20-092 สถานที่อันกษัตริย์และภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
พระไตรปิฎก
๒. สารณียสูตร
ว่าด้วยสถานที่อันกษัตริย์และภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
{๔๕๑}[๑๒] ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้เป็นสถานที่อันกษัตราธิราชผู้ได้รับ
มูรธาภิเษก A แล้วพึงระลึกถึงตลอดพระชนมชีพ
สถานที่ ๓ แห่ง อะไรบ้าง คือ
๑. กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ประสูติ ณ สถานที่ใด สถาน
ที่นี้เป็นสถานที่แห่งที่ ๑ อันกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว
พึงระลึกถึงตลอดพระชนมชีพ
๒. กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ณ สถานที่ใด สถานที่นี้
เป็นสถานที่แห่งที่ ๒ อันกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วพึง
ระลึกถึงตลอดพระชนมชีพ
๓. กษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้ว ทรงชนะสงครามครั้งใหญ่
พิชิตชัยสงคราม ครอบครองสนามรบใด สนามรบนี้เป็นสถานที่
แห่งที่ ๓ อันกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วพึงระลึกถึงตลอด
พระชนมชีพ
สถานที่ ๓ แห่งนี้แลอันกษัตราธิราชผู้ได้รับมูรธาภิเษกแล้วพึงระลึกถึงตลอด
พระชนมชีพ
อย่างนั้นเหมือนกันแล สถานที่ ๓ แห่งนี้อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
สถานที่ ๓ แห่ง อะไรบ้าง คือ
๑. ภิกษุปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือน บวช
เป็นบรรพชิต ณ สถานที่ใด สถานที่นี้เป็นสถานที่แห่งที่ ๑ อัน
ภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
๒. ภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า “นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย(เหตุเกิด
ทุกข์) นี้ทุกขนิโรธ(ความดับทุกข์) นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา(ข้อ
ปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)” ณ สถานที่ใด สถานที่นี้เป็นสถาน
ที่แห่งที่ ๒ อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
๓. ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ B ปัญญาวิมุตติ C อันไม่มีอาสวะเพราะ
อาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน ณ สถานที่
ใด สถานที่นี้เป็นสถานที่แห่งที่ ๓ อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
ภิกษุทั้งหลาย สถานที่ ๓ แห่งนี้แล อันภิกษุพึงระลึกถึงตลอดชีวิต
สารณียสูตรที่ ๒ จบ
เชิงอรรถ
A มูรธาภิเษก หมายถึงน้ำรดพระเศียรในงานราชาภิเษกหรือพระราชพิธีอื่น ๆ
B เจโตวิมุตติ หมายถึงผลสมาธิ (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๒/๘๔)
C ปัญญาวิมุตติ หมายถึงผลปัญญา (องฺ.ติก.อ. ๒/๑๒/๘๔)
บาลี
รออัพเดต
อรรถกถา
รออัพเดต