีราคะแรงกล้าในกามทั้งหลายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’
ในเรื่องนั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือ
พราหมณ์นั้นจงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่
บุคคลนั้นจักบอกคืนอนภิชฌาที่เป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีอภิชฌา มีราคะ
แรงกล้าในกามทั้งหลายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืนอพยาบาทที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งจิตชั่วร้ายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’
ในเรื่องนั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือ
พราหมณ์นั้นจงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่
บุคคลนั้นจักบอกคืนอพยาบาทที่เป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีจิตพยาบาท
มีความดำริแห่งจิตชั่วร้ายว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืนสัมมาสติที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้หลงลืมสติ ไม่มีสัมปชัญญะว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’ ในเรื่อง
นั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์นั้น
จงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้นจัก
บอกคืนสัมมาสติที่เป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ
ว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ‘เราจักบอกคืนสัมมาสมาธิที่เป็นธรรมบทนั้นแล้ว
บัญญัติบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่งว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์’ ในเรื่อง
นั้นเราพึงกล่าวกับบุคคลนั้นอย่างนี้ว่า ‘ผู้ที่ถูกบัญญัติว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
นั้นจงมา จงกล่าว จงพูด เราจักดูอานุภาพของเขา’ เป็นไปไม่ได้เลยที่บุคคลนั้น
จักบอกคืนสัมมาสมาธิที่จัดเป็นธรรมบทแล้ว บัญญัติบุคคลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิต
กวัดแกว่งว่าเป็นสมณะหรือพราหมณ์
บุคคลใดสำคัญธรรมบท ๔ ประการนี้ว่าควรติเตียน ควรคัดค้าน บุคคลนั้น
ย่อมได้รับฐานะ C ๔ ประการ พร้อมทั้งเหตุคล้อยตามวาทะไม่ชอบธรรม ที่น่าติเตียน
ในปัจจุบัน
ฐานะ ๔ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. ถ้าติเตียน คัดค้านอนภิชฌาที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้บูชา
สรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีอภิชฌา มีราคะแรงกล้าในกาม
ทั้งหลาย
๒. ถ้าติเตียน คัดค้านอพยาบาทที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้บูชา
สรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งจิต
ชั่วร้าย
๓. ถ้าติเตียน คัดค้านสัมมาสติที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้บูชา
สรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ
๔. ถ้าติเตียน คัดค้านสัมมาสมาธิที่จัดเป็นธรรมบท ก็ชื่อว่าเป็นผู้
บูชาสรรเสริญสมณะหรือพราหมณ์ผู้มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกวัดแกว่ง
บุคคลใดสำคัญธรรมบท ๔ ประการนี้ว่าควรติเตียน ควรคัดค้าน บุคคลนั้น
ย่อมได้รับฐานะ ๔ ประการพร้อมทั้งเหตุคล้อยตามวาทะไม่ชอบธรรม ที่น่าติเตียน
ในปัจจุบัน ปริพาชกชื่อวัสสะและภัญญะ ผู้อยู่ในอุกกลชนบท เป็นอเหตุกวาทะ D
อกิริยวาทะ E นัตถิกวาทะ F สำคัญธรรมบท ๔ ประการนี้ว่าไม่ควรติเตียน ไม่ควร
คัดค้าน ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะกลัวการนินทา การกระทบกระทั่ง และการ
กล่าวให้ร้าย”
บุคคลผู้ไม่พยาบาท
มีสติทุกเมื่อ มีจิตตั้งมั่นดีภายใน
ผู้ศึกษาในธรรมเป็นเครื่องกำจัดอภิชฌา
เราเรียกว่า ผู้ไม่ประมาท
ปริพพาชกสูตรที่ ๑๐ จบ
อุรุเวลวรรคที่ ๓ จบ
เชิงอรรถ
A ออกจากที่หลีกเร้น หมายถึงออกจากผลสมาบัติ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๕)
B บอกคืน ในที่นี้หมายถึงปฏิเสธ คัดค้าน ไม่ยกย่องนับถือ (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๕)
C ฐานะ ในที่นี้หมายถึงปัจจัย (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๕)
D อเหตุกวาทะ หมายถึงลัทธิที่ถือว่าไม่มีเหตุปัจจัย เพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๖)
E อกิริยวาทะ หมายถึงลัทธิที่ถือว่าการกระทำไม่ว่าจะดีหรือชั่วย่อมไม่มีผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๖)
F นัตถิกวาทะ หมายถึงลัทธิที่ถือว่าทานที่บุคคลให้แล้ว ไม่มีผล (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๓๐/๓๒๖)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต