20-141 พราหมณ์ชื่อว่า ชานุสโสณิ
พระไตรปิฎก
๙. ชานุสโสณิสูตร
ว่าด้วยพราหมณ์ชื่อว่าชานุสโสณิ
{๔๙๙}[๖๐] ครั้งนั้น ชานุสโสณิพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ฯลฯ ชานุสโสณิพราหมณ์นั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ใดมียัญ A มีสิ่งที่พึงให้ด้วยศรัทธา B มีอาหารที่พึงให้
แก่บุคคลอื่น หรือมีไทยธรรม ผู้นั้นควรให้ทานในพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓”
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า “พราหมณ์ พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์
ว่าเป็นผู้ได้วิชชา ๓ เป็นอย่างไร”
ชานุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์ในโลกนี้เป็น
ผู้มีชาติกำเนิดดีทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา ถือปฏิสนธิบริสุทธิ์ดีตลอดเจ็ดชั่ว
บรรพบุรุษ ไม่มีใครจะคัดค้านตำหนิโดยการอ้างถึงชาติตระกูลได้ เป็นผู้คงแก่เรียน
ทรงจำมนตร์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์
และประวัติศาสตร์ เข้าใจตัวบทและไวยากรณ์ ชำนาญโลกายตศาสตร์และลักษณะ
มหาบุรุษ ข้าแต่ท่านพระโคดม พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์ว่าเป็นผู้ได้วิชชา
๓ เป็นอย่างนี้แล”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์ทั้งหลายบัญญัติพราหมณ์ว่าเป็นผู้ได้
วิชชา ๓ เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง”
ชานุสโสณิพราหมณ์ทูลถามว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ได้วิชชา ๓ ใน
อริยวินัยเป็นอย่างไร ขอประทานวโรกาส ขอท่านพระโคดมแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า
อย่างที่ผู้ได้วิชชา ๓ มีในอริยวินัย”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ชานุสโสณิพราหมณ์ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่อง
นี้ว่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌานที่…อยู่
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน๑ ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อม
จิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ ฯลฯ๓ เธอได้บรรลุวิชชา
ที่ ๑ นี้ ความมืดมิดคืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ
เปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้า
หมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไป
เพื่อจุตูปปาตญาณ เห็นหมู่สัตว์ ฯลฯ ด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ ฯลฯ
เธอได้บรรลุวิชชาที่ ๒ นี้ ความมืดมิดคืออวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชา
ได้เกิดขึ้นแก่เธอเปรียบเหมือนแสงสว่างเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร
อุทิศกายและใจ
เมื่อจิตเป็นสมาธิบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความ
เศร้าหมอง อ่อน เหมาะแก่การใช้งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตไป
เพื่ออาสวักขยญาณ รู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินี-
ปฏิปทา” “นี้อาสวะ ฯลฯ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา” เมื่อเธอรู้เห็นอยู่อย่างนี้ จิต
ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า
หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว
ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป” เธอได้บรรลุวิชชาที่ ๓ นี้ ความมืดมิดคือ
อวิชชา เธอกำจัดได้แล้ว แสงสว่างคือวิชชาได้เกิดขึ้นแก่เธอ เปรียบเหมือนแสงสว่าง
เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียร อุทิศกายและใจ
บุคคลใดสมบูรณ์ด้วยศีลและวัตร
อุทิศกายและใจ มีจิตตั้งมั่น
บุคคลใดมีจิตที่ชำนาญ แน่วแน่ ตั้งมั่นดี
บุคคลใดรู้แจ้งปุพเพนิวาสญาณ เห็นทั้งสวรรค์
และอบาย บรรลุธรรมเป็นที่สิ้นความเกิด เป็นมุนี
อยู่จบพรหมจรรย์เพราะรู้ยิ่ง เป็นพราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓
โดยวิชชา ๓ นี้ เราเรียกบุคคลนั้นว่าได้วิชชา ๓
ไม่เรียกบุคคลอื่นว่าได้วิชชา ๓ ตามที่ผู้อื่นเรียกกัน
พราหมณ์ผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัย เป็นอย่างนี้แล
ชานุสโสณิพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าแต่ท่านพระโคดม ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวก
พราหมณ์เป็นอย่างหนึ่ง ส่วนผู้ได้วิชชา ๓ ในอริยวินัยเป็นอีกอย่างหนึ่ง ข้าแต่ท่าน
พระโคดม ก็ผู้ได้วิชชา ๓ ของพวกพราหมณ์มีค่าไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ของผู้ได้วิชชา ๓
ในอริยวินัยนี้
ข้าแต่ท่านพระโคดม ภาษิตของท่านพระโคดมชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ฯลฯ ขอท่าน
พระโคดมจงทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจน
ตลอดชีวิต
ชานุสโสณิสูตรที่ ๙ จบ
เชิงอรรถ
A ยัญ ในที่นี้หมายถึงสิ่งที่ควรบูชา เป็นชื่อของไทยธรรม (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๐/๑๖๗)
B สิ่งที่พึงให้ด้วยศรัทธา ในที่นี้หมายถึงมตกภัต(ภัตเพื่อผู้ตาย) (องฺ.ติก.อ. ๒/๖๐/๑๖๗)
C ดูเชิงอรรถที่ ๑ ข้อ ๕๙ ติกนิบาต หน้า ๒๖๒ ในเล่มนี้
D ดูเนื้อความเต็มข้อ ๕๙ ติกนิบาต หน้า ๒๒๖ ในเล่มนี้
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต