20-157 การชักชวนให้ตั้งมั่นในฐานะ
พระไตรปิฎก
๕. นิเวสกสูตร
ว่าด้วยการชักชวนให้ตั้งมั่นในฐานะ
{๕๑๕}[๗๖] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกับท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า
อานนท์ เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็นมิตร
อำมาตย์ ญาติ สาโลหิต A ก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลายพึง
ชักชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในฐานะ ๓ ประการ
ฐานะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ
๑. พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
ว่า “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์
ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จ
ไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค”
๒. พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม
ว่า “พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัด
ด้วยตนเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน
อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน”
๓. พึงชักชวนให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ว่า
“พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติ
ถูกทาง ปฏิบัติสมควร ได้แก่ อริยบุคคล ๔ คู่ คือ ๘ บุคคล พระสงฆ์
สาวกของพระผู้มีพระภาคนี้ เป็นผู้ควรแก่ของที่เขานำมาถวาย ควรแก่
ของต้อนรับ ควรแก่ทักษิณา ควรแก่การทำอัญชลี เป็นนาบุญอันยอด
เยี่ยมของโลก”
มหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน) อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ(ธาตุไฟ) และ
วาโยธาตุ(ธาตุลม) อาจกลายเป็นอย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความ
เลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ไม่พึงแปรเป็นอย่างอื่นได้เลย ในเรื่องนั้น เป็น
ไปไม่ได้เลยที่จะแปรเป็นอย่างอื่น คือพระอริยสาวกนั้นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใส
อันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าจักถือกำเนิดในนรก สัตว์เดรัจฉาน หรือแดนเปรต
มหาภูต ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ และวาโยธาตุ อาจกลายเป็น
อย่างอื่นได้ แต่พระอริยสาวกผู้เพียบพร้อมด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระ
ธรรม ฯลฯ แต่พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์
ไม่พึงแปรเป็นอย่างอื่นได้เลย ในเรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้เลยที่จะแปรเป็นอย่างอื่น คือ
พระอริยสาวกผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์จักถือกำเนิดในนรก
สัตว์เดรัจฉาน หรือแดนเปรต
อานนท์ เธอทั้งหลายพึงอนุเคราะห์คนเหล่าใด และคนเหล่าใดจะเป็นมิตร
อำมาตย์ ญาติ สาโลหิตก็ตาม ให้ความสำคัญคำที่ควรรับฟัง เธอทั้งหลายพึงชัก
ชวนคนเหล่านั้นให้ตั้งมั่นให้ดำรงอยู่ในฐานะ ๓ ประการนี้แล
นิเวสกสูตรที่ ๕ จบ
เชิงอรรถ
A สาโลหิต หมายถึงผู้ร่วมสายเลือดเดียวกัน ได้แก่ พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว เป็นต้น (องฺ.ติก.อ.
๒/๗๖/๒๒๗) หรือญาติฝ่ายมารดา (องฺ.ติก.ฏีกา ๒/๗๖/๒๒๙)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต