20-177 บริษัท



พระไตรปิฎก


๔. ปริสาสูตร
ว่าด้วยบริษัท

{๕๓๕}[๙๖] ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ จำพวกนี้
บริษัท ๓ จำพวกไหนบ้าง คือ
๑. บริษัทที่มีหัวหน้ายอดเยี่ยม ๒. บริษัทที่แตกแยกกัน
๓. บริษัทที่สามัคคีกัน
บริษัทที่มีหัวหน้ายอดเยี่ยม เป็นอย่างไร
คือ บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุผู้เป็นเถระ ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน
หมดธุระในโอกกมนธรรม A เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยัง
ไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง หมู่คน
รุ่นหลังต่างพากันตามอย่างภิกษุผู้เถระเหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็ไม่มักมาก
ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อ
ถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำ
ให้แจ้ง ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า บริษัทที่มีหัวหน้ายอดเยี่ยม
บริษัทที่แตกแยกกัน เป็นอย่างไร
คือ บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุต่างบาดหมางกัน ทะเลาะวิวาทกัน
ใช้หอกคือปากทิ่มแทงกันอยู่ ภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า บริษัทที่แตกแยกกัน
บริษัทที่สามัคคีกัน เป็นอย่างไร
คือ บริษัทใดในธรรมวินัยนี้ มีพวกภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน
เป็นเหมือนน้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ ภิกษุทั้งหลาย
นี้เรียกว่า บริษัทที่สามัคคีกัน
ในสมัยใด พวกภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือน
น้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ ในสมัยนั้น พวกภิกษุ
ย่อมประสพบุญเป็นอันมาก ในสมัยนั้น พวกภิกษุอยู่กันเหมือนพรหม คืออยู่กัน
ด้วยมุทิตาเจโตวิมุตติ ผู้มีความบันเทิงใจย่อมเกิดความอิ่มใจ กายของผู้มีความอิ่ม
ใจย่อมสงบ ผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น
เปรียบเหมือนเมื่อฝนเม็ดใหญ่ตกลงบนยอดเขา น้ำนั้นไหลไปตามที่ลุ่ม ทำให้
ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยม ซอกเขา ลำธาร และห้วยเต็มเปี่ยมแล้วทำให้
หนองเต็ม หนองเต็มแล้วทำให้บึงเต็ม บึงเต็มแล้วทำให้แม่น้ำน้อยเต็ม แม่น้ำน้อย
เต็มแล้วทำให้แม่น้ำใหญ่เต็ม แม่น้ำใหญ่เต็มแล้วก็ทำให้มหาสมุทรเต็ม ฉันใด
ในสมัยใด พวกภิกษุพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือน
น้ำนมกับน้ำ มองกันด้วยนัยน์ตาที่เปี่ยมด้วยความรักอยู่ ในสมัยนั้น พวกภิกษุย่อม
ประสพบุญเป็นอันมาก ในสมัยนั้น พวกภิกษุอยู่กันเหมือนพรหม คือ อยู่กันด้วย
มุทิตาเจโตวิมุตติ ผู้มีความบันเทิงใจย่อมเกิดความอิ่มใจ กายของผู้มีความอิ่มใจย่อม
สงบ ผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ฉันนั้นเหมือนกัน
ภิกษุทั้งหลาย บริษัท ๓ จำพวกนี้แล
ปริสาสูตรที่ ๔ จบ
เชิงอรรถ
A โอกกมนธรรม หมายถึงนิวรณ์ ๕ (องฺ.ติก.อ. ๒/๙๖/๒๔๙)

บาลี



รออัพเดต

อรรถกถา


รออัพเดต

สนทนาธรรม

comments

Comments are closed.